วันที่ 10 มิ.ย. 66 วานนี้ เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ครั้งที่ 2/2566 โดยมี คณะกรรมการอำนวยการฯ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในวันนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ซึ่งได้มีการหารือและเสนอแนะแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่จะทำให้การถ่ายโอนหน้าที่ในการดูแลด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั้งการป้องกันและการรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนที่จะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ เข้ารับบริการได้อย่างครอบคลุมเท่าเทียม ยังผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“การผลักดันให้การขับเคลื่อนเรื่องถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในการที่จะได้รับบริการด้านสาธารณสุขทุกด้านที่ส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอนามัยของคนทั่วไปอย่างเดียว แต่เรื่องสำคัญที่เราจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มแรก คือ ภาวะคลอดก่อนกำหนดของเด็กทารกที่เกิดใหม่ที่ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของร่างกาย ตลอดจนเรื่องการมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ปัญหาการเจ็บป่วย และโรคต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโต จึงจำเป็นที่เด็กเล็กจะต้องได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย สมอง จิตใจและอารมณ์ ซึ่งเรายังขาดการบริการ การดูแล ขาดการปลุกเร้าให้ผู้ปกครอง ให้คุณพ่อ คุณแม่ของเด็กเหล่านี้ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องวัคซีนป้องกันโรค เรื่องการเลี้ยงดู การได้รับสารอาหารที่เหมาะสม และความรู้เรื่องสาธารณสุขมูลฐานที่จะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนได้อย่างใกล้ชิด” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า “ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายตามแนวทาง Partnership ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 17 เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การดำเนินงานครั้งนี้สำเร็จได้” ด้วยการร่วมกันผลักดันทำสิ่งที่ดี ทำให้ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมบ้านเมืองที่ดีอย่างยั่งยืน เช่น การทำให้ทุกคนมีโอกาสได้รับอาหารเช้าที่ดี มีสารอาหารครบทุกหมู่ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ทำให้มีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน รวมถึงโครงการ “1 อปท. 1 สวนสมุนไพร” เพื่อจะได้มียาสมุนไพรในการรักษาในพื้นที่ รพ.สต. การผลักดันบทบาทแพทย์ประจำตำบล การส่งเสริมบุคลากรแพทย์แผนไทยที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น การคัดเลือกอาสาสมัครที่มีความโดดเด่นที่จะเป็นเป็นผู้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านสาธารณสุขมาอบรมเพื่อไปดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิดและทันท่วงที รวมไปถึงด้านกายภาพบำบัด ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนก็ได้มี MOU กับโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เพื่อพัฒนาทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด พี่น้องประชาชนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ดังที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” อันเป็นความมุ่งมั่น (Commitment) ที่พวกเราต้องการให้เกิดการ Change for Good ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง 65 ล้านคน
Leave a Reply