“กายติดคุก ใจติดธรรม” นักศึกษาหลักสูตร บสส. รุ่น 1 เรียนรู้สิทธิมนุษยชนทัณฑสถานชายหญิงภาคตะวันออก

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 สถาบันสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้นำนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารด้านสิทธิมนุษยชนระดับสูง(บสส.) รุ่น 1 เข้าเรือนจำกลาง และทัณฑสถานหญิง จังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษาและเรียนรู้นอกห้องเรียน เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังในเรือนจำ อันจะส่งผลต่อมุมมอง และการจัดวางนโยบาย พร้อมแนวปฏิบัติของหน่วยงานในภาครัฐ และเอกชนเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน

ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลา หรือ The Nelson Mandela Rules ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้รับรองไว้ในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ทั้ง 9 ประเด็น เช่น การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบาง การบริการทางการแพทย์ ข้อห้าม วินัย และบทลงโทษ การสืบสวนการเสียชีวิต และการทรมานระหว่างคุมขัง การเข้าถึงตัวแทนทางกฏหมาย และร้องเรียนและการสืบสวน เป็นต้น เป็นกรอบการทำงานของเรือนจำ และทัณฑสถานหญิง จังหวัดชลบุรี ที่เจ้าหน้าที่ให้การใส่ใจและเป็นหลักปฏิบัติในการทำงาน

นายนักรบ นาคพรหม ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดชลบุรี ได้ย้ำว่านักศึกษา บสส. รุ่น 1  ทั้งผู้บริหารเรือนจำ และฝ่ายปฏิบัติการ ตระหนักรู้ถึงความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้ต้องขัง ทั้งการปฏิบัติให้เหมาะสมกับกลุ่มคนที่มีเพศภาพที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่ม LGBT+ การไม่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความเห็นทางศาสนาที่แตกต่าง การแต่งตั้งอนุศาสนาจารย์ในเรือนจำเพื่อนำปฏิบัติศาสนกิจ การจัดหาอุปกรณ์ตรวจค้นร่างกายที่ไม่ก่อให้เกิดความละอาย และไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นอกจากนี้ยังมีการให้การบริการทางการแพทย์ด้วยการดูแลรักษาผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากล รวมถึงการร่วมมือกับผู้พิพากษาให้ความรู้ประเด็นข้อกฏหมายใหม่ๆ เช่น ประเด็นยาเสพติด และการอภัยโทษ  เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ต่อการรักษาสิทธิของตนเอง

ขณะเดียวกัน การดูแลเอาใจใส่ด้านปัจจัย 4 ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต รวมถึงการเสริมศักยภาพด้านอาชีพแก่ผู้ต้องขังตามความถนัด เช่น การเสริมทักษะภาษาอังกฤษ การเสริมทักษะด้านเทคโลโลยี ทั้งการเรียนรู้โปรแกรมต่างๆ การเขียนโปรแกรม การซ่อมคอมพิวเตอร์ การออกแบบเว็บไซต์ รวมถึงการฝึกทักษะให้ชาวไทยและต่างประเทศเป็นจิตรกรวาดภาพ เพื่อนำออกไปจัดจำหน่ายแก่ผู้ที่ชื่นชอบศิลปะในราคาที่เหมาะสม

แนวทางดังกล่าวนั้น ถือเป็นการดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้ว สามารถนำวิชาความรู้ และทักษะการทำงานออกไปดำเนินชีวิตเลี้ยงชีพเอาตัวรอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี สอดรับกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ว่า การให้โอกาสแก่ผู้ต้องขัง เป็นการคืนคนดีสู่สังคม แนวทางนี้  ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  จึงได้นำไปขยายเป็นแนวนโยบายสู่การปฏิบัติเกี่ยวกับ Beyond Prison  การมองให้เกินขอบเขตเพียงการใช้ชีวิตในเรือนจำ ออกไปสู่การให้โอกาสการใช้ชีวิตที่อยู่นอกเรือนจำด้วยเช่นกัน การพัฒนาเจตคติ พฤติกรรม รวมถึงอาชีพ จึงมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิต ทั้งใน และนอกเรือนจำ

ด้วยเหตุนี้โครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับการออกแบบและพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ต้องขังที่พร้อมจะออกไปใช้ชีวิตนอกห้องขัง เรือนจำ และทัณฑสถานต่างๆ แม้กระทั่งเรือนจำกลางจังหวัดชลบุรี จึงได้จัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการฝึกฝน ทั้งความรู้ เจตคติ และทักษะในการลงมือพัฒนาโคกหนองนา โดยมีผู้ต้องขังได้ลงพื้นที่ทำโคกหนองนาก่อนพ้นโทษออกไปใช้ชีวิตนอกห้องขัง

แนวทางทั้งหมด จึงเป็นการให้โอกาส เพื่อจะได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ต่อการได้ชีวิตใหม่ และให้บางคนได้ออกไปเปลี่ยนชีวิตทำสิ่งใหม่ๆ และไม่กระทำผิดซ้ำ เป็นการคืนคนดีสู่ชุมชน และสังคม ถึงแม้จะไม่สามารถการันตีการทำผิดซ้ำได้ทั้งหมดทุกคน แต่ก็เห็นความเพียรพยายามของภาคส่วนต่างๆ ที่เพียรพยายามจะหาช่องทางใหม่ๆ ที่เหมาะกับวิถีแต่ละคน โดยการทุ่มสรรพกำลังออกแบบกิจกรรมและโครงการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และชีวิตให้พร้อมที่ก้าวสู่พลังของคุณงามความดี เพื่อชุมชนและสังคมที่ดีงามต่อไป

Leave a Reply