“รวมใจชาวปักษ์ใต้ ..เทิดไท้พระองค์หญิง”

ปลัด มท. พร้อมด้วยนายกแม่บ้าน มท. เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ภาคใต้ ชื่นชมมีผลงานส่งเข้าประกวดมากถึง 1,196 ผลงาน เน้นย้ำ ทุกภาคีเครือข่ายต้องช่วยกันส่งเสริมการใช้ผ้าไทย สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

วันนี้ (2 ก.ย. 66) เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน จุดดำเนินการที่ 3 ภาคใต้ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านกรมการพัฒนาชุมชน นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางดาเรศ จิตรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา นางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นาวาตรีหญิง โนสมา หลีเส็น ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร พร้อมด้วยนางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหารจังหวัดสงขลา คณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ ดร.นวัตกร อุมาสิน อาจารย์หลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่างทอผ้า ผู้ประกอบการ ผู้สมัครเข้าประกวด ร่วมในพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องในโอกาสทรงเสด็จไปเยี่ยมราษฎรจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นลายผ้าที่พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้ แล้วนำมาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนคนไทยทุกคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์ทรงแสดงถึงน้ำพระทัยที่รักและคิดถึงชาวปักษ์ใต้ เพราะลายผ้าที่พระราชทานนั้น เป็นประเภทผ้าบาติก จำนวน 5 ลาย คือ ลายปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ลายท้องทะเลไทย ลายป่าแดนใต้ ลายดอกรักราชกัญญา และลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์ ที่แสดงถึงภูมิปัญญางานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนใต้ ซึ่งเป็นพระประสงค์ที่ทรงอยากกระตุ้นขับเคลื่อนให้คนใต้ช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ผ้าไทยหรือผ้าบาติก รวมถึงผ้ายก ผ้ามัดหมี่ และผ้าไทยลายต่าง ๆ ตลอดจนนำลายเหล่านี้ไปประยุกต์ต่อยอดในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ ถ้วยชามเซรามิก ซึ่งพระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายให้กับชาวภาคใต้อย่างยิ่งตลอดมา เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาผ้าไทยของภาคใต้หายไปจากประเทศไทย เพื่อทำให้คนภาคใต้สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ทำให้ประชาชนทุกคนพึ่งพาตนเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“การอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทย จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ต้องมี “ผู้นำ” ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และข้าราชการทุกคน ทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางในการผลักดันส่งเสริมให้สวมใส่ผ้าไทย เป็นสะพานเชื่อมนำเอาสิ่งดีที่ได้รับพระราชทานจากพระองค์ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านคณะทำงาน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ไปสู่ประชาชนอย่างยั่งยืน ด้วยการมีจิตใจที่รุกรบ ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนตามหน้าที่ของชาวมหาดไทยตลอดระยะเวลา 131 ปีของการสถาปนากระทรวง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นับเป็นความโชคดีของคนไทยที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงช่วยให้พวกเราขับเคลื่อนภารกิจในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน ให้กับประชาชน โดยพระองค์ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นแม่เหล็ก เป็นต้นแบบคอยกระตุ้นผลักดันทำให้พวกเราทำงานเข้าถึงพี่น้องประชาชน ด้วยการทรงระดมสรรพกำลังมาช่วยกันพัฒนางานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยผ่านคณะผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยใส่ให้สนุกซึ่งเป็นผู้มีความรู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นอกจากทุกคนจะมีแรงปรารถนา (Passion) แล้ว ยังต้องมีองค์ความรู้ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทุกคนจะต้องช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ

“พระองค์ทรงเน้นย้ำเสมอว่า ทุกลมหายใจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงอยากช่วยเหลือชาวบ้าน ด้วยทรงเห็นว่า งานหัตถศิลป์หัตถกรรมเป็นภูมิปัญญาอยู่ใน DNA คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในถิ่นที่ชนบท ซึ่งสามารถช่วยชีวิตเกษตรกรไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทอผ้าอีกทางหนึ่งด้วย จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยทรงคิดค้นออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” พระราชทานให้กับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้นำไปขับเคลื่อนต่อยอดภูมิปัญญาไทย อีกทั้งยังให้แนวคิดกับผู้ประกอบการผ้าไทยในการนำลายผ้าไปประยุกต์ จนเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ของผ้าไทย ที่พวกเราช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการสวมใส่ผ้าไทย ตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการมีลวดลายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ ยังเน้นย้ำไปถึงเรื่องการใช้สีที่มีความเหมาะสมกับแฟชั่นและฤดูกาล เพื่อเพิ่มความหลากหลาย เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัย เป็นที่มาของหนังสือเทรนด์ผ้าไทย Thai Textiles Trend Book อีกทั้งการประยุกต์ใช้สี Pantone หรือ Earthtone ที่เป็นองค์ความรู้ในด้านเฉดสีต่าง ๆ ทั้งโทนเดียวกันหรือตัดกัน เพื่อสร้างความโดดเด่นและเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยมากยิ่งขึ้น ตัดเย็บผ้าให้มีรูปทรงที่เป็นความต้องการของตลาด เหมาะสมกับการสวมใส่ในทุกโอกาส และทุกเพศ ทุกวัย จึงเป็นที่มาของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” “นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า พวกเราทุกคนจึงต้องช่วยกันผลักดันเอาองค์ความรู้ที่พระองค์ท่านพระราชทานให้ไปถ่ายทอดสู่พี่น้องประชาชน รวมถึงการช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมงานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทย ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนควบคู่กับการรณรงค์ให้กลุ่มทอผ้าช่วยกันผลิตผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ตามพระดำริ Sustainable Fashion ไปสู่การคำนวณมาตรวัด metrology คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในกระบวนการผลิตผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะประทับติดกับผลิตภัณฑ์ สามารถรับรองการคิดคาร์บอนเครดิต จากการลดก๊าซเสียที่จะส่งผลกับชั้นบรรยากาศของโลก ดังนั้นจึงขอให้พวกเราช่วยกันนำสิ่งที่ดีไปถ่ายทอดให้กับพี่น้องประชาชน ตามแนวทางที่พระองค์ทรงเน้นย้ำ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือพี่น้องประชาชน รวมถึงทำให้หมู่บ้านทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่เป็นผู้นำในการทำให้ทุกชุมชนทุกหมู่บ้าน และทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยเกิดความยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้ขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างมุ่งมั่นตั้งใจจริง และทำสิ่งที่สำคัญของข้าราชการมหาดไทยด้วยจิตอาสา และขอให้ได้ขยับขยายสิ่งที่ดีเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างยิ่งต่อไปในอนาคต ด้วยการทำงาน “แบบรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” และเป็นผู้นำเชิญชวนให้คนในชุมชนมาร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย ใช้ผลิตภัณฑ์ไทย และใช้โอกาสที่ดีในชีวิต และขอชื่นชมพี่น้องชาวภาคใต้ที่ส่งผลงานผ้าและหัตถกรรมเข้าประกวดเป็นจำนวนมากถึง 1,196 ผืน/ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้า 1,048 ผืน และงานหัตถกรรม 148 ชิ้น

ดร.วันดี กุญชรญาคง จุลเจริญกล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงทำให้มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผ้าไทยกลับมามีชีวิตชีวา ฟื้นคืนกลับมาสร้างชีวิตให้กับประชาชนคนไทย ซึ่งในวันนี้เป็นการประกวดของภาคใต้ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมาก จึงขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวปักษ์ใต้ ในการเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านการขับเคลื่อนงานหัถกรรมไทยต่อไป

ด้านนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวว่า ในปีนี้ 14 จังหวัดภาคใต้มีผ้าที่ผ่านเข้ารอบถัดไป จำนวน 145 ผืน โดยจังหวัดที่ส่งผ้าเข้าประกวดจำนวนชิ้นมากที่สุด คือ จังหวัดพัทลุง และมีผ้าที่ผ่านเข้ารอบมากที่สุด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ดร.ศรินดา จามรมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของผ้าไทยอย่างก้าวกระโดด ได้เห็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ พัฒนาฝีมือและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความหลากหลายและมีสีสันสอดคล้องกับ Concept ของโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คือ การสร้างความสุขในองค์รวม ตั้งแต่ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนตลอดจนถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจ จึงขอฝากผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้าทุกคนช่วยกันพัฒนาต่อไป

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ /2566
วันที่ 2 ก.ย. 2566

Leave a Reply