วันที่ 12 ก.ย. 66 วานนี้ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร กลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกของ “องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ” หรือ อปพส. พร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่ง นำโดย นายประพันธ์ กิตติฤดีกุล ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง รัฐบาล โดยมี ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล และ ดร.นิยม เวชกามา ตัวแทนพรรคเพื่อไทยรับมอบหนังสือ เพื่อให้ตรวจสอบความชอบธรรมการค่าหนังสือรับรองฮาลาล ของสำนักจุฬาราชมนตรี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พร้อมกับตรวจสอบเงินที่รับนำไปใช้ทำอะไรบ้าง
ดร.เพชรวรรต เพชรวรรต เปิดเผยหลังรับมอบหนังสือแล้วว่า จะนำหนังสือนี้ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบว่า สำนักจุฬาราชมนตรี มีสิทธิเก็บเงินเพื่อรับรองฮาลาล ตามกฎหมายหรือไม่ ตามหนังสือร้องเรียน ซึ่งทั่วไปคนที่มีสิทธิเก็บต้องเป็นนิติบุคคล อันนี้เราต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นนิติบุคคลหรือไม่ หากเป็นต้องตรวจสอบต่อว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีการเสียภาษีหรือเปล่า แต่หากไม่มี ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายต่อไป ทางพรรครับเรื่องเอาไว้ จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความขัดแย้ง อาจจะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ในอนาคต..
ทางด้าน นายประพันธ์ แกนนำ อปพส. เคยแถลงในวันยื่นหนังสือต่อซีพีออลล์ เมื่อปีที่ผ่านมา ว่า ค่าใช้จ่ายในการขอตราฮาลาลและต่ออายุใบรับรอง ประเมินได้ถึงหลักหมื่นถึงหลักแสนต่อปี และผู้ประกอบการกำลังผลักภาระให้ผู้บริโภคที่ไม่ใช่คนมุสลิม ด้วยการขึ้นราคาสินค้า
“สินค้าที่ติดตราฮาลาลไทย…ผู้ประกอบการไทยต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าขอต่ออายุ ค่าขอใหม่ ค่าที่พัก (ผู้เข้าตรวจสอบเพื่อรับรอง) ค่าขอเพิ่มผลิตภัณฑ์ ค่าหนังสือรับรองฮาลาล ค่าที่ปรึกษาที่ต้องเสียกันทุกเดือน”
จากข้อมูลของ BBC ระบุว่า ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จนถึงวันที่ 20 ก.ย. 2565 ระบุว่า มีผู้ประกอบการเกือบ 5,400 ราย รวมเกือบ 150,000 ผลิตภัณฑ์ ที่ขอรับรองมาตรฐานฮาลาล
อาหารฮาลาล คืออะไร
ข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ระบุถึงอาหารฮาลาล (Halal) ว่า หมายถึง อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้
ฮาลาล เป็นคำมาจากภาษาอารบิก หมายความว่า “การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา” จึงกล่าวได้ว่า อาหารฮาลาล คืออาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัตินั่นเอง เพื่อรับประกันว่า ชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้โดยสนิทใจ
เครื่องหมายฮาลาลนั้น คือ เครื่องหมายที่คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทำการประทับ หรือแสดงบนสลาก หรือผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใด ๆ โดยใช้สัญลักษณ์ที่เรียกว่า ฮาลาล ซึ่งเขียนเป็นภาษาอาหรับภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้ง ใต้กรอบภายในเส้นขนานมีคำว่า “สนง.คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย”
ผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล มีหน้าที่
1.รักษาอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้สะอาดถูกต้องตามศาสนบัญญัติ ตลอดจนไม่ใช้อุปกรณ์ ดังกล่าวร่วมกับของต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
2.วัตถุดิบหลักในการผลิต ตลอดจนเครื่องปรุงอื่น ๆ ต้องระบุแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือได้ว่า “ฮาลาล” โดยไม่แปดเปื้อนกับสิ่งต้องห้าม
3.วัตถุดิบที่ได้จากสัตว์ต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นสัตว์ที่ศาสนาอิสลามอนุมัติ และหรือได้เชือดตามศาสนบัญญัติ
4.เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการผลิต หรือปรุงผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ต้องเป็นมุสลิม
5.ในระหว่างการขนย้าย ขนส่ง หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.bbc.com/thai/
Leave a Reply