วันที่ 30 กันยายน 2566 ณ หอประชุมอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีเดินทางไปปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พุทธศาสนากับภาวะผู้นำ” เนื่องในโอกาส 130 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย โดยมี พระเทพวัชรเมธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ได้ปาฐกถากล่าวโดยสรุป ความว่า “เมื่อ 10 ปีที่แล้วในยุคที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเสี้ยวหนึ่งของชีวิตได้รับใช้มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พระองค์ตรัสยกพุทธสุภาษิตท่อนหนึ่งจำได้แม่นว่า พาโล อปริณายโก คนพาลเป็นหัวหน้าหรือผู้นำไม่ไม่ได้ คนจะเป็นผู้นำได้ต้องไม่พาล คำนี้สอดคล้องกับศาสนสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัยมหากุฎราชวิทยาลัยที่ว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐฺ เทวมานุเส” ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทพและมนุษย์ คนจะเป็นผู้นำได้จะต้องไม่พาล ในทางวิชาการคำว่าผู้นำ กับภาวะผู้นำต่างกัน บางคนเป็นผู้นำในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยไม่ได้เป็น บางคนเป็นผู้นำในทางพฤตินัย แต่ในทางนิตินัยไม่ได้เป็น คำว่า ผู้นำ ในความหมายของมันก็คือ คนที่มีความสามารถนำคนไปสู่จุดหมายปลางทางได้ ไม่ว่าทางนั้นจะดีหรือร้าย เช่น หัวหน้าโจร สามารถไปปล้นทรัพย์สำเร็จ อันนี้ก็เป็นผู้นำ หรือนักปราชญ์ สามารถชักจูงพูดให้คนทำความดี ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องของสังคม อันนี้คือผู้นำ นำในสิ่งที่ดี พุทธศาสนาแยกคำว่า ผู้นำ กับ ภาวะผู้นำ ออกจากกัน บางคนเป็นผู้นำ แต่ไม่มีภาวะผู้นำ ในสังคมเราต้องการภาวะผู้นำมากกว่าผู้นำ เหตุนั้น ภาวะผู้นำสำคัญกว่า ผู้นำ ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นของชาวฮินดู เกิดขึ้นก่อนพระพุทธเจ้าหลายร้อยปี ท่านวางหลังภาวะผู้นำไว้ 5 ข้อ ตอนหลังพระพุทธศาสนาเราเพิ่มเข้าไปอีก 2 ข้อเป็น 7 ข้อ ข้อแรก คือ พาหุพลัง หรือ พลังทางกายภาพ รูปหล่อ พูดดี มีเสียงไพเราะ พูดจาอ่อนหวาน ยุคนี้ คุณเศรษฐา ทวีสิน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์เขามี นายกเศรษฐา แม้ตัวจะสูงแต่เป็นคนไหว้สวย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เวลาไปเจอใครเขา การไหว้ การรับไหว้ของท่าน ใครเจอก็ชม ใครเจอก็อ่อนลง เพราะโน้มโค้งอ่อนน้อมดีมาก หรือแม้กระทั้งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มี อันนี้ก็คือว่าเป็นพลังอันหนึ่งของผู้นำ ข้อสอง อภิชัจจพลัง กำลังเกิดจากความมีชาติสูง คือ กำเนิดในตระกูลสูง ตระกูลผู้นดี มีชาติตระกูล ประเทศไทยตระกูลที่มีชาติดีและสืบทอด ๆ เป็นผู้นำมาต่อเนื่องคือ ตระกูลสารสิน ข้อสาม อมัจจพลัง ยุคนี้ก็จำพวกแฟนคลับ จำพวกด้อมทั้งหลาย ที่ผ่านมาเราจะเห็นคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็มีข้อนี้ เวลาคุณเศรษฐา ไปต่างจังหวัดก็มีบ้าง ซึ่งต้องดูว่าหลังลงจากตำแหน่งแล้วจะมีหรือไม่ ในประวัติศาสตร์ของไทยเรา หากพูดถึงพระมหากษัตริย์องค์รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านมีตรงนี้ ท่านคิดอะไร มีคนทำให้หมด น้องท่านบ้าง ลูกท่านบ้าง เหล่าเสนาอำมาตย์บ้าง ข้อที่สี่ โภคะพลัง ผู้นำประเภทนี้เช่น คุณทักษิณ ชินวัตร หรือแม้กระทั้งคุณเศรษฐา ทวีสิน ท่านมี โภคะทรัพย์เป็นพลังอย่างหนึ่งของผู้นำ และข้อห้า ปัญญาพลัง สำคัญที่สุดคือ ผู้นำต้องมีปัญญา รู้สิ่งใดมีประโยชน์มิใช่ประโยชน์ สามารถวินิจฉัยเหตุการณ์ทั้งภายในภายนอก และดำริการต่าง ๆ ให้ได้ผลเป็นอย่างดี เมื่อพูดถึงข้อนี้เราอาจพูดถึงซอฟเพาเวอร์สงเคราะห์เข้ามาในหมวดนี้ได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกัน มันเชื่อมโยงกันหมด อันนี้ปรากฎอยู่ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ และพุทธเราเพิ่มเข้ามาอีก 2 ข้อ คือ ข้อ 6 กาลพลัง รู้กาล รู้กาละเทสะ ผู้นำบางคนเข้ามาผิดจังหวะ ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ บางคนเข้ามาทำอะไรก็ลุล่วงสำเร็จไปได้ด้วยดี ข้อนี้หมายถึงเวลาในการดำรงตำแหน่งด้วย ส่วนข้อสุดท้ายผู้นำต้องมีคือ ธัมมพลัง ผู้นำต้องมีความซื่อสัตย์ ต้องมีความโปร่งใส สุจริตเที่ยงธรรมยุคใหม่เราเรียกว่า ต้องมีธรรมาภิบาล ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือคุณสมบัติความเป็นภาวะผู้นำ..”
ในช่วงภาคบ่ายมีเวทีเสวนาวิชาการ “130 ปี มมร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต บนคุณค่าแห่งพุทธปัญญาพัฒนาสังคม” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยพระธรรมกิตติเมธี , รศ.สุเชาว์ พลอยชุม , พระศรีวชิรวาที และรศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์
และพรุ่งนี้วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม 2566 เวลา 12.30 น. มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ขอเชิญเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จในการทรงบำเพ็ญพระกุศล คล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยปีที่ 130 และประทานทุนการศึกษาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (วาสนมหาเถร)ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ณ ธรรมสถาน มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จ.นครปฐม
Leave a Reply