เปิดประวัติ “พระพรหมสิทธิ – พระศรีคุณาภรณ์” หลังได้รับโปรดเกล้า ฯ คืน “สมณศักดิ์”

วันที่ ๑๖ พ.ค. ๖๗  หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์ และพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณ แก่ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) และพระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คำมา)  ผู้ถูกกล่าวหา “คดีเงินทอนวัด” ตอนหลังต่อสู้คดีจนศาลพิพากษาไม่มีความผิด และล่าสุดวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาคืนสมณศักดิ์ และพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ แก่ทั้ง ๒  รูป ซึ่งได้สร้างปลื้มปีติแก่ศิษยานุศิษย์ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์เป็นอย่างมาก

เว็บไซต์ข่าว “Thebuddh” ขอนำประวัติ พระพรหมสิทธิ และพระศรีคุณาภรณ์ ไว้อย่างละเอียด ดังนี้

ประวัติพระพรหมสิทธิ   (ธงชัย สุขญาโณ) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

๑. สถานะเดิม  ธงชัย นามสกุล สุขโข เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ อายุ ๖๘ ปี อำเภอพระพุทธบาท  จังหวัดสระบุรี

๒. การบรรพชา – อุปสมบท

หลังจบการศึกษาระดับประถมศึกษา ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร   ณ วัดเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ได้ศึกษาความรู้พระปริยัติธรรม จนสอบไล่ได้ความรู้นักธรรมชั้นเอกจากสำนักเรียนวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ต่อมา ได้ย้ายมาพำนักเข้าสังกัดวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และได้รับการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๙ ณ วัดสระเกศ โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่                           สมเด็จพระสังฆราช (ซึ่งในขณะนั้น ดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายา ว่า “สุขญาโณ” 

๓. วิทยฐานะ  

– สอบได้ความรู้นักธรรมชั้นเอก

– สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) คณะสังคมศาสตร์ วิชาเอกรัฐศาสตร์ (บริหารรัฐกิจ) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  และได้รับการถวายปริญญาบัตร จากหลายสถาบันการศึกษา

๑. ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการเชิงพุทธ   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

๒. ปริญญาสังคมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาชุมชน  มหาวิทยาลัยรามคำแหง

๓. ปริญญาสังคมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสยาม

๕. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยรังสิต

๔. งานปกครอง

ได้ปฏิบัติงานสนองงานของคณะสงฆ์และสนองงานของวัดสระเกศ ด้วยความทุ่มเท มีวิริยะอุตสาหะ จนได้รับความไว้วางใจจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้เป็นพระอุปัฏฐาก สนองงานใกล้ชิด และต่อมาได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

งานปกครองภายในวัดสระเกศ

๑. ปกครองดูแลอบรมสั่งสอนพระนวกะผู้บวชใหม่  ๒. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์บรมบรรพต  (ภูเขาทอง)    ๓. ก่อสร้างอาคารรับรองอาคันตุกะ  ๔. บูรณะกุฏิสงฆ์   ๕. บูรณปฏิสังขรณ์พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ  ๖. บูรณปฏิสังขรณ์โรงเรียนพระปริยัติธรรม ตึกสมเด็จญาโณทยมหาเถระ  พ.ศ.๒๕๐๑  ๗. บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ  ๘. บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร ๙. บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ ๑๐. บูรณปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎก  ๑๑. บูรณปฏิสังขรณ์ฌาปนสถาน ๑๒. เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

งานปกครองคณะสงฆ์  ๑. เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง  ๒. เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๐  ๓. เป็นที่ปรึกษาประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ    ฝ่ายมหานิกาย ๔. เป็นผู้ช่วยแม่กองธรรมสนามหลวง ๕. เป็นที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย    ฝ่ายกิจการต่างประเทศ  ๖. เป็นเจ้าคณะภาค ๑๐ ๗. เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ ๘. เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๖ ๙. เป็นที่ปรึกษาโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์หนตะวันออก ๑๐. เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ๑๑. เป็นประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

พ.ศ.๒๕๕๔ ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้ดำรงตำแหน่ง  เจ้าคณะภาค ๑๐ ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ  จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดยโสธร

พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับแต่งตั้งจากแม่กองธรรมสนามหลวง ให้ดำรงตำแหน่ง เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกำกับดูแลฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๕๖ มหาเถรสมาคม ได้มีมติครั้งที่ ๒๐/๒๕๕๖ มติที่ ๔๑๕/๒๕๕๖ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยแม่กองธรรมสนามหลวง และได้ทำการจัดตั้งโครงการประชาสัมพันธ์ เผยแผ่ และรณรงค์การเรียนการสอน และการสอบธรรมศึกษา เพื่อให้พระวิทยากรจัดการอบรมหลักสูตรธรรมศึกษาให้แก่เด็กอนุบาล นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในสถานศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป

พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนฯ และต่อมาได้รับ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ     ราชวรมหาวิหาร

พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม

พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเป็นประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

พ.ศ. ๒๕๖๐ ในฐานะประธานดำเนินงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้จัดตั้ง “สถาบันพัฒนาพระวิทยากร” ตามประกาศจัดตั้ง ฉบับลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๐

พ.ศ. ๒๕๖๑ ในฐานะประธานดำเนินงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้จัดตั้ง  “ชมรมสาธยายพระไตรปิฎก วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร” ตามประกาศจัดตั้ง ฉบับ   ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑

๕. งานศึกษา และงานศึกษาสงเคราะห์  ๑. ได้เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนก  นักธรรม และแผนกบาลี ๒. ได้ดำเนินการส่งพระภิกษุสามเณรไปสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษาต่าง ๆ

๓. ได้ดำเนินการส่งพระสงฆ์ผู้ทรงธรรม ไปแสดงปาฐกถาธรรม ให้การอบรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ในสถานศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ๔. ได้มอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ที่สอบไล่ได้ความรู้นักธรรมและบาลี ของสำนักเรียนวัดสระเกศ เป็นประจำทุกปี ๕. ได้ให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ ทั้งแก่คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ที่ประสบภัยในครั้งต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ และจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ณ ประเทศเนปาล ตามมติมหาเถรสมาคม

๖. งานเผยแผ่  ก. งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการจัดพิมพ์หนังสือ

๑. จัดพิมพ์หนังสือธรรมะ เพื่อแจกจ่ายให้แก่พุทธศาสนิกชน ที่มากราบไหว้สักการะบูชาพระบรมบรรพต ภูเขาทอง ประกอบด้วย

๑.๑ หนังสือศาสนาประจำชาติ จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ เล่ม  ๑.๒ หนังสือประวัติพระบรมสารีริกธาตุ

๑.๓ หนังสือคู่มือนำเที่ยววัดสระเกศ๑.๔ หนังสือธรรมะเยียวยาใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม  ๑.๕ หนังสือธรรมะกับการให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม๑.๖ หนังสือบามิยัน ช่วงประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองและมืดมน ยาวนาน ของศาสนา ๑.๗ หนังสือ ๑๑๒ ปี แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๑.๘ หนังสือเย็นหิมะในรอยธรรม  ๑.๙ หนังสือสุขทุกข์อยู่ที่ใจ ๑.๑๐ หนังสือธรรมะให้ลูกดี  ๑.๑๑ หนังสือสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน  ๑.๑๒ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ

๒. เป็นประธานดำเนินการก่อตั้งสื่อออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ชื่อ “จริยธรรม แชนแนล” ๓. และส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกิจกรรม “การไหว้พระ ๙ วัด”

ข. งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ  ได้รับรางวัลสันติภาพ สาขาความสัมพันธ์ด้านศาสนา ระดับนานาชาติ (Peace Ambassador Award ๒๐๑๘) ในงานประชุมสันติภาพโลก ที่ประเทศสวีเดน  เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ โดยที่ประชุมมีมติว่า พระพรหมสิทธิ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ เป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๔๐ ปี ได้สร้างความสัมพันธ์กับศาสนาต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย  ยุโรป อเมริกา และในโซนโอเชียเนีย ดังนั้น       การถวายรางวัลสันติภาพในครั้งนี้ จึงนับว่า เป็นการยกย่องพระพุทธศาสนา และ    คณะสงฆ์ไทย ทั้งเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศไทย เป็นอย่างยิ่ง

๗. งานสาธารณูปการ  ๑. ได้เป็นประธานในการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ ณ วัดไทยนอร์เวย์ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เป็นอาคาร ๓ ชั้น รวมชั้นใต้ดิน

๒. ได้ดำเนินการก่อสร้างวัดไทยขึ้นที่ประเทศสวีเดน บนเนื้อที่กว่า  ๒๗๐ ไร่ ที่เมืองเฟดริกา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา สูง ๗.๓๐ เมตร

๓. ได้ดำเนินการก่อสร้างวัดไทยขึ้นที่เมืองวอเตอลู ประเทศเบลเยี่ยม

๔. ได้จัดหาทุนเพื่อดำเนินการก่อสร้างวัดไทยนามว่า วัดพุทธาราม ขึ้นที่เกาะกวม ประเทศสหรัฐอเมริกา

๕. ได้จัดหาทุนเพื่อก่อสร้างวัดไทย นามว่า วัดพุทธาราม ขึ้นที่เมืองลีดส์ ประเทศสหราชอาณาจักร

๖. ได้จัดหาทุนเพื่อก่อสร้างวัดไทย นามว่า วัดพุทธาราม ขึ้นที่ประเทศ สก็อตแลนด์

๗. ได้รับมอบหมายจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว  อุปเสโณ)  ขณะดำรงตำแหน่งประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ให้เป็นผู้ดูแลวัดไทยในต่างประเทศ สายงานวัดสระเกศ ๑๕ ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศสหราชอาณาจักร, ประเทศสก็อตแลนด์, ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน, เขตปกครองพิเศษฮ่องกง, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศอินโดนีเซีย, ประเทศเนเธอร์แลนด์, ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, ประเทศนอร์เวย์,  ประเทศฟินแลนด์, ประเทศเดนมาร์ก, ประเทศไอซ์แลนด์, ประเทศเบลเยี่ยม, ราชรัฐลักซัมเบิร์ก, ประเทศสวีเดน, และ ประเทศญี่ปุ่น

งานสาธารณูปการในต่างประเทศ

๑. ขณะได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบงาน               พระธรรมทูตสายยุโรปและสแกนดิเนเวียได้เสนอให้มีการนำพระธรรมทูตไปฝึกอบรมภาคสนามในพื้นที่จริง ณ ประเทศอินเดีย และประเทศเนปาล ก่อนที่จะได้รับ การแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูต ออกเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจทั่วโลก

๒. ได้ดำเนินการจัดทำหนังสือสุทธิพระภิกษุสามเณรฉบับ ๒ ภาษา     (ไทย-อังกฤษ) สำหรับพระสงฆ์ชาวต่างชาติ

๓. ได้รับมอบหมายจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ให้ดำเนินการก่อตั้งกองทุนช่วยเหลือพระธรรมทูตในต่างประเทศ ภายหลังจากที่พระธรรมทูตไทย ๓ รูป ซึ่งปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ประสบอุบัติเหตุ ถึงแก่มรณภาพที่ประเทศสหราชอาณาจักร

๔. ได้เป็นผู้ประสานงานจนเกิดความร่วมมือกับคณะสงฆ์มหายาน แห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประชุมความร่วมมือพระพุทธศาสนาภูมิภาคล้านช้าง ณ เมืองเซินเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีพระสงฆ์ทั้งฝ่ายเถรวาท และมหายาน เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน จากประเทศเมียนมาร์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศกัมพูชา ประเทศไทย เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศสิงคโปร์ ประเทศอินโดนีเซีย  และเขตปกครองพิเศษทิเบต เป็นต้น อันเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรี โดยมีมิติ ทางพระพุทธศาสนา ที่ยั่งยืนตลอดไป

๕. ในฐานะเป็นประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ได้ลงนามก่อตั้งสภาองค์กรพระธรรมทูตโลก ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีสำนักงานเลขาธิการองค์กรพระธรรมทูตโลก ตั้งอยู่ ณ ประเทศสหราชอาณาจักร

๖. ได้รับมอบหมายจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว  อุปเสโณ) ให้ปฏิบัติหน้าที่ต้อนรับคณะสงฆ์ที่เดินทางมาเชื่อมศาสนสัมพันธ์จากประเทศต่างๆ  จนเป็นที่ยอมรับเคารพศรัทธาจากศาสนิกชนนานาชาติ

๗. ได้ประสานความสัมพันธ์กับพระสงฆ์ฝ่ายมหายาน ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เขตปกครองพิเศษไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น เกิดความร่วมมือ ทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทและมหายาน ในนาม             ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเขตปกครองพิเศษไต้หวัน

๘. ได้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทย เดินทางไปเชื่อมศาสนสัมพันธ์ระหว่างศาสนาในประเทศต่างๆ โดยได้เดินทางตามเส้นทางเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ที่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ปฏิบัติมาแล้ว โดยในครั้งนี้ พระพรหมสิทธิ ได้เดินทางไปเยือนนครรัฐวาติกัน    กรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้เข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแห่งคริสตจักร และได้มอบรางวัล “Awakening Leadership Award รางวัลผู้นำแห่งการตื่นรู้” ซึ่งก่อตั้งโดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เพื่อสร้างศาสนสัมพันธ์ด้านสันติภาพของ ๒ ศาสนา  ตลอดจนหารือด้านความร่วมมือทางศาสนาในด้านต่างๆ และมีการเชื่อมศาสนสัมพันธ์  “ผู้นำ Church of England” ประเทศอังกฤษ ภายในพระราชวังของพระเจ้าเฮนรี่ ที่ ๘  แห่งประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของสมเด็จพระราชินี แห่งประเทศสหราชอาณาจักร

๙. ได้เดินทางไปเยือนประเทศปากีสถาน และประเทศในแถบ ตะวันออกกลาง ตามคำกราบนิมนต์ของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อศึกษาวัฒนธรรม และเป็นการสืบสานศาสนสัมพันธ์ระหว่างศาสนา เป็นอย่างดียิ่ง

๘. งานสาธารณประโยชน์  ๑. ได้มอบเงินจัดตั้งกองทุนให้แก่กองงานเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๐

๒. ได้มอบนโยบายให้พระสังฆาธิการ บูรณาการการศึกษา ทั้งนักธรรม-บาลี, โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา, โรงเรียนการกุศลของวัด ในพระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยสงฆ์ ให้เป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ที่พระสังฆาธิการต้องให้ความสำคัญดูแลเอาใจใส่

๓. จัดตั้งศูนย์การศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ทั้งระดับต้น คือ บาลีไวยากรณ์ ถึง ประโยค ป.ธ.๕ และระดับสูง คือ ประโยค ป.ธ.๖ ถึง ประโยค ป.ธ.๙

๔. พัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมต้นแบบ

๕. จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ประจำจังหวัด เพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมพระวิทยากรของคณะสงฆ์ ๖. จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือวัด และผู้ประสบภัยน้ำท่วมของคณะสงฆ์ ๗. ดำเนินการส่งพระวิทยากร ลงพื้นที่ฟื้นฟูเยียวยาจิตใจประชาชนตามศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยในที่ต่างๆ  ๘. ส่งเสริมให้คณะสงฆ์ในเขตปกครองใช้สื่อทุกประเภทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๙. ส่งเสริมให้พระสังฆาธิการในเขตปกครองไปศึกษาดูงานในเขตปกครองคณะสงฆ์หนต่างๆ เช่น หนเหนือ หนกลาง เป็นต้น ๑๐. ส่งเสริมให้เกิดการจัดกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแนวใหม่ ประกอบแสง สี เสียง สื่อผสมเทคโนโลยี ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น โดยนำรูปแบบของสื่อสมัยใหม่ประยุกต์ให้เห็นความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ๑๑. จัดหาทุนให้พระสังฆาธิการในเขตปกครอง ไปศึกษาดูงาน การพระศาสนาในต่างประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอิตาลี ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเดนมาร์ก เป็นต้น  ๑๒. ได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากธรณีพิบัติภัย (สึนามิ) ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ๑๓. ได้รับมอบหมายจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้เดินทางไปตรวจเยี่ยมเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พระภิกษุสามเณร ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๑๔. ได้จัดส่งพระวิทยากรของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เดินทางไปฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ๑๕. ได้มอบทุนก่อสร้างอาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นอาคารที่พักพระภิกษุสามเณร ณ วัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) จังหวัดอุบลราชธานี  ๑๖. ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารรับรองชื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ๑๗. ได้ดำเนินการจัดหาทุนก่อสร้าง พร้อมบูรณปฏิสังขรณ์วัดบ้านเกิด คือ วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีการขยายพื้นที่วัดเพิ่มอีกกว่า ๖๐ ไร่

๙. งานพิเศษ  ๑. พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้อัญเชิญคัมภีร์ที่ปริวรรตแล้ว ของมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ไปจัดแสดง ณ มหาวิทยาลัยออสโล กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช รัชกาลที่ ๙  ๒. ได้จัดกิจกรรมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ๙ แผ่นดินสู่ปฐพีบุญอีสาน ไปสู่สถานที่สำคัญ เช่น จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดบุรีรัมย์, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ๓. ได้รับมอบหมายจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ให้คิดรูปแบบการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ จนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ต่อมา มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้วัดทุกวัดจัดพิธีสวดมนต์ข้ามปี เป็นกิจกรรมของคณะสงฆ์ตั้งแต่บัดนั้น

ได้ปฏิบัติงานสนองพระมหากรุณาธิคุณแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นลำดับมา ดังนี้

๑. พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้ดำเนินการอัญเชิญพระคัมภีร์พุทธศาสนาโบราณ มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก กว่า ๒,๐๐๐ ปี เดิมอยู่ในถ้ำบามิยัน หุบเขาในประเทศ อัฟกานิสถาน ได้มีการเคลื่อนย้ายไปดูแลรักษาไว้ที่สถาบันอนุรักษ์สเคอเยน ประเทศนอร์เวย์ มาจัดแสดง ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช รัชกาลที่ ๙ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๘๔ พรรษา และอัญเชิญพระคัมภีร์อีกส่วนหนึ่ง ไปประดิษฐานเป็นการถาวร ณ บรมบรรพต ภูเขาทอง

๒. พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ไปทอดถวาย ณ  วัดไทยในต่างประเทศ แถบยุโรป และสแกนดิเนเวีย จำนวน ๙ วัด ใน ๖ ประเทศ ได้แก่ ประเทศนอร์เวย์ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศสวีเดน และประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็น พระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช รัชกาลที่ ๙

๓. พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณเฉลิมพระเกียรติ  ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช  รัชกาลที่ ๙ ได้อัญเชิญพระธรรมเจดีย์คัมภีร์โบราณนี้ไปรอบกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้มิติทางศาสนาเป็นหลัก เริ่มต้นไปประเทศอินเดีย กลับมาที่ประเทศเมียนมาร์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศกัมพูชา ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศบรูไน แล้วอัญเชิญกลับมาประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันวิสาขบูชา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙  ได้กราบทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทรงเปิดงานฯ และทอดพระเนตรพระคัมภีร์ในโอกาสนั้ด้วย

๑๐. สมณศักดิ์

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานแต่งตั้ง และเลื่อนชั้นสมณศักดิ์สูงขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมในพระพรหมคุณาภรณ์ ที่ “พระครูประสิทธิสรคุณ”

พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ที่ “พระครูพิทักษ์สุวรรณบรรพต”

พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระสุวรรณเจติยาภิบาล”

พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชธรรมสาร”

พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระเทพสิริภิมณฑ์”

พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ “พระธรรมสิทธินายก”

พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ “พระพรหมสิทธิ”

ต่อมา ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา  ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ให้ถอดถอนสมณศักดิ์พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ประวัติพระศรีคุณาภรณ์(บุญทวี ปญฺญาวํโส) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
๑. สถานะเดิม บุญทวี นามสกุล คำมา เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๐ อายุ ๔๗ ปี อำเภองาว จังหวัดลำปาง
๒. การบรรพชา – อุปสมบท
พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย
จากนั้น พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ย้ายมาสังกัดและจำพรรษา ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
และต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “ ปญฺญาวํโส ”
๓. การศึกษา
พ.ศ. ๒๕๓๕ สำเร็จการศึกษานักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดป่างิ้ว จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. ๒๕๓๙ สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๗ ประโยค สำนักเรียนวัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๕๔๕ สำเร็จการศึกษาอนุปริญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
พ.ศ. ๒๕๔๖ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิทยาการจัดการ
พ.ศ. ๒๕๔๘ สำเร็จการศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกริก สาขา การบริหารการตลาด
๔. การสนองงานภายในวัดสระเกศ
๑. เป็นครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม
๒. เป็นพระภิกษุผู้ถวายการอุปัฏฐากประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ))
๓. เป็นเลขานุการแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๔
๔. เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
๕. เป็นรองประธานอำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
๖. เป็นรองประธานคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาหลักสูตร พระวิทยากรสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
๗. เป็นผู้ช่วยเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และ ความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
๘. เป็นคณะกรรมการเขียนแผนยุทธศาสตร์ สำนักงานกำกับดูแล พระธรรมทูตไปต่างประเทศ
๙. เป็นรองประธานอำนวยการพัฒนาหลักสูตรพระธรรมทูต สายต่างประเทศ เชิงปฏิบัติการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
๑๐. ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

๕. การสนองงานคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นอาจารย์สอนความรู้นักธรรมชั้นเอก ประจำสำนักเรียนวัดป่างิ้ว จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นอาจารย์สอนความรู้ภาษาบาลี ระดับชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยค ประจำสำนักเรียนวัดป่างิ้ว จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นอาจารย์สอนความรู้ภาษาบาลี ระดับชั้นเปรียญธรรม ๔ ประโยค ประจำสำนักเรียนวัดป่างิ้ว จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นอาจารย์สอนความรู้ภาษาบาลี ระดับชั้นประโยค ๑-๒ ประจำสำนักเรียนวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๕๔๓ – ๒๕๔๕ เป็นอาจารย์สอนความรู้ภาษาบาลี ระดับชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยค ประจำสำนักเรียนวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๕๔๓ – ๒๕๕๖ ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์วัดสระเกศ ให้เป็นพระภิกษุผู้ถวายการอุปัฏฐากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๖๐ เป็นกรรมการอำนวยการเรียนการสอน พระปริยัติธรรม แผนกนักธรรม-บาลี และเป็นกรรมการอำนวยการสอบบาลีสนามหลวง เปรียญธรรม ๖ ประโยค ของแม่กองบาลีสนามหลวง สนามสอบ ส่วนภูมิภาค สนามสอบวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๕๕๒ มหาเถรสมาคม ได้มีบัญชาแต่งตั้งเป็นเลขานุการแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๔
พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฝ่ายการศึกษา
พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์วัดสระเกศ ให้เป็นเจ้าคณะ ๖ (อาคารตติยกวี) ให้เป็นผู้ปกครอง กำกับ ดูแล พระภิกษุ สามเณร และ ศิษย์วัด ภายในคณะ ๖
พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากเจ้าอาวาสวัดสระเกศ พระพรหมสิทธิ) ให้เป็นคณะกรรมการบูรณะพระอารามวัดสระเกศ ตามคำสั่ง เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร คำสั่งที่ ๑๖/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการดำเนินงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ประเทศเนปาล
พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับแต่งตั้งจากประธานดำเนินงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ให้เป็นคณะทำงานโครงการศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้รับแต่งตั้งจากประธานดำเนินงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ให้เป็นรองประธานกรรมการคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาหลักสูตร พระวิทยากร
พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้รับแต่งตั้งจากประธานดำเนินงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ให้เป็นรองประธานคณะกรรมการอำนวยการดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาพระวิทยากร
พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้รับแต่งตั้งจากประธานดำเนินงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ให้เป็นคณะกรรมการเขียนแผนยุทธศาสตร์สำนักงานกำกับดูแล พระธรรมทูตไปต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับแต่งตั้งจากประธานดำเนินงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ให้เป็นรองประธานอำนวยการพัฒนาหลักสูตรพระธรรมทูตสายต่างประเทศเชิงปฏิบัติการ
พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับแต่งตั้งจากประธานดำเนินงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ให้เป็นรองประธานอำนวยการพัฒนาหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลง บนรากฐานคุณธรรมจริยธรรม

๖. สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทาน สมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีราชทินนามที่ “พระศรีคุณาภรณ์”

ต่อมา ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ให้ถูกถอดถอนสมณศักดิ์พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คำมา) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

Leave a Reply