ปลัด มท. เปิดงานลงใต้ เปิดงานวงแหวนพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ และงานแสดงสินค้า ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี

วันนี้ (20 มิ.ย. 67) เวลา 18.00 น. ที่บริเวณสวนจ้าวทะเล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี บริเวณสวนจ้าวทะเล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็นประธานเปิดงาน “วงแหวนพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ และงานแสดงสินค้า ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี ประจำปี 2567” โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายสนั่น สนธิเมือง นายชูชีพ ธรรมเพชร นายไชยพร นิยมแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายไพโรจน์ โสภาพร ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุม ผู้แทนจังหวัดนราธิวาส ยะลา ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดปัตตานี ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปัตตานี นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE และภาคีเครือข่ายเป็นจำนวนมาก ร่วมงาน

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับชมการแสดง “รำวงมหาดไทย ” พร้อมเยี่ยมชมบูทนิทรรศการวงแหวนพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ และงานแสดงสินค้าศิลปวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี ประจำปี 2567 และเป็นประธานกล่าวเปิด พร้อมมอบรางวัลการแข่งขันออกแบบตัดเย็บผ้าและเครื่องแต่งกาย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก มีความสุข & มีสไตล์” ให้แก่ 1) รางวัลชนะเลิศ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน hand in hand อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส 2) รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 กลุ่ม Ameena batik อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส 3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กลุ่ม Indah จังหวัดนราธิวาส 4) รางวัลชมเชย กลุ่ม PNVC จังหวัดปัตตานี กลุ่มปัตตานีร่วมใจ จังหวัดปัตตานี กลุ่มดินปงดู่ จังหวัดปัตตานี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดงาน “วงแหวนพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ ทำให้ได้มาเห็นสิ่งที่มีคุณค่าในหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมไม้ ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของพี่น้องชาวจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และจังหวัดยะลา ทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคึกคัก ด้วยการบูรณาการงาน บูรณาการคน โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นตัวแทนในการบูรณาการจัดงานในครั้งนี้ อันถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการที่จะนำเสนอสิ่งดี ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกอำเภอของจังหวัดปัตตานี

“พวกเราทราบกันดีว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพวกเราเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งสถานที่จัดงานยังมีนามว่า “สวนจ้าวทะเล” หรือสโลแกน Pattani Sea Gate เปิดประตูสู่ทะเล แสดงให้เห็นว่า ท้องทะเลบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มาก และที่สำคัญที่สุดนอกจากจะอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและอาหารทะเลแล้ว เรายังอุดมสมบูรณ์ด้วยศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวและทรัพยากรทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่า ยังรวมถึงความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ จึงได้ชื่อว่า “พหุวัฒนธรรมชายแดนใต้” ซึ่งทุกท่านสามารถรับรู้รับทราบได้ผ่านนิทรรศการภายในงาน และสัมผัสผ่านสิ่งที่เป็นจริงในวิถีชีวิตของพวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลลัพธ์ที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม ที่เป็นหนึ่งในงานหัตถศิลป์หัตถกรรมอันทรงคุณค่าที่สะท้อนความหมาย สะท้อนวิถีชีวิต นั่นคือ ผ้าบาติก และผ้าพื้นถิ่นรูปแบบต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอภายในงาน และเข้าร่วมการแข่งขัน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก มีความสุข & มีสไตล์” ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องใช้มันสมองและสองมือ ทั้งช่างทำผ้าบาติก และช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ต้องใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง ในการออกแบบ ตัดเย็บ จนทำให้วัตถุดิบที่มาจากมือ มาจากใจของพี่น้องทั้ง 3 จังหวัด กลายเป็นชุดที่มีความสวยงามและดูสนุกสนาน เพราะทุกชุดมีความสวยงาม มีฝีมือที่ประณีตบรรจง เวลาเพียง 4 ชั่วโมง สามารถตัดเย็บผ้าบาติกให้มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม โดนใจ เตะตาต้องใจ พวกเราทุกคนภายในงาน และขอฝากให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันรังสรรค์ผลงาน ทั้งการออกแบบลวดลาย การตัดเย็บ ให้ดียิ่งขึ้น อย่าหยุดที่จะพัฒนาตนเอง และจัดกิจกรรมในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาควบคู่แฟชั่นดีไซน์ ให้คงอยู่คู่กับดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ โดยมีน้อง ๆ เด็กและเยาวชนเป็นผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ยังเป็นพื้นที่แห่งพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานความห่วงใย และพระราชทานแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หนุนเสริมจนทำให้เป็นดินแดนแห่งความสุขใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร อันสะท้อนผ่านนิทรรศการภายในงานตอนหนึ่งที่ปรากฏข้อมูลว่า ได้มีราษฎรในพื้นที่จังหวัดปัตตานีถวายฎีกาว่า พื้นที่แห่งนั้นไม่มีน้ำ ไม่มีโอกาสในการทำนา ในการทำเกษตร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโครงการชลประทานมาให้ ซึ่งได้ทราบว่า ปีนี้พี่น้องในชุมชนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณได้รวบรวมผลผลิตข้าวจากพื้นที่นั้น ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะเป็นครั้งแรกที่มีเหลือกินเหลือใช้ และทุกคนต่างสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหรือ “บุญคุณ” แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการส่งผลผลิตที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณนั้น  จากพระเมตตานั้น ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และยังได้เห็นข้อมูลที่ครอบครัวหนึ่งได้ร้องขอว่า ชีวิตนี้ที่อยู่ในหมู่บ้านไม่มีทีวีสักเครื่องเดียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานมาให้ กระทั่งในการจัดพิธีที่มัสยิดกลางปัตตานีในปีที่ผ่านมา ได้มีการนำทีวีพระราชทานเครื่องนั้นที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี มาตั้งไว้ให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรด้วย และยังได้ทราบว่า มีครอบครัวของผู้หลักผู้นำศาสนาถูกลอบทำร้าย ซึ่งในครอบครัวของท่านนั้นมีลูก 2 คนอยู่ในวัยกำลังศึกษาเล่าเรียน เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทุนการศึกษา และทรงส่งเสียให้ได้เล่าเรียนจนถึงทุกวันนี้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า และดังที่ได้เรียนมาข้างต้นแล้วว่า การจัดงานในวันนี้ ทำให้ได้เห็นผลงานตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานความช่วยเหลือในการพัฒนาองค์ความรู้และฝีไม้ลายมือของผู้เกี่ยวข้องกับวงจรผ้าทั้งระบบ ผ่านกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน จังหวัดปัตตานี และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก มาต่อยอดความรู้ พัฒนาทักษะ ซึ่งผลจากน้ำพระทัยนี้ เกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ดังเช่นที่จังหวัดปัตตานีแห่งนี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้ให้ข้อมูลว่า ปี 2563 ทั้งจังหวัดมีรายได้จากผ้าบาติก 600,000 บาท แต่หลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณและน้อมนำมาปฏิบัติ ในปี 2566 มีรายได้จากผ้าบาติกภาพรวมทั้งจังหวัดถึง 35 ล้านบาทเศษ และในส่วนของทั่วประเทศเช่นกัน จากเดิมที่ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม มีรายได้เพียง 400 ล้านบาท ภายหลังจากการน้อมนำพระดำริไปขับเคลื่อน ส่งผลให้ปัจจุบันมีรายได้รวมกว่า 60,000 ล้านบาท หรือแม้แต่ล่าสุดในงาน OTOP MIDYEAR 2024 ในห้วง 9 วันที่ผ่านมา มีรายได้ภาพรวมทุกผลิตภัณฑ์ 710 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าและงานหัตถกรรมถึงเกือบ 500 ล้านบาท นี่คือสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่า “การจัดงานวงแหวนพหุวัฒนธรรม” ของเรานั้น เป็นกิจกรรมที่ดีมากที่จะช่วยกันกระตุ้นให้ผู้คนได้มาพบกับสิ่งดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้พวกเราได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทำให้พวกเราได้ร่วมกันน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่พระราชทานความช่วยเหลือมายังพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และคนไทยทั่วประเทศ นำมาซึ่งความผาสุกร่มเย็น และการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การจัดงาน “วงแหวนพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ และงานแสดงสินค้า ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี ประจำปี 2567” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณสวนจ้าวทะเล แห่งนี้ โดยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน พร้อมใจกันจัดงานขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นการระดมทุนหารายได้สำหรับใช้กิจกรรมสาธารณประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยมีรูปแบบการทำงานเน้นการทำงานที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ที่สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน ทั้งยังส่งเสริมพัฒนาอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานีให้มีความชัดเจน เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว เสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ซึ่งภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรมนิทรรศการวงแหวนพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ นิทรรศการผ้าไทยใส่ให้สนุก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำเสนอการออกแบบตัดเย็บผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นให้มีสไตล์ และมีการเดินแบบการกุศลผ้าไทยใส่ให้สนุก การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง บาสโลป ริ้วขบวนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การออกร้านนาวากาชาด และการออกร้านจำหน่ายสินค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชน

Leave a Reply