เปิดแนวคิด “นักธุรกิจ –นักจิตอาสา” คิดอย่างไร!! เจริญตามรอยศาสตร์พระราชา การสำรวจแปลงโคก หนอง นา ภายใต้การดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย ของ “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” เริ่มมาตั้งปี 2563 ตั้งแต่ “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน การลงพื้นที่แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 10 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค พบว่า ประชาชนที่สนใจหันมาทำแปลงโคก หนอง นา มิใช่เฉพาะแค่เกษตรกรเท่านั้น มีความหลากหลายทั้งพระภิกษุ นักบวชศาสนาอื่น นักธุรกิจ นักการเมือง ปราชญ์ชุมชน หรือแม้กระทั่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาแล้วมาต่อยอดทำแปลงโคก หนอง นา หรือ เดินตามรอยศาสตร์ของพระราชา “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” มีข้อมูลที่จังหวัดพังงา มีนักธุรกิจสามีภรรยาคู่หนึ่งประสบความสำเร็จในการต่อยอดแปลงโคก หนอง นา เป็นอย่างยิ่งจน “จังหวัดพังงา” ต้องใช้เป็นโมเดลเพื่อต่อยอดไปสู่แปลงอื่น ๆ และอีกแปลงหนึ่งมีข้อมูลว่านอกจากตนเองสนใจเจริญตามรอยศาสตร์ของพระราชาแล้วทุกวันเสาร์จะชวนเด็ก ๆ มาเรียนรู้ที่แปลงโคก หนอง นา ด้วยเช่นกัน จังหวัดพังงาและจังหวัดใกล้เคียงทั้งจังหวัดกระบี่ จังหวัดภูเก็ต เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเป็นจังหวัดท่องเที่ยว เจริญเติบโตด้วยการท่องเที่ยว ในห้วงที่เกิดวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด จังหวัดใดก็แล้วแต่ที่เติบโตด้วยอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มิใช่แหล่งผลิตอาหาร จังหวัดนั้น ๆ มักประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร จังหวัดพังงาก็จัดอยู่ในกลุ่มประเภทนี้ “จังหวัดพังงา” เดิมเรียกว่า เมืองภูงา ซึ่งเป็นชื่อของ เขางา เขาพังงา เขากราภูงา หรือ เขาพังกา โดยเมืองภูงานั้นขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย การตั้งชื่อว่า เมืองภูงา อาจสอดคล้องกับเมืองภูเก็ต เหตุที่ชื่อเปลี่ยนจากภูงาเป็นพังงา สันนิษฐานว่า เนื่องจากเมืองภูงามีต่างชาติเข้ามาติดต่อซื้อแร่ดีบุกจำนวนมาก จึงเขียนชื่อเมืองว่า Phunga หรือ Punga อ่านว่า ภูงา พังงา หรือ พังกา ต่อมาจึงออกเสียงเพี้ยนมาเป็น “พังงา” จังหวัดพังงาเคยเป็นที่อาศัยของมนุษย์โบราณก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ เช่น เศษเครื่องปั้นดินเผา กำไลหิน และเปลือกหอยบริเวณถ้ำในวัดสุวรรณคูหา อำเภอตะกั่วทุ่ง และภาพเขียนสีที่ผนังเขาเขียน อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เมืองพังงาเริ่มขยายตัวและเจริญตามลำดับตั้งแต่ พ.ศ. 2383 โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ต่อมา พ.ศ. 2437 มีการปฏิรูปการปกครองมณฑลภูเก็ต พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ ณ นคร) เจ้าเมืองพังงาถึงแก่อสัญกรรม จึงมีการแบ่งพื้นที่ท้องที่การปกครองในเมืองพังงาออกเป็นอำเภอและตำบลต่าง ๆ การแบ่งพื้นที่นี้ได้โอนเมืองตะกั่วทุ่งมาเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองพังงา และแบ่งเมืองพังงาออกเป็น 4 อำเภอ 24 ตำบล จน พ.ศ. 2459 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองพังงาเป็น “จังหวัดพังงา” ครั้นเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ยุบจังหวัดตะกั่วป่าลดฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพังงา เมื่อ พ.ศ. 2473 สภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดพังงา เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทอดเป็นแนวยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 239.25 กิโลเมตร ตามชายฝั่งทะเลจะมีป่าชายเลนเกือบตลอด พื้นที่ประกอบด้วยเกาะประมาณ 105 เกาะ จังหวัดพังงาแบ่งการปกครองออกเป็น อำเภอ จำนวน 8 อำเภอ ตำบล จำนวน 48 ตำบล หมู่บ้าน จำนวน 321 หมู่บ้านมีประชากรประมาณ 300,000คน สำหรับจังหวัดพังงา ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ 8 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 76 แปลง “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” เดินทางออกจากจังหวัดระนองเพื่อไปต่อจังหวัดพังงา ลัดเลาะไปริมชายทะเลไปเรื่อย ๆ สภาพสองข้างทางล้วนเต็มไปด้วยสวนปาล์ม ยางพารา บางช่วงมีสวนทุเรียน ในขณะที่ถนนบางช่วงกำลังซ่อมแซม ผ่านชุมชนแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ยามเย็นเห็นผู้คนบรรทุกผลปาล์มไปขาย บางรายตัดไปขายบรรทุกรถมอเตอร์ไซต์พ่วงหรือที่เรียกว่า “รถซาเล้ง” ไปขาย คงได้ค่ากับข้าวในวันรุ่งขึ้น อันนี้น่าจะเป็น “วิถีชีวิต” ของคนภาคใต้ที่เป็นชาวบ้านจริง ๆ มิใช่นายทุนที่มีสวนปาล์มจำนวนหลายสิบไร่ “จารุวัฒน์ กองเงิน” เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพังงา เป็นทั้งผู้อำนวยความสะดวกจัดหาสถานที่พักและแนะนำแปลงโคก หนอง นา พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าแปลงที่จะลงไปพูดคุยนี้ถือว่าเป็น “หน้าตา” ของกรมการพัฒนาชุมชน เนื่องจากเจ้าของนอกจากเป็นนักธุรกิจแล้ว มีความตั้งใจ เอาใจใส่ และหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งโดยเฉพาะ “จังหวัดพังงา” เวลาจัดงานมักใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่จัดงาน ชื่อ “ไร่ปันสุข” “ไร่ปันสุข เป็นแปลง โคก หนอง นา ของคุณวรางคณา วงษ์ศาโรจน์ ที่กรมพัฒนาชุมชนสนับสนุน มีขนาดเนื้อที่ 1 ไร่ เดิมเป็นนา สวนยาง แล้วปรับปรุงเป็นสวนปาล์มและไร่สับปะรด ตอนหลังเจ้าของมาแปลงสภาพเป็นโคก หนอง นา ซึ่งแม้กรมจะสนับสนุนแค่ 1 ไร่ แต่ความจริงคุณวรางคณาทำหลายไร่ จัดเป็นสัดส่วนสวยงาม มีทั้งบ้านพัก คาเฟ่ มีการจัดกิจกรรมบ่อยครั้ง ทั้งการรื้อฟื้นเอาวิถีชีวิตดั้งเดิม วัฒนธรรมอันดีของคนไทย และความสามัคคี เมื่อเสร็จจากกิจกรรมลงมือปฏิบัติ ก็มีการทานอาหารร่วมกัน โดยแต่ละคนนำอาหารจากบ้านตนเองมา ก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สามารถเป็นพลังของชุมชนที่เข้มแข็งได้ ตอนนี้พื้นที่ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ จำนวน 8 ฐาน ได้แก่ 1) ฐานสมุนไพลไกลโรค 2) ฐานกนกนาสารพัดนึก 3) ฐานบ้านสีนิล-ทับทิม 4) ฐานปุ๋ยหมักแห้ง 5) ฐานบ้านไก่มีสุข 6) ฐานธนาคารไม้ปันสุข 7) ฐานผักอินทรีย์มีระดับ และ 8) ฐานเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร” “ไร่ปันสุข” เป็นไร่ของสองสามีภรรยานักธุรกิจ รับเหมาขนาด 9 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขา การจัดสถานที่และตบแต่งสวยงาม “วรางคณา วงษ์ศาโรจน์” บอกว่า มีคนดูแล 2 คน ส่วนใหญ่เธอและสามีมาพักอยู่ที่สวนนี้เป็นประจำ “เดิมทีนั้นทำงานรับเหมาก่อสร้างบ้าน ทำมาแล้วประมาณ 20ปี แต่สามีทำมาตั้งแต่เกิด เพราะทำงานนี้มาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อแล้ว ทำจนกระทั่งเจอผลกระทบจากโควิด เป็นจุดที่ทำให้คิดว่าทำไมเราจะต้องติดอยู่ที่บ้านไม่สามารถไปที่ไหนได้ และละแวกนี้ไม่มีตลาด ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอีกตำบลหนึ่งให้ซื้อผักซื้ออาหารมาให้ เป็นจุดที่ทำให้นึกอยากปลูกอะไรกินเอง และได้ยินได้รับข้อมูลมาจากเรื่องเกษตรพอเพียงในโทรทัศน์ จากพระราชกรณียกิจของในหลวง ร .9 ว่ามีความมั่นคงทางอาหาร แต่ก็ยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรรู้แค่ว่าต้องปลูกต้นไม้แต่ในจังหวัดภูเก็ตไม่มีพื้นที่ทำการเกษตรและที่ดินก็มีราคาแพง พื้นที่ตรงนี้จำนวน 9 ไร่ ตอนนั้นซื้อมาในราคา 6 ล้าน..” วรางคณา เล่าต่อว่า พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ในปี2564 ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ จึงได้ติดต่อพัฒนาการอำเภอชุมชน เข้าไปสมัครโครงการโคกหนองนา ตอนนั้นมีคนสมัครจำนวนมาก ก็ได้ลงชื่อไว้โดยไม่ได้หวังว่าจะได้ คิดว่าได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแต่เราก็ปลูกของเราไป แต่โชคดีมากที่อีกหนึ่งเดือนถัดมามีคนยกเลิก เราจึงได้เข้าร่วมโครงการ ได้เข้าอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาการชุมชนที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน ทำให้ได้องค์ความรู้ แปลงนี้เริ่มขุดบ่อตอนปี 2564 จนถึงปัจจุบัน 2567 ในระยะเวลา 3 ปีชีวิตมีความสุข ตื่นมาได้ชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นได้ออกกำลังกายเดินดูสวนดูไร่ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่ตอนเด็ก จากที่ไม่เคยทำสวนเป็น เราก็มีต้นไม้พืชและผักสวนครัว เป็นสวนแบบผสมผสาน มีทั้งต้นสัก ต้นตะเคียนทอง ตื่นเช้ามาเห็นต้นไม้แล้วทำให้รู้สึกสดชื่น แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ทำธุรกิจตื่นเช้ามาก็ได้รับฟังแต่ปัญหาทำให้เครียด “เราสองคนสบายใจตรงที่มีเจ้าหน้าที่จากพช. จังหวัดมาช่วยดูแลสนับสนุนทำให้เรารู้สึกว่าหายเหนื่อย เวลามีปัญหาและเอ่ยปากไปก็ได้รับการช่วยเหลือ เรื่องหลักที่ได้รับการสนับสนุนก็คือองค์ความรู้ ทั้งการอบรมประชุมต่างๆ ได้เรียนรู้วิธีการต่างๆ ซึ่งความรู้นี้ไม่มีจบสิ้นสามารถเรียนรู้ได้เรื่อย ๆ อีกทั้งยังมีการเข้าร่วมประกวดซึ่งทำให้เราได้พัฒนา นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายซึ่งเมื่อก่อนนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญ นอกจากได้รับความช่วยเหลือจาก พช.แล้ว ยังได้การสนับสนุนจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเราเปิดใจก็ได้รับการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านอย่างเต็มที่ ที่นี่เป็นชุมชนเข้มแข็งมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ตั้งแต่หัวเลยคือพัฒนาการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรวมถึง อบต.ช่วยกันหาตลาด หาที่ปล่อยผลิตภัณฑ์สินค้าที่เราผลิต อย่างแปลงที่นี่ทำไม่พอขาย พี่มองว่าถ้าเราเข้มแข็งและรวมกลุ่มกันปัญหาเรื่องการตลาดเป็นเรื่องไม่ยาก ” ปัจจุบัน “ไร่ปันสุข” เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีคนมาศึกษาดูงานบ่อยครั้ง โดยเฉพาะนักเรียนจาก กศน. และผู้คนในชุมชน ซึ่ง “คู่ชีวิต” ของวรางคณา วงษ์ศาโรจน์ ที่เป็นสปอนเซอร์หลักให้เกิดไร่ปันสุข เข้ามาเล่าเสริมว่า ตอนนี้ตำบลหล่อยูง ที่อยู่นี้ทางนายก อบต. มีการพัฒนาตำบลให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ และได้เข้าไปเป็นวิทยากรส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน พร้อมกับแนะนำการท่องเที่ยวเชิงเกษตร “จังหวัดพังงา เป็นจังหวัดท่องเที่ยว เรื่องผักอนาคตหากเราไม่ทำ มีปัญหาแน่ อย่างช่วงที่เกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิด ตอนนั้นมีปัญหา ขนาดครอบครัวเรายังหาซื้อกินไม่ได้ แต่หลายครอบครัวที่เขาปลูกทำเศรษฐกิจพอเพียง เขามีอาหารกิน แต่เรามีเงิน แต่ไม่มีอาหารกิน จึงคิดว่าอยากต่อยอดแปลงโคกหนองนา ตรงนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้คนมาเที่ยว มาพัก มาดูวิธีทำปุ๋ยหมัก สวนสมุนไพร หรือแม้กระทั่งให้มาเก็บผักสดที่ปลอดสารพิษไปรับประทาน ทำอาหารกินกันเอง เป้าหมายอยากต่อยอดตรงนี้ แต่สำคัญที่สุดคือ ตรงนี้เป็นสถานที่พักผ่อนของครอบครัว เพราะใจเรารัก ทำแล้วมีความสุข มองไปตรงไหนก็สุข..” “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ถามต่อว่า โคกหนองนามีความเหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจคนไทยอย่างไร สามีภรรยา “ไร่ปันสุข” ช่วยกันตอบว่า เรื่องโคกหนองนาเป็นภูมิความรู้ตั้งแต่ สมัยปู่ย่าตายายในอดีตมาแล้ว สิ่งพวกนี้เราเคยทำมาหมดแล้วเพียงแต่ว่ามีช่วงนึงที่เราหลงลืมกันไป และความรู้พวกนั้นเราไม่ได้นำมาเขียนเป็นตำรา แต่ทำผ่านการปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิตแล้วเราก็ลืมมันไป เราทิ้งรากเหง้าสิ่งพวกนั้นเข้ามาทำงานในเมือง ใช้ชีวิตในสังคมเมือง แต่ตอนนี้เรามีองค์ความรู้ที่สามารถถ่ายทอดได้ เรากำลังกลับไปสู่จุดนั้นแต่ดีกว่าเดิมโดยมีหลักการและเหตุผล และประสบความสำเร็จซึ่งสิ่งที่พัฒนาการชุมชนจะต้องทำก็คือการโปรโมทให้ชุมชนและสังคมได้รับรู้ความสำเร็จ และสามารถตอบคำถามได้ว่าไม่ได้ทำเพื่อโชว์ แต่เอาแปลงที่ทำสำเร็จแล้วไปเป็นแบบอย่าง ถ้าแต่ละแปลงพัฒนาศักยภาพตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ในทฤษฎี 9 ขั้นถ้าเราทำได้หมด เมื่อก่อนก็ไม่เข้าใจแต่ลงมือทำเองแล้วจะเข้าใจว่า 9 ขั้นคืออะไร และเมื่อเราจับมือกับภาคีเครือข่ายได้เราก็จะเติบโตไปพร้อมๆกัน ทำให้เข้มแข็งและสำเร็จสิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่ยังไม่ได้ทำ เพราะถ้าเขาเห็นความสำเร็จและทำตามพวกเขาจะประสบความสำเร็จ ซึ่งมีความมั่นคงทางด้านอาหาร ต่อด้วยความมั่งคั่ง และทำต่อเนื่องให้ยั่งยืน “โคกหนองนาถือว่าตอบโจทย์ชีวิตได้มาก พี่มองว่าทุกอย่างมันมีเหรียญ 2 ด้าน อย่างธุรกิจได้เงินจริงแต่ก็จะไม่ได้ความมั่นคงทางด้านจิตใจ สังเกตได้จากคนไทยจะมีโรคเรื้อรังจำนวนมากเกิดมาจากความเครียดเป็นหลัก ทันทีที่เราลดความเครียดลงมันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต หลายคนอาจจะมองว่าพี่มีเงินทำอะไรแล้วได้เร็วทันใจ แต่ไม่มีเงินก็ทำได้หลาย ๆ แปลงที่สำเร็จก็ใช้จากสิ่งที่เขามี เพียงแต่ต้องอาศัยถ้ามีใจแล้วก็ดัดแปลงจากทรัพยากรที่มีอยู่ได้ก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน มันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแปลง แต่ละที่ให้ความสุขได้ไม่เหมือนกันไม่มีเงินเราก็ทำได้แต่ต้องมีความอดทน ไม่ยอมแพ้และทำต่อไปเรื่อย ๆ..” หลังจากการพูดคุย “ทีมงาน” เดินสำรวจพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ที่จัดระเบียบได้อย่างเป็นสัดส่วนทั้งลานจอดรถ บ้านพัก โซนคาเฟ่ ศาลารับรอง พร้อมสระน้ำ สวนสมุนไพร ฐานเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นแปลงโคก หนอง นา ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งเท่าที่เคยไปพบมา ซึ่งการต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และทำเป็นศูนย์เรียนรู้นำร่อง คงไม่ยากเย็น เพราะพร้อมทุกด้านแล้ว ก่อนจากกัน “พัฒนาการจังหวัดพังงา” บอกว่ามีอีกแปลงหนึ่งที่จะให้ไปดูเป็นแปลงของ “ครูนิคม” ตั้งอยู่ที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นแปลงที่เจ้าของมีความตั้งใจทำมาก โดยการนำหลัก “บวร” มาปรับใช้ ทั้งทุกวันเสาร์มีการจัดกิจกรรมนำเด็กมาเรียนรู้ต่อยอดการปลูกผัก ทำปุ๋ย และประดิษฐ์ของเหลือใช้หรือวัสดุจากธรรมชาติโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสินค้าโอทอป ด้วย การเดินทางจากอำเภอตะกั่วทุ่งวกกลับมาทางเดิมสู่อำเภอคุระบุรี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยมี “GPS” นำทาง เมื่อถึงจุดหมายรอบนอกทางเข้าเต็มไปด้วย “สวนผัก” ที่กำลังผลิดอกออกผลสวยงาม มีป้ายบอกทาง พร้อมมีเสียงสัญญาณเตือนว่ามีแขกมาเยี่ยมมาเยือน เห็นเด็ก ๆ ทั้งระดับประถมและมัธยม กำลังวิ่งเล่น และจับกลุ่มคุยกันอย่างสนุกสนาน “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” แนะนำตัวเองเสร็จเรียบร้อย ๆ เด็กพาไปพบกับ “ครูนิคม” บุคคลเป้าหมายที่เราจะมาหาและพูดคุย “นิคม ลำจวน” บ้านบางวัน ม.1 ต.บางวัน อาจ.คุระบุรี เป็นชายร่างเล็ก ๆ วัย 50 กว่า ๆ ใบหน้ายิ้มแย้มเดินเข้ามาโดยมีเด็ก ๆ ห้อมล้อมด้วย ดูแล้ว “นิคม” เป็นคนอบอุ่นและมีเมตตา พร้อมกับเล่าว่า ความจริงตนเองจบรัฐศาสตร์มาไม่ได้จบครู ตอนจบมีอุดมการณ์อยากเป็น “นายอำเภอ” เพื่อ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับชาวบ้าน พร้อมกับใฝ่ฝันอยากช่วยเหลือคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ไม่อยากให้เขาลืม “รากเหง้า” หรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง ที่รักษาสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย หมู่บ้านแถวนี้เป็นชุมชนย่อย ๆ เดิมทีวิถีชีวิตของเราคือการพึ่งพาตนเองและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมื่อระบบทุนนิยมเข้ามาก็ลืมรากเหง้าของตัวเองและแสวงหาเงิน แล้ววันหนึ่งอยากให้วิถีชีวิตเดิมกลับมาก็หันมาทำโคกหนองนาตั้งแต่ปี 2565 ขนาดพื้นที่3ไร่ “ผมว่าเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ผมเพราะ ผมมีพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชได้ ผมไม่มีผลไม้กินแม้แต่ต้นเดียวแต่เมื่อทำโคกหนองนาผมก็สามารถเติมเต็มได้ ต้องอาศัยระยะเวลาที่จะทำ”อีกอย่างหนึ่งคือสามารถระบายน้ำได้ดี ในแปลงนี้ 3 ไร่จะแบ่งเป็นโซนด้านบนลงไม้สักทองไว้ ไล่ลงมาเป็นคันนาทองคำทั้งหมด เสริมด้วยผักผลไม้ที่อยากทาน ผมมองถึงอนาคตที่เมืองพังงาเป็นเมืองท่องเที่ยวก็อยากทำเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นวิถีที่เราอยากนำเสนอคล้ายกับโฮมสเตย์…” “นิคม ลำจวน” เล่าต่อว่า แปลงโคก หนอง นา รายได้ยังไม่เกิด แต่เราอยู่อย่างพอเพียงก็พออยู่ พอกินแล้ว รายได้หลักคือไส้เดือน เป็ด ไก่ เป็นอะไรที่ตอบโจทย์เพราะปกติเราต้องซื้อกินอยู่แล้ว เมื่อเราทำเองสามารถลดต้นทุนได้ ในแปลงของผมมีคนมาร่วมทำกัน 4 คน คุณกมล เก่งในเรื่องของนวัตกรรม อิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำมาช่วยในการทำเกษตรได้ เป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้ คุณประกายเก่งเรื่องศิลปะ สามารถช่วยในเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ เช่นมะพร้าวลูกนึงปกติขายได้ลูกละ 20 บาท แต่เขานำมาแกะสลักแล้วสามารถขายได้ในราคา 2,000บาท จะมีกลุ่มเฉพาะสามารถขายได้ทั้งการเปิดบูธ หรือในช่องทางออนไลน์ คุณเปรมเก่งเรื่องการไปรับภูมิทัศน์ซึ่งตรงกับโคกหนองนา อย่างที่นี่หินเยอะเขาก็ใช้หินให้เป็นประโยชน์ เก่งเรื่องไม้ประดับ ตกแต่งสวน ที่นี่แปลกตรงที่เปิดรับเลี้ยงเด็กด้วย ทำมา 8ปี แล้ว จัดเฉพาะวันเสาร์ เด็กประมาณ 30-40 คน ซึ่งจะรวมเด็กในหลายๆชุมชน รับตั้งแต่ ป.2จนถึงระดับมหาวิทยาลัย เป็นเหมือนชั่วโมงละลายพฤติกรรม เนื่องจากเด็กจะมาจากต่างบ้าน ต่างโรงเรียน ต่างชุมชน “ปัจจุบันและในอดีต สังคมบริบทจะแตกต่างกัน ปัจจุบันจะอยู่แบบตัวใครตัวมัน แนวคิดมาจากเมื่อก่อนที่ความฝันอยากจะรับราชการ แต่ในเมื่อชีวิตไม่ได้เดินทางนั้น จึงอยากทำตามความฝันแต่ไม่ได้มีตำแหน่ง จึงทำกิจกรรมนี้..ผมยึดหลักของในหลวงว่า การบริหารจุดเดียวเป็นหัวใจในการพัฒนาคน ให้รวมคนให้รวมกันอยู่จุดเดียวให้บริหารให้ได้ ผมยังทำกลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์ สามารถเชื่อมโยงกันได้หมด และสุดท้ายขอฝากถึงคนที่อยากทำโคกหนองนา ถ้าเราตั้งใจทำ ต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังที่บอกว่า..โคกหนองนาเพื่อชีวิต..” “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ลงพื้นที่สองจังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ทั้งจังหวัดระนองและจังหวัดพังงา พบว่า ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีนี้มา การดำเนินกิจกรรมโคก หนอง นา กรมการพัฒนาชุมช กระทรวงมหาดไทย ยังติดตามและลงพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเจ้าของแปลงที่ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันเท่าที่พูดคุยกับเจ้าของแปลงทุกแปลงคุณสมบัติผู้ที่จะทำโคกหนองนา หรือ เดินรอยตามศาสตร์ของพระราชา ต้องมีใจที่จะทุ่มเท อดทนและไม่ย่อท้อ กินนอนอยู่กับแปลง ส่วนคนที่ทำแล้วไม่สำเร็จ ส่วนใหญ่ ไม่อดทนหวังได้ผลผลิตเร็วและที่สำคัญทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า..หลายแปลงหวังรอเงินและความช่วยเหลือจากรัฐ จึงไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งเป้าไว้.. จำนวนผู้ชม : 206 Leave a ReplyFacebook Comments More Articles By the same author ศิษย์ธรรมกายหนุนงานปีใหม่-วันเด็กคลองหลวง อุทัย มณี ม.ค. 07, 2019 สมาพันธ์หมู่บ้านจัดสรรอำเภอคลองหลวง สร้างสามัคคีบุญต้อนรับปีใหม่… เจ้าคณะอำเภอรูปสุดท้าย จ.กาฬสินธุ์ “ลาออกแล้ว” อุทัย มณี ธ.ค. 22, 2021 วันที่ 22 ธ.ค. 64 พระครูโสภณธรรมอุดม เจ้าอาวาสวัดโพธิพุทธคุณ … ทีมแพทย์รพ.สงฆ์ฉีดวัคซีนโควิด พระธรรมทูตสายต่างประเทศ อุทัย มณี มี.ค. 29, 2021 วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2564 เพจท่านคมสรณ์ ข่าวสารงานพระธรรมทูตอินเดีย… พ่อเมืองคอน “สุดปลื้ม!! กลุ่มเป้าหมายถังขยะเปียกลดโลกร้อน ดำเนินการแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ เน้นย้ำ ต้องทำต่อเนื่องเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบเดียวนี้ อุทัย มณี มิ.ย. 28, 2023 วันที่ 28 มิ.ย. 66 นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช… ปลัด มท. เปิดฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น รุ่นที่ 13 อุทัย มณี เม.ย. 03, 2024 เน้นย้ำ ทำหน้าที่ “ครูจิตอาสาผู้มีจิตใจกล้าแข็ง” เป็นทหารเสือพระราชาผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยในทุกโอกาส… “ณพลเดช”โอดศพล้นวัด! ชม “ธรรมศาสตร์” นำเข้าวัคซีนเหมือนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อุทัย มณี ส.ค. 16, 2021 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เวลา 09.00 ที่วัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย… มจร หารือสถานทูตลาว เจรจาความร่วมมือทวิภาคีส่งเสริมการศึกษา วัฒนธรรมและสันติสุขภูมิภาค อุทัย มณี ต.ค. 31, 2023 วันที่ 31 ตุลาคม 2566 พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย… อำเภอวังเจ้า “ไม่มีแผ่ว” เดินหน้า “หมู่บ้านรักษาศีล 5″ ขยายผลสู่ ” หมู่บ้านศีลธรรม” ต่อเนื่อง อุทัย มณี มี.ค. 01, 2024 วันที่ 1 มี.ค. 67 นายศักดิ์ดา สำเภาเงิน นายอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก… “หลวงปู่พัฒน์” มอบเงิน 2 ล้านบาท สร้างศูนย์ปฏิบัติการต้านทุจริตตำรวจ ปปป. อุทัย มณี มี.ค. 11, 2023 วันที่ 11 มีนาคม 2566 ที่ศาลาการเปรียญ วัดธารทหาร หรือ วัดห้วยด้วน… Related Articles From the same category ถวายความอาลัย! “หลวงปู่แสง” วัดป่าดงสว่างธรรมยโสธร ละสังขารแล้ว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 หลวงปู่แสง ญาณวโร วัดป่าดงสว่างธรรม… สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ลงพื้นที่สระบุรี ให้กำลังใจวัดปลูกพืชผักภัยโควิด วันที่ 24 พ.ค.2563 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช… เปิดกำหนดการ!! วันอาทิตย์ที่ 22 นี้ “พระธรรมโพธิมงคล” ย้ายกลับวัดนิมมานรดี “พระพรหมสิทธิ” เตรียมส่งถึงวัด!! วันที่ 11 กันยายน 2567 หลังจากเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่าน สมเด็จพระสังฆราช… “เสริมศักดิ์” รมว.วธ.คนใหม่ เผยเรียกผู้บริหารถกเข้มวางแผนเคลื่อนงานบ้างแล้ว เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 .ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ… ปลัดเก่ง – คณะสงฆ์และชาวราชบุรี ร่วมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ ฯ ตั้งเป้าครัวเรือนละ 1 ต้น วันนี้ (22 ก.ค. 67) เวลา 09.00 น. ที่บ้านกลาง หมู่ที่ 10 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง…
Leave a Reply