“สุรพศ ทวีศักดิ์” ไม่เห็นด้วยกับสำนักพุทธ ฯ กรณี ” ว.วชิรเมธี” จวก!! ไม่ใช่หน้าที่??

วันที่ 19 ตุลาคม 2567 หลังจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหนังสือถึงเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายให้ตรวจสอบเอกสารของพระเมธีวชิโรดม หรือ “พระมหา ว. วชิรเมธี” มีลักษณะกล่าวถึงบุคคลที่ 3 อันอาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกพาดพิง และอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน นั่น

นาย สุรพศ ทวีศักดิ์  นักปรัชญาชายขอบ นักวิจารณ์สังคมชื่อดัง  ได้แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยได้โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัวว่า สำนักพุทธฯ (พศ.) กับการกล่าวหาแบบล่าแม่มด (?)  การที่ พศ. มีหนังสือแจ้งเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายให้ “ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ” กรณี ว. วชิรเมธีบรรยายที่ดิไอคอน ด้วยข้ออ้างที่ว่า “มีลักษณะกล่าวถึงบุคคลที่ 3 อันอาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกพาดพิง และอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน” นั้น

ประเด็นคือ ข้ออ้าง 1) มีลักษณะกล่าวถึงบุคคลที่ 3 อันอาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกพาดพิง คำถามคือความเสียหายที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ “บุคคลที่ 3 ที่เห็นว่าตนเสียหาย” จะต้องแจ้งความให้ดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ และ ข้ออ้าง 2) อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน นี่เป็น “ข้อกล่าวหาแบบล่าแม่มด” หรือไม่ พศ.สามารถพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไรว่า “กระทบต่อความรู้สึก” ของพุทธศาสนิกชนจริง วัดจากสื่อโซเชียลที่มีคนแสดงความไม่พอใจใช่ไหม คนเหล่านนั้นแสดงออก “ในนามของพุทธศาสนิกทั้งหมด” เช่นนั้นหรือ มีวิธีการจำแนกแยกแยะอย่างไร การอ้าง “กระทบความรู้สึก” มาดำเนินการตรวจสอบเอาผิดทางใๆ กับปัจเจกบุคคล ย่อมเป็นข้ออ้างที่ “คลุมเครือ” แบบที่ชอบใช้ล่าแม่มดกับคนคิดต่างจากคนส่วนใหญ่ในทางใดๆ ได้เสมอ ข้ออ้างเช่นนี้จึงไม่ควรนำมาใช้ เพราะง่ายที่จะละเมิดเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด และการแสดงออก

สรุป ข้อ 1) มีกฎหมายปกติดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของคณะสงฆ์และ พศ. ส่วนข้อ 2) เป็นข้อกล่าวหาคลุมเครือแบบล่าแม่มดที่อาจละเมิดเสรีภาพได้ง่ายดาย

กรณี ว. วชิรเมธี การดำเนินการจึงควรแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1) ประเด็นทางกฎหมาย ถ้ามีบุคคลที่ 3 ได้รับความเสียหายจริง ก็ให้เจ้าตัวแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายบ้านเมืองเอง หรือ  2) ถ้า ว. วชิรเมธีมีตำแหน่งหรือบทบาทใดๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจหรือได้รับผลประโยชน์จากการสนับสนุนธุรกิจดิไอคอนโดยมีหลักฐานและพยานชัดเจนจริง ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินการตามกฎหมาย ทั้ง 2 ประเด็นไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของคณะสงฆ์หรือ พศ.โดยตรง

คำถามสำคัญเพิ่มเติมคือ คณะสงฆ์มีหน้าที่ดูแลความประพฤติของพระเณรในปกครอง หากมีเรื่องเกี่ยวข้องที่ต้องใช้บริการจาก พศ. ก็อาจมอบหมายให้ พศ.ไปดำเนินการตามคำสั่งหรือนโยบายของคณะสงฆ์ ไม่ใช่ พศ.เป็นต้นเรื่องให้คณะสงฆ์หรือพระสังฆาธิการทำตามใช่หรือไม่

ปล. ผมไม่เห็นด้วยกับ “ระบบที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ” นะครับ ไม่ได้สนับสนุนการดำเนินการใดๆ ของระบบเช่นนี้ เพียงแค่สงสัยในประเด็นตามที่ถามไป และไม่เข้าใจว่าบทบาทหน้าที่ของ พศ. คืออะไร มีขอบเขตแค่ไหนกันแน่ ไทยเป็น “รัฐพุทธศาสนา” หรือเป็นรัฐอะไรแน่

Leave a Reply