เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 ที่ อ.เมือง จ.เชียงราย ดร.ณพลเดช มณีลังกา ว่าที่ สว. จังหวัดเชียงราย และ อดีตอนุกรรมาธิการฯศาสนาฯ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีที่มีการโต้ตอบกันไปมา กรณีของ เจ้าคุณ ว.วชิรเมธี ประเด็นดิไอคอนกรุ๊ป ผ่านโซเชียลมีเดีย ส่งผลโดยรวมต่อพระพุทธศาสนาในวงกว้าง สร้างความเสื่อมเสียต่อวงการสงฆ์ จากที่ตนได้มาร่วมงานกฐินในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ต้องยอมรับว่าในเทศกาลนี้เป็นช่วงที่ออกพรรษา ญาติโยมต่างมุ่งมั่นที่จะร่วมทำบุญกฐินกันในวัดที่ตนเลื่อมใสศรัทธา ปรากฏว่าจากที่ตนได้ซักถามกับพุทธศาสนิกชนยอมรับว่ากระแสข่าวนี้ ส่งผลต่อศรัทธาอย่างมากกับชาวพุทธโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
ดร.ณพลเดช กล่าวต่อไปว่า ตนได้หารือกับสำนักพุทธ จ.เชียงราย และสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ถึงประเด็นนี้ต้องยอมรับว่ากระทบกับวงการสงฆ์โดยรวม ทุกฝ่ายอยากให้เรื่องเงียบให้เร็วที่สุด เพราะพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกมากได้รับผลกระทบไปด้วย สิ่งนี้กระทบต่อวงการสงฆ์ในระดับโลกด้วยมีการเผยแพร่ในระดับโลกอีกด้วย ทั้งนี้เหมือนกระแสสังคมโดยเฉพาะผู้หิวแสง ได้ปรากฏตัวทางโซเชียลโพสต์ข้อความทั้งคลิปและข้อความ รวมถึงร้องเรียนหน่วยงานรัฐต่อพระสงฆ์ท่านนี้ ตนอยากจะให้หยุดกันนิ่งสักนิดในฐานะเราเป็นคนไทยด้วยกัน อยากจะให้พิจารณาใน 3 ข้อบูรพคณาจารย์ในอดีตท่านสอนคือ 1.กรรมในการทำลายสงฆ์ 2.กรรมในการทำลายพุทธศาสนา 3.กฎหมายที่อาจจะกลับไปลงโทษหากโพสต์โดยไม่รู้ข้อกฎหมาย
ประการที่ 1 ตนขอชื่นชม คุณหนุ่ม กรรชัย ที่เจตนาดี ไม่ฟ้องร้องพระสงฆ์พร้อมยุติและใส่บาตรให้ท่านเจ้าคุณ อย่างไรก็ตามหากใครที่เจตนาไม่ดีต่อพระสงฆ์ หากการกระทำส่งผลให้สงฆ์แตกแยก ก็อาจจะเป็นอนันตริยกรรม คือ กรรมหนัก 1 ใน 5 กรรม ซึ่งเป็นการทำ สังฆเภท คือ ทำให้สงฆ์แตกกันเป็นการทำลายสงฆ์ มีนรกอเวจีเป็นที่ไป
ประการที่ 2 หากศึกษาพระไตรปิฎก ในชาดกทำให้พระศาสนาในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะเสื่อมถอย ต้องไปเกิดในอเวจีมหานรถ พอเกิดมาเป็นปลาก็ปากเหม็นมาก
ประการที่ 3 ตนอยากให้พิจารณาในข้อกฎหมายที่ได้บัญญัติ เช่น กรณีที่คนโพสต์มากที่สุด คือภาพท่าน ว. นั่งสมาธิบนหิมะ และมีถ้อยคำประกอบ หากมีการโพสต์อันเป็นการกระทบกับวัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพทางศาสนา ก็อาจผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 206 จำคุก 1-7 ปี หรือ ปรับ 2หมื่น-1แสนบาท หรือหาก ท่าน ว. ปฏิบัติธรรมจริง มีการร้องเรียนว่าทำให้เกิดความวุ่นวายในขณะทำพิธีกรรม ก็จะมีโทษคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท ตามกฎหมายอาญามาตรา 207 และหากโพสต์และมีข้อความที่อาจเป็นความเท็จหรือไม่เป็นความจริง ก็จะผิดตามมาตรา 236 ฐานหมิ่นประมาท รวมทั้งอาจผิดตามมาตรา 393 ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ที่สำคัญคือพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งหากตรวจสอบว่ามีการบิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งตรงนี้หากพิสูจน์ได้ว่าประชาชนได้เกิดความเสียหายซึ่งอาจเกิดจากเสื่อมศรัทธา หรือแตกแยก หรือประการใดๆ ก็อาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท อย่างไรก็ตามตนได้ประสานงานกับสำนักงานพระพุทธศาสนาในเบื้องต้น จากอำนาจหน้าที่หากพบเห็นการโพสต์ที่อาจจะเป็นการทำลายและส่งผลต่อวงการพุทธศาสนาดังกล่าว ก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้โพสต์และคอมเม้นต์ เพื่อเอาผิดได้
ดร.ณพลเดช กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนในฐานะชาวพุทธ เห็นความลำบากและการเอารัดเอาเปรียบ จากบริษัทที่อาจกระทำให้เกิดการค้าขายอันอาจเข้าข่ายหลอกลวง แต่ทั้งนี้ตนเห็นว่าควรเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม อย่าเอาการศาสนา มาเกี่ยวข้องเลย อันจะส่งผลเสียต่อสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นการกระทำอันอาจขัดรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอีกด้วย
Leave a Reply