‘เทวัญ’หวังราชบัณฑิตยสภาเสริมรัฐ พัฒนาประเทศด้วยAI-IOT-BIG DATA

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี นายธงชัย ลืออดุลย์  เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะ ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยมี ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล เลขาธิการราชบัณฑิต และคณะผู้บริหารสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต้อนรับ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ถวายพวงมาลัยสักการะพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากนั้น รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา  โดยที่ผ่านมาสำนักงานราชบัณฑิตสภาได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการอนุรักษ์ภาษาไทย ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ถูกต้อง สนับสนุนการบริการงานวิชาการแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานเอกชน และประชาชน

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบาย การดำเนินงานต่อสำนักงานราชบัณฑิตยสภา 10 ข้อ ดังนี้

1. การส่งเสริม ตระหนัก เผยแพร่ และปลูกฝังให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นจริง เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษตริย์และพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชน ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์

2. การอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะ ภูมิปัญญา ภาษาไทย ภาษาถิ่น กระตุ้นกระแสนิยมวัฒนธรรมไทย เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชาติ

3. การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการสร้าง PLATFORM เพื่อใช้ในการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย และเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย

4. การพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green BCG Economy)  โดยการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร

5. การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่สู่เกษตรกรอัจฉริยะ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร  เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ และเกษตรแปรรูป เพื่อต่อยอดสู่เกษตรอุตสาหกรรม

6. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ โดยมีการลงทุนในเทคโนโลยี 5G การพัฒนาการค้าสู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IOT) และข้อมูลขนาดใหญ่ BIG DATA มาใช้ในการพัฒนาประเทศ

7. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยการพัฒนาสภาพแวดล้อม ระบบจัดการข้อมูลเพื่อรองรับการบริหารจัดการงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงระบบงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาโรงงาน และห้องปฏิบัติการต้นแบบ เป็นต้น

8. การส่งเสริมการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ และความยากจน

9. สร้างเครือข่ายการทำวิจัยระหว่างภาคส่วนต่างๆ สร้างนักวิจัยมืออาชีพ และนวัตกร ยกระดับงานวิจัยสู่การเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ

10. การพัฒนาการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก โดยให้ความสำคัญกับชุมชน ในการนำความรู้และทรัพยากรในพื้นที่มาผลิตเป็นสินค้า

นอกจากนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติงานเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ คือ

1. เชิดชู ยกย่อง ราชบัณฑิตต้นแบบของประเทศ เพื่อให้สังคมรับรู้และยึดถือเป็นแนวทางการทำงาน การดำเนินชีวิต เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ กับผลงานสำคัญ การบัญญัติศัพท์ การทับศัพท์ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิตที่มีองค์ความรู้รอบด้านทั้ง 3 สำนัก เป็นราชบัณฑิตที่เชี่ยวชาญด้านวิชาประวัติศาสตร์ ภาษาโบราณ วรรณคดี รวมทั้งคณิตศาสตร์

2. เรื่องนโยบายภาษาแห่งชาติที่ดำเนินการอยู่ ขอให้ช่วยผลักดันให้สำเร็จ และการรักษาเอกราชทางภาษาของชาติ และการอนุรักษ์ภาษาไทย มิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม

3. การเพิ่มช่องทางการให้บริการวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ผ่านช่องทางต่างๆ ทุกรูปแบบให้มากขึ้น เพื่อให้ผลงานต่างๆ ถึงกลุ่มเป้าหมาย

Leave a Reply