อดีตผอ.อนุศาสนาจารย์ทร.เตือนสตินศ.วาดรูปอุลตร้าแมนอิงพุทธรูป ‘คนไม่มีศิลป์ทำเพชรให้เป็นขยะ คนมีศิลปะทำขยะให้เป็นเพชร’

อดีตผอ.อนุศาสนาจารย์ทร.เตือนสตินศ.วาดรูปอุลตร้าแมนอิงพุทธรูป ‘คนไม่มีศิลป์ทำเพชรให้เป็นขยะ คนมีศิลปะทำขยะให้เป็นเพชร’ ‘ดร.สันติศึกษา มจร’ แนะศิลปะต้องมีสติกำกับระวังใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง

วันที่ 8 ก.ย.2562 ตามที่นักศึกษาสถานการศึกษาแห่งหนึ่งได้วาดภาพพระพุทธรูปอุลตร้าแมนเผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์ ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ จนเจ้าตัวได้ทำพิธีขอขมาต่อพระสงฆ์ และระบุว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่พระพุทธศาสนาแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการสื่อให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าเป็นเหมือนฮีโร่ ที่สามารถอดทนต่อสิ่งเร้ารอบด้าน และช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ทำให้โลกมนุษย์สงบสุขได้ พร้อมทั้งกล่าวขอโทษ และขออภัยทุกคนทุกฝ่ายมาที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้นั้น

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย (ป.ธ.9) อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เตือนสติในเฟซบุ๊กส่วนตัวหมวดบาลีวันละคำ “พุทธศิลป์” ตอนต้นความว่า “คนไม่มีศิลป์ทำเพชรให้เป็นขยะ คนมีศิลปะทำขยะให้เป็นเพชร” และตอนท้ายว่า “คนโลภ ใช้พุทธศิลป์ได้เพียงแค่อุปกรณ์หาทรัพย์ คนมีปัญญาถึงระดับ ใช้พุทธศิลป์เป็นอุปกรณ์ดำเนินถึงพระนฤพาน” และวันนี้(8ก.ย.) นาวาเอกทองย้อยได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมสามารถติดตามทางเฟซบุ๊กทองย้อย แสงสินชัย

ขณะที่พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร.สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้แสดงความว่า

#ศิลปะต้องมีสติกำกับ
#ถ้าไม่เคารพก็อย่าเหยียบย่ำ
#เลื่อนตนเองขึ้นแต่อย่าลดคนอื่นลง
#ระวังใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง
#ความดีความงามความจริงเป็นศิลปะบำบัดทางพระพุทธศาสนา

“#ศิลปะและภาษา ศาสนาประเพณี ประดับไทยให้รุจี จรัสศรีเสมอจันทร์ ศศิธรประดับฟ้า พระพุทธศาสนาก็เช่นกัน ประดับคนประเสริฐสรรค์ ประสบสุขทุกสังคม”

#ประเด็นข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการสื่อสารด้านศิลปะ การสื่อสารผ่านงานศิลปะจะต้องมีความ ++จริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ ประกอบด้วยเมตตา++ งานศิลปะต้องเป็นงานที่ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ไม่เกิดความขุ่นมัวทางด้านจิตใจ ไม่สร้างความขัดแย้งในมิติของความเชื่อ ผู้สื่อสารผ่านงานศิลปะต้องมีความตระหนักเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ศูนย์รวมทางด้านจิตใจ สิ่งที่บุคคลกลุ่มหนึ่งเคารพนับถือ งานศิลปะควรยกให้สูงขึ้นมิใช่เลื่อนให้ต่ำลง งานศิลปะจึงต้องมีสติกำกับทุกลมหายใจ ผู้สื่อสารงานศิลปะมิใช่เพียงวาดภาพสวยแล้วสื่อสารออกมาเท่านั้น แต่ต้องนึกถึงผู้เสพงานศิลปะว่าควรจะได้รับอะไร ผู้สื่อสารจึงต้องนำเสนอศิลปะในเชิงบวกให้เกิดคุณค่าทางด้านจิตใจและสร้างแรงบันดาลใจ แต่มีบางกลุ่มกำลังใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ก่อให้ความขัดแย้งด้วยการสื่อสารในสิ่งที่กลุ่มคนเคารพนับถือ เป็นการส่อเสียดหรือล้อเลียนผ่านงานศิลปะ จึงย้ำเตือนว่า #อย่าใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าเราไม่เคารพก็อย่าเหยียบย่ำ ซึ่งหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาใช้หลักแห่งความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ในโลก ซึ่งไม่ใช้ความรุนแรงใด ๆ แม้บุคคลนั้นจะว่าร้ายหรือทำร้ายก็ตาม ทำให้บางคนอาจจะมองว่านี่คือ จุดอ่อนของพระพุทธศาสนา ด้วยซ้ำไป จนนำไปสู่การเกิดข่าวล่าสุดในปัจจุบัน

โดยส่วนตัวจะชอบงานด้านศิลปะ สมัยเรียนมัธยมก็เรียนสายศิลป์ เพราะขยะมองให้ดีก็เป็นศิลป์ #ศิลป์จะต้องมีศาสตร์และศาสตร์ต้องมีศิลป์จึงมีเสน่ห์ ทำให้มหาจุฬามีการเปิดสาขาพุทธศิลป์ โดยมีความดีความงามความจริงซ่อนอยู่ โดยพุทธศิลป์ต้องอาศัยสติเป็นเครื่องมือ ศิลปะจะต้องผ่านจากหัวใจจากสมองสู่มือของเรานำไปสู่ศิลปะออกมา ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้อำนวยการหลักหลักสูตรพุทธศิลปกรรม มหาจุฬา วิทยาลัยเขตเชียงใหม่ ในการใช้สีด้านศิลปะมีความเกี่ยวข้องกับสติอย่างไร? เพราะสีจะสื่อออกมาจากภายในของเราด้วยสติ ศิลปะจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบำบัดจิตของเราให้เกิดความผ่อนคลาย จากที่มีทุกข์ทำให้เกิดความสุข พระพุทธศาสนาจึงเป็นพุทธศิลป์ สามารถยกระดับจิตใจให้เกิดความสูงขึ้นอย่างแท้จริง ศิลปะจึงเป็นการนำสิ่งที่ซ่อนอยู่ในพระพุทธศาสนาออกมาถ่ายทอดให้เกิดแรงบันดาลใจและเป็นทักษะอาชีพที่สุจริตเป็นสัมมาชีพต่อไป

ศิลปะภายนอกมีผู้คนมากมายที่มีศักยภาพแสดงออกอย่างสวยงาม ซึ่งได้เพียงความงามเท่านั้น แต่ศิลปะภายในคือสติคอยควบคุมและสัปปุริสธรรมกำกับ จะทำให้ศิลปะงามทั้งภายในและภายนอก เป็นความดี การสื่อสารทางศิลปะจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้นึกถึง #อักโกสวัตถุเรื่องอ้างสำหรับการด่าหรือพูดเสียดสี จะก่อให้เกิดความขัดแย้งแม้ผ่านการสื่อสารด้วยคำพูด ท่าทาง การวาด สัญลักษณ์ ศิลปะในเชิงลบพยายามจะสื่อสารออกมาเพื่อล้อเลียน ส่อเสียด กระทบกระทั่ง ว่าร้าย ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งและความสะใจเท่านั้น ในสิกขาบทที่ 2 หมวดมุสาวาท 10 ประการ จึงกล่าวถึงว่า ไม่ควรนำมาล้อเลียนในระดับบุคคลและสิ่งที่มีผู้คนเคารพนับถือ ประกอบด้วย

1) ชาติกำเนิดสูงต่ำ
2) ชื่อดีไม่ดี
3) ตระกูลต่ำสูง
4) หน้าที่การงาน
5) ศิลปวิทยาต่ำสูง
6) ความเจ็บไข้ป่วย
7) รูปลักษณ์
8) กิเลสอกุศล
9) อาบัติโทษอาญา
10) คำด่าต่างๆ

แสดงให้เห็นว่า งานศิลปะต้องอาศัยการพัฒนาจิตใจให้ยกระดับเพื่อการสื่อสารให้เกิดสันติสุขในสังคม เพราะจิตของมนุษย์มีทั้ง ซาตานและเทวดา บางครั้งก็เป็นมารบางกาลเป็นพรหมบางอารมณ์เป็นยักษ์ จึงต้องฝึกจิตให้สูงขึ้นจึงจะสื่อสารให้เกิดความงามความดีความจริง #หลักสูตรพุทธศิลปกรรมไม่เคยมีมาก่อนและได้เปิดการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยขึ้นครั้งแรกในโลก ณ มหาจุฬา ถือว่าเป็นนวัตกรรมแห่งเมล็ดพันธุ์แห่งการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาพร้อมนำเสนอให้ชาวพุทธทั่วโลกได้รับทราบเพื่อเกิดพลังแรงบันดาลใจ

ดังนั้น ศิลปะต้องสื่อสารด้วยสติอย่าสื่อสารด้วยการเสียสติ ถึงจะใช้คำว่า #เสรีภาพในการสื่อสาร ก็จริงแต่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของบุคคลที่เคารพในสิ่งนั้น งานศิลปะจึงเป็นงานที่เกิดมาจากจิตใจที่งดงาม จิตใจที่ขุ่นมัวจะไม่สามารถสื่อสารออกมาได้เลย จะสร้างผลงานให้ตนเองจงสร้างผลงานที่ก่อให้เกิดสันติสุขอย่าสร้างผลงานให้เกิดความขัดแย้ง ล่าสุดผู้วาดภาพได้ขอโทษกราบขอขมาหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัด โดยกล่าวว่า ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ เพียงแค่ต้องการสื่อให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าสามารถช่วยโลกให้สงบได้ จึงมีการวาดภาพพระพุทธรูปอุลตร้าแมน

Leave a Reply