สิริมงคลอาบน้ำเพ็ญคืนลอยกระทง “หน้าโบสถ์มหาอุด”

สิริมงคลอาบน้ำเพ็ญคืนลอยกระทง หน้าโบสถ์มหาอุด สมัยอยุธยา วัดสมรโกฏิ เขตตลิ่งชัน  กทม.     “วันลอยกระทง”

ปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นเทศกาลสำคัญวันหนึ่งซึ่งชาวไทยทั้งประเทศตลอดจนชาวต่างชาติต่างก็รอคอยเพื่อร่วมงานอันชวนตื่นตาตื่นใจกับประเพณีที่สำคัญ

ในคืนวันเดียวกันนี้มีพิธีสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งนิยมประกอบในวันเดียวกัน และกำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีที่ช่วยเสริมบารมีสะเดาะเคราะห์ เพิ่มพลังวาสนา นั่นคือ พิธีอาบน้ำเพ็ญ

แต่เดิมนิยมประกอบพิธีในเดือน ๓ ตรงกับวันมาฆบูชาของทุกๆ ปี ต่อมามีการจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เพราะถือเป็นวันที่สายน้ำทุกแห่งทั่วโลกมีความบริสุทธิ์ใสสะอาด ปีหนึ่งจะมีเพียงวันเดียวเท่านั้น

พิธีอาบน้ำเพ็ญ ปรากฏหลักฐานตามหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ความว่า

“วันนี้ ทางศาสนาพราหมณ์เรียกว่า ศิวาราตรี ตอนเช้าพวกพราหมณ์จะนำหม้อทองเหลืองเดินทูนศีรษะไปยังแม่น้ำคงคา นั่งตามริมฝั่งน้ำแล้วใช้หม้อตักน้ำขึ้นมาบริกรรมคาถา แล้วนำมาล้างหน้าบ้วนปาก จากนั้นก็กระโดดลงไปในแม่น้ำคงคา ดำลงไปในน้ำ 3 ครั้ง โกยดินตมที่อยู่ในน้ำมาฟอกถูตัวแทนสบู่แล้วจึงใช้น้ำชำระล้างถูตัวให้สะอาด เสร็จแล้วจึงเอาหม้อตักน้ำขึ้นมานุ่งผ้าให้เรียบร้อย เดินทูนหม้อน้ำมุ่งหน้าสู่เทวสถานเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป การปฏิบัติเช่นนี้ถือว่าได้อาบน้ำชำระบาปที่ได้ทำมาทั้งหมด” 

สำหรับตำรับพิธีการอาบน้ำเพ็ญที่เลื่องชื่อ คือ การอาบน้ำเพ็ญของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ซึ่งท่านจะอาบในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เท่านั้น การอาบนั้นท่านจะให้อาบกลางแจ้ง โดยรอฤกษ์ที่พระจันทร์ลอยเด่นอยู่กลางศีรษะ

ในช่วงเวลานั้นจะพบว่าเงาของพระจันทร์จะลอยอยู่กลางขันน้ำมนต์พอดิบพอดี เพราะทุกครั้งที่พระจันทร์เต็มดวง แรงพลังอำนาจจากพระจันทร์จะทำให้น้ำในโลกถูกยกตัวสูงขึ้นกว่าธรรมดาทั่วไป ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องแปลกตามธรรมชาติ

เมื่อเป็นเช่นนี้โบราณจารย์จึงได้จัดพิธีอาบน้ำเพ็ญ ผู้ที่เข้าพิธีอาบน้ำเพ็ญมีคติความเชื่อสืบต่อกันมาว่า น้ำในวันนี้เกิดจากพลังเทพประทานพร น้ำทุกหยดมีเทพในภพในภูมิต่างๆ ประกอบกับน้ำทุกสายที่ไหลบ่ามาจากป่าเขาลำเนาไพร ล้วนไหลผ่านดงสมุนไพรนานาพันธุ์

สารพัดคุณสารพัดประโยชน์ที่สามารถช่วยบำบัดเยียวยารักษาโรคได้ทุกชนิด ทำให้ ผู้ได้อาบและดื่มกินมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ผิวพรรณผ่องใส และอายุยืน

ส่วนพิธีอาบน้ำเพ็ญ ที่ถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน มักเป็นพิธีที่ถูกผสมผสานระหว่างศาสนาพราหมณ์กับพุทธ เพื่อให้เกิดพลังความเข้มขลัง เช่น มีการสร้างวัตถุมงคล พร้อมทั้งได้อาราธนาพระวิปัสสนาจารย์ผู้ทรงสมาธิคุณ เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วไป จากทั่วประเทศมาร่วมนั่งบริกรรมพระคาถานั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสกให้วัตถุ มงคล

มีคติความเชื่อว่า น้ำที่นำมาเข้าพิธีบังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ คล้ายกับงานพุทธาภิเษกพระเครื่องทั่วๆ ไป เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วม พิธีอาบน้ำเพ็ญ เกิดกำลังใจกล้าที่จะละชั่วทำแต่ความดี เสริมสร้างบารมีให้แก่ตนเองตลอดไป

สำหรับสิริมงคลอาบน้ำเพ็ญนั้น เนื่องด้วยวันสำคัญในทางศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในวันขึ้น  ๑๕ ค่ำ หรือที่เรียกว่า “คืนเพ็ญ” จึงเกิดเป็นพิธีกรรมหนึ่งขึ้นมาคือ “พิธีอาบน้ำเพ็ญ” เพราะเชื่อว่าเมื่ออาบน้ำเพ็ญแล้วจะโชคดีมีลาภ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ทำให้ชะตาชีวิตรุ่งโรจน์ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

พิธีอาบน้ำเพ็ญเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน “ประเพณีลอยกระทง” คือ เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนที่พระจันทร์เต็มดวงตรงศีรษะ ก็จะลงอาบน้ำเพ็ญตามแม่น้ำลำคลอง พิธีการอาบน้ำมนต์น้ำเพ็ญนั้น มีบันทึกไว้เป็นหลักฐานคือ การประกอบพิธีอาบน้ำเพ็ญที่วัดสุทัศนเทพวราราม สมัยสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ เสด็จท่านจะประกอบพิธีเพียงปีละครั้งเท่านั้น โดยเลือกเอาวันเพ็ญเดือน ๑๒ ถือเป็นวันที่พิเศษอย่างยิ่ง

พิธีจะเริ่มจากพระสงฆ์ทำสังฆกรรม สวดพระปาติโมกข์ อันหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งสงฆ์ทั้งปวง ต่อด้วยปฐมเทศนา เจริญพระพุทธมนต์ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

จากนั้นจะเป็นการสวดนพเคราะห์ บูชาเทพยดาประจำวันเกิด เสริมดวงชะตา เสริมวาสนา บารมี โดยพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ประจำแต่ละวัน สลับกับโหร หรือบัณฑิตอ่านโองการบูชาเทพยดานพเคราะห์ทั้ง ๙

ต่อด้วยเจริญพระคาถาพุทธาภิเษก หมายถึง พระพุทธ มีความยิ่งใหญ่ดุจดวงอาทิตย์ พระธรรม มีความเยือกเย็น งดงามดุจพระจันทร์ พระสงฆ์ เปรียบเหมือนดวงดาวที่รายล้อมอยู่ บารมี ๑๐ ทัศ สรรเสริญพุทธลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ และบทเจริญเมตตาใหญ่

ปิดท้ายด้วยการเจริญพระคาถาภาณวาร เป็นพระคาถาที่สวดตามวาระ ไม่ค่อยสวดบ่อยนัก เป็นพระคาถาขับไล่เสนียด สิ่งอัปมงคล ป้องกันภัย โรคร้ายต่างๆ และเจริญอายุวัฒนะ

อย่างไรก็ตาม ใน คืน วันลอยกระทง วัดสมรโกฏิ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒ คลองบางระมาด หมู่ที่ ๑๑แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร จะจัดพิธีการอาบน้ำเพ็ญ หน้าโบสถ์มหาอุด สมัยอยุธยา เวลา ๑๙.๓๙ น. โดยได้นิมนต์ “พระภาวนาวิสุทธิโสภณ” หรือ “หลวงพ่อมหาสุรศักดิ์ อติสักโข” เจ้าอาวาสวัดประดู่ พระอารามหลวง ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มาเจริญจิตภาวนาปลุกเสกน้ำมนต์

ในพิธีอาน้ำเพ็ญ ทางวัดได้จัดสร้าง “ตะกรุด พิสมรจันทร์เพ็ญ” ได้จารอักขระหัวใจคาถาพระรัตนตรัย และคาถาจินดามณี ของสำนักงัดกลางบางแก้ว และสำนักวัดประดู่ทรงธรรม เน้นในด้านเมตตา ค้าขาย เจริญในหน้าที่การงาน แคล้วคลาดปลอดภัย จารมือทุกดอก

นอกจากนี้ยังจัดให้มี พิธีเททองหล่อท้าวเวสสุวรรณ  เวลา 19.09 น. ซึ่งเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เป็นนายแห่งภูตผี ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไม่ดี ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งขุมทรัพย์ ใครได้หล่อได้บูชาจะทำให้เป็นผู้มีทรัพย์ เจริญรุ่งเรือง

วัดสมรโกฏิ เป็นวัดเก่า ที่ได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาดแม้จะถูกบูรณะจนดูใหม่แต่อุโบสถและวิหารยังมีเค้าของอาคารสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  คือ อาคารมีขนาดเล็กก่อผนังสูง ไม่มีเสา ผนังด้านหลังอุดตันไม่มีประตู เรียกว่า “มหาอุด”

ใบเสมาเอกด้านหน้าอุโบสถเป็นแบบ “เสมาโหล” สลักจากหินอ่อนแบบที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือ หลวงพ่อคงและหลวงพ่อดำ

การเดินจากแยกที่ถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนบรมราชชนนี ให้ใช้ถนนราชพฤกษ์มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าถนนเพชรเกษม ประมาณ 350 เมตร พบซอยวัดสมรโกฏิทางซ้ายมือ (มีซุ้มประตูวัด) ไปตามถนนในซอยประมาณ ๕๐๐ เมตร ถึงวัด (มีป้ายบอกตลอดทาง)

สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะร่วมจองเทียน นพพระเคราะห์ เป็นตำราเทียนโบราณเขียนยันต์ด้วยกระดาษสา เป็นเทียนเฉพาะตัว ด้วยบารมีของพระยันต์อำนาจพุทธคุณจะคุ้มครองดวงชะตา ของผู้ที่ได้จุดถวายเป็นพุทธบูชา ร่วมทั้งร่วมพิธีอาบน้ำเพ็ญตำรับพระสังฆราช (แพ) สอบถามรายละเอียดได้ที่วัดสมรโกฏิ แขวงฉิมพลี  เขตตลิ่งชัน กทม. โทร. 093 515 3222

 

คอลัมน์ : พระเครื่อง

ผู้เขียน   :  ไตรเทพ ไกรงู

Leave a Reply