แนะการศึกษาคณะสงฆ์ศตวรรษที่ 21 ด้วย ‘3R-7C’ใช้ ‘Big Data-AI’เสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วันที่ 8 ก.ย.2562 พระสมุห์สมบัตร เทวธมฺโม นิสิตปริญญาเอก สาขาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า คณะสงฆ์ตำบลสระขวัญ อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เปิดการเรียนการสอนหลักสูตร นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2562 ที่วัดคลองคันฉอ โดยมีเจ้าคณะพระสังฆาธิการ และพระภิกษุสามเณร เรียนรู้ ศึกษาธรรมะ จำนวน 37 รูป

การศึกษาคณะสงฆ์ในศตวรรษที่ 21 ต้องก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมแห่งการเรียนรู้ของสังคมโลก การพัฒนาการศึกษาจึงเป็นงานสำคัญของคณะสงฆ์ พระภิกษุสามเณรจะต้องปรับกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการศึกษาเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 21 จำเป็นจะต้องเพิ่มทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นให้มาก การพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่คณะสงฆ์ทุกระดับจะต้องให้ความสำคัญและกระตุ้นให้พระภิกษุสามเณรในเขตปกครองของตนเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้

#ด้วยหลักการแบบ 3 R คือ Reading อ่านออก, R Riting เขียนได้, และ R Rithemetics คิดเลขเป็น และหลักการเรียนรู้แบบ 7 C ได้แก่ Critical Thinking and Problem Solving ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา Creativity and Innovation ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม Cross-cultural Understanding ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ Collaboration, Teamwork and Leadership ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ Communications, Information, and Media Literacy

ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ Computing and ICT Literacy ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Career and Learning Skills ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ของพระสงฆ์ให้มีความรู้ทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและทันการเปลี่ยนแปลงพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษาท้องถิ่น ชุมชน และสังคมนั้นๆ เพื่อให้คำสอนของพระพุทธศาสนาเข้าไปช่วยเสริมความสามัคคี การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืนตลอดไป

พร้อมกันนี้ศิษย์เก่า มจร พธ.บ.รุ่น 38 คณะมนุษยศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ทั้งนี้ต้องกราบขอบพระคุณและสำนึกในพระคุณแห่งบูรพาจารย์ทั้งหลายที่ท่านได้ต่อสู้และเสียสละมาโดยตลอด จนทำให้เรามีวันนี้ได้ แต่สัจธรรมอย่างหนึ่งที่จะต้องเข้าใจว่า การเป็นแชมป์แสนอยาก แต่การรักษาแชมป์ให้คงอยู่ตลอดไปนี่สิยากกว่า ดังนั้น มุมมองผมในฐานะที่มหาจุฬาฯ มีเอตทัคคะด้านปรัชญาและพระพุทธศาสนา เพราะปรัชญาคือหลักคิดที่เป็น Logic ที่วิทยาศาสตร์นำไปเขียนเป็น Algorithms ประยุกต์ใช้กับคอมพิวเตอร์และสอนให้ AI (ปัญญาประดิษฐ์) เรียนรู้ข้อมูลจาก Big Data ส่งผลทำให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต เช่น AI ช่วยหมอวินิจฉัยโรค AI จัดทำบัญชี AI ทำธุรกรรมการเงิน AI การบริหารจัดการ หรือ AI ช่วยในการประเมิน QA และ EdPEx เป็นต้น

และในอนาคตอาจจะเห็น AI เผยแผ่พระพุทธศาสนา สอนกรรมฐาน สอนวิปัสสนา แสดงธรรมไขปัญหาชีวิตให้กับมนุษย์ได้ และที่สำคัญสามารถแสดงธรรมได้หลายภาษา ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยหรือบางคนอาจจะมองว่าเป็นไปไม่ได้ ขนาดมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ยังทำไม่ได้ แต่นี่คือมุมมองการก่อเกิดปรัชญา และเชื่อว่ามหาจุฬาฯทำได้ถ้ามหาจุฬาฯคิดจะทำ โดยเริ่มต้นจากนิสิตปริญญาโท-เอก ให้เน้นการวิจัยด้าน Big Data (ปกติการวิจัยจะเก็บข้อมูลเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนมาเก็บข้อมูล Big Data คู่ขนานกันเท่านั้น) เช่น ข้อมูล Big Data ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ Big Data ด้านการจัดการเชิงพุทธ หรือ Big Data ด้านการบริหารการพัฒนา เบื้องต้นเรียนรู้เพื่อการวิเคราะห์ Neural Network Regression เป็นอันดับแรกก่อน และเรียนรู้การใช้โปรแกรมภาษา Python หรือ R/Rstudio ซึ่งเป็นโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล Big Data เพื่อนำไปสอนให้ AI เกิดการเรียนรู้ต่อไป ทั้งMachine Learning และ Deep Learning

Leave a Reply