โยมทุกข์อาตมาก็ร้อนใจ! ฝุ่นขนาดเล็กกับผลกระทบที่ไม่เล็กต่อสังคมไทย

บ่ายวันที่ 19 ธันวาคม 2562 “เครือข่ายอากาศสะอาด” ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 โดยได้นำนิทรรศการภายใต้แคมเปญ “Making the Invisible, Visible” มาจัดแสดง ณ บริเวณ ชั้น 2 หน้าเวทีกลาง พร้อมทั้งมีการแนะนำและสาธิตระบบติดตามและแจ้งเตือนคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของประชาชน (C-Air & AQHI Thailand) การจัดแสดงผลงานสื่อสร้างสรรค์ สะท้อนประเด็นปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในรูปแบบต่าง ๆ โดยนักศึกษาอาสาสมัคร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นอกจากนี้ เครือข่ายฯยังรับผิดชอบจัดเสวนาห้องพัฒนานโยบายสาธารณะ เรื่อง “PM2.5ฝุ่นขนาดเล็กกับผลกระทบที่ไม่เล็กต่อสังคมไทย” นำทีมโดย รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณครูกฤษฎิ์ บัวเผื่อน เครือข่ายพ่อแม่ตื่นรู้สู้ภัยฝุ่นและโรงเรียนรุ่งอรุณ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณรุจิพัฒน์ สุวรรณสัย กลุ่มผู้ประกอบการที่พักรายย่อย เกสท์เฮ้าส์ โฮสเทล และโฮมสเตย์ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย คุณณาตยา แวววีรคุปต์ จาก Thai PBS ณ ห้อง BB 204

จากการที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ พบว่าเวทีเสวนาเป็นไปด้วยท่าทีของความห่วงใย ใส่ใจ และร่วมใจกันแสวงหาทางออก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม ดังนี้

พีเอ็ม 2.5 เป็นสารมลพิษชนิดหนึ่งที่เป็น “ฝุ่น” และ “ละออง” ของแข็งหรือของเหลว ที่มีขนาดอนุภาคเล็กกว่าหรือเท่ากับ 2.5 ไมครอน (บางส่วนอาจเล็กกว่า 0.1 ไมครอน) ที่แขวนลอยและฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ การที่มีขนาดเล็กแต่เมื่อแผ่รวมกันแล้วจะมีพื้นผิวรวมกันมากมหาศาล ทำให้สามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยในบรรยากาศรอบตัวเราได้ในปริมาณสูง โดยเฉพาะสารที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ เช่น โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง สารก่อกลายพันธุ์ และยังสามารถทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ และไปกระตุ้นให้โรคภูมิแพ้กำเริบขึ้นได้ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่าฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพ ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ที่สามารถถูกสูดเข้าไปสะสมในถุงลมฝอยของปอด หรือแทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายสารพิษไปทั่วร่างกาย โดยพีเอ็ม 2.5 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของประชากรโลกในปี 2558 (Cohen, 2017) องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าในปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 7 ล้านคน โดยเกิดจากมลพิษจากอากาศภายนอกอาคาร (Ambient Air) 4.2 ล้านคน โดยร้อยละ 91 เกิดในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก (WHO, 2018a) โรคภัยที่ตามมาคือ โรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบทั้งโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงมะเร็งปอด ผู้ที่ได้รับพีเอ็ม 2.5 ในระดับสูงยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับ โรคใต โรครูห์มาติก โรคอัลไซเมอร์ และโรคเบาหวานได้ด้วย ส่วนในเด็กอาจส่งผลระยะยาวต้อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของเด็กได้

ประเทศไทยยังไม่มีระเบียบ กฎหมายหรือมาตรการใด ๆ ที่บังคับว่าจะต้องมีการปรับเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะ อย่างเช่นหน่วยงาน EPA ของสหรัฐอเมริกา เคยถูกฟ้องร้องเนื่องจากไม่ปรับเกณฑ์มาตรฐาน ตามที่บทบัญญัติของกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) กำหนดไว้ ค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่คิดจากค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของการวัดระดับพีเอ็ม 2.5 ไม่น่าจะเป็นเครื่องมือเตือนภัยที่เหมาะสม

ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ยังมีผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งแม้ปัจจุบันจะยังมีข้อมูลไม่มากนัก แต่เริ่มมีหลักฐานที่ประเมินเป็นตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ได้ว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบกับประเทศไทยในภาพรวมอย่างไร งานวิจัยที่ได้พยายามตีมูลค่าต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่นพิษในประเทศไทย พบว่า หากทุกครัวเรือนในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ มูลค่าต้นทุนทางสังคมจากฝุ่นพีเอ็ม 10 ของกรุงเทพฯ จะมีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทยถึง 446,023 ล้านบาท/ปี ในกรณีที่สมมติให้ทุกครัวเรือนในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากฝุ่นพีเอ็ม 10 ต้นทุนของสังคมไทยรวมทุกจังหวัดจะมีมูลค่าสูงถึง 1.79 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.62 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเบื้องต้น (GDP) ณ ปี 2560

สำหรับประเทศไทยซึ่งภาคการท่องเที่ยวเป็นกลจักรสำคัญในการสร้างรายได้ให้ประเทศ เริ่มมีสัญญาณผลกระทบจากมลพิษทางอากาศบ้างแล้ว โดยสังเกตได้จากการจองห้องพักที่ลดลง ทำให้โรงแรมต้องจัดโปรโมชั่นลดราคาลง หากระดับมลพิษมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อไป โดยเฉพาะในช่วงธันวาคมถึงมีนาคม ที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับฤดูกาลที่ชาวตะวันตกและชาวเอเชียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็น่าจะมีผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ที่เป็นทางเลือกการท่องเที่ยวอีกมาก

มาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น มาตรการสร้างความตระหนักรู้เรื่องผลกระทบเชิงลบจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มาตรฐานไอเสียและน้ำมันยูโร 3 และยูโร 4 ที่ใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มาตรการสั่งห้ามเผา นั้นยังไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ได้อย่างรอบด้าน เนื่องจากยังขาดความเข้าใจภาพรวมของปัญหา การให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเสรษฐกิจที่ขาดความสมดุล

การจัดการปัญหาฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 อย่างยั่งยืน มีข้อเสนอ ดังนี้

ต้องมีกฎหมายใหม่และองค์กรใหม่ ได้แก่ พรบ.อากาศสะอาด รับรองสิทธิของประชาชนที่จะหายใจอากาศสะอาด และมีบทบัญญัติเพื่อกำหนด “หน้าที่ของรัฐ” ให้รัฐต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการทำให้สิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

จัดตั้งองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นองค์กรกำกับดูแลและสั่งการที่มีอำนาจจริงในการจัดการ
สิ่งแวดล้อมทั้งประเทศ ซึ่งรายงานตรงต่อรัฐสภา สามารถบูรณาการมาตรการต่าง ๆ ในการจัดการสิ่งแวดล้อมและอากาศสะอาด โดยเฉพาะการจัดการหมอกควัน ไฟป่า และแหล่งกำเนิด พีเอ็ม 2.5 รวมทั้งบูรณาการการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อขจัดปัญหาความกระจัดกระจายของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เคยมีมา

ขอบคุณภาพ ข้อมูลและศึกษาเพิ่มเติมที่:

https://thailandcan.org/movem…/making-the-invisible-visible/

Cr.เฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai

Leave a Reply