จากสถานการณ์โรคโควิด-19 มีการแพร่ระบาดกว้างขวางในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และในปริมณฑลอย่างรวดเร็ว ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ออกข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554 หลายฉบับต่อเนื่องสืบมาตามลำดับ โดยมุ่งสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติม เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ
กรณีดังกล่าวคณะสงฆ์อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ นำโดยพระครูปริยัติภัทรคุณ (พระมหาเสนอ สิริภทฺโท ป.ธ.5,พธ.บ.,M.A.) เจ้าอาวาสวัดสิงห์วงศ์ ประธานเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าคณะอำเภอนางรอง ได้กล่าวว่า…จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มเกินกำลังที่จะรับมือมากขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ต้องเผชิญปัญหาความไม่สมดุลของจำนวนผู้ป่วยมากล้น แต่ไม่มีเตียงหรือหมอให้รักษา การกักตัวที่บ้านหรือในชุมชน จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปผู้ที่มีภูมิลําเนาในพื้นที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งผู้ที่ปรากฏอาการและไม่ปรากฏอาการ ยังมีการเดินทางกลับมายังหมู่บ้าน สู่ชุมชนซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับและป้องกันมิให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่เพิ่มขึ้น จากที่ประชุมคณะสงฆ์ระดับอำเภอได้ให้ความเห็นชอบ แนวทางอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับสถานที่กักตัวและร่วมกันดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน community isolation”มาตรการการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยวิธีแยกกักตัวที่บ้านและการแยกกักตัวในชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยตัดวงจรการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังจะช่วยดูแลผู้ติดเชื้อและแก้ปัญหาคนตกค้างตามบ้านและชุมชน ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมระดับชุมชน ถือเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงประสานกับชุมชนท้องถิ่น จัดตั้ง Community Isolation เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีการทำงานร่วมกับองค์กร ภาคีเครือข่าย มูลนิธิ คณะสงฆ์ ประชาชน ภาครัฐ ขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบ“สังฆประชารัฐ”รวมพลังชุมชนท้องถิ่น ดูแลผู้ป่วยโควิด-19
เป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีการรวมพลังคณะสงฆ์ ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ วัด โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีศูนย์เก็บตัวเพื่อสังเกตอาการระดับท้องถิ่น (Local Quarantine) และศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (community isolation) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัด โรงเรียน ส่วนราชการ รวม 22 ศูนย์ กระจายครอบคลุมเขตพื้นอำเภอนางรอง ครบทุกตำบล เพื่ออำนวยความสะดวกและสามารถให้การวินิจฉัยเร็ว ลดอาการรุนแรงจากโรคและการเสียชีวิต การจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในชุมชน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยและลดการแพร่ระบาดในชุมชนผู้ป่วย COVID-19 โดย“สังฆประชารัฐ”รวมพลังชุมชนท้องถิ่น ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ขับเคลื่อนภารกิจดูแลทั้งสุขภาพกาย มีการจัดกิจกรรมให้ผู้ที่เก็บตัวได้ผ่อนคลายเพื่อลดความเครียดและปรับสภาพจิตใจรวมทั้งพัฒนาสุขภาพสังคมไปพร้อม ๆ กัน
อนึ่ง ในเขตเทศบาลเมืองนางรอง ซึ่งนอกจากมีศูนย์เก็บตัวเพื่อสังเกตอาการระดับท้องถิ่น (Local Quarantine) และศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (community isolation) แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดย คุณแม่สมนึก ตันเจริญและครอบครัว ได้สนับสนุนสถานที่โกดังของบริษัทโรงสีข้าวนางรอง จำกัด อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ขนาด 400 เตียง ของอำเภอนางรองเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมารักษาที่ภูมิลำเนา ลดความแออัดโรงพยาบาลหลักได้อีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ คงทรัพย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ กรรมการและเลขานุการเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า….จริยาวัตรพระสงฆ์ถือได้ว่า เป็นต้นแบบที่ประชาชนนับถือและมีวัดเป็นศาสนสถานที่รองรับความสิ้นหวังหมดกำลังใจ มีพระสงฆ์ได้ปฏิบัติศาสนกิจตามภารกิจองค์กรปกครองสงฆ์ทั้งด้านการปกครอง การจัดการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการและการสาธารณสงเคราะห์ โดยผ่านกระบวนการสร้างการรับรู้และแนะนำสั่งสอนให้ประชาชนมีสติได้ด้วย ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังกล่าว
พระสงฆ์ได้เกื้อกูลสังคม หนุนเสริมบทบาทของวัด ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระภิกษุสามเณร แต่ยังเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชน เพียงพอที่จะอนุเคราะห์ประชาชนผู้ประสบความยากลำบาก ดำเนินภารกิจตามบทบาทหน้าที่ที่ดำรงอยู่นับแต่อดีตกาล ซึ่งโดยภาพรวมคณะสงฆ์ทั่วประเทศได้ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 สนองพระดำริสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคมรวมทั้งนโยบายรัฐบาลในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) มีการปฏิบัติตามมาตรการมติมหาเถรสมาคมและประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด มีการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบาก เดือดร้อนในสถานการณ์ต่าง ๆ เสมอมา ด้วยเช่นกัน การขับเคลื่อน“สังฆประชารัฐ”รวมพลังชุมชนท้องถิ่น ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในครั้งนี้ ถือได้ว่าทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันสานพลังใจสู้ภัยโควิด ไปพร้อม ๆ กัน
Leave a Reply