ลงพื้นที่ภาคใต้ ฟังเสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่ คิดอย่างไรกับ “โคก หนอง นา”

        การเดินทางลงชุมชนหมู่บ้านของทีมงานข่าวเฉพาะกิจ   ซึ่งตั้งเป้าไว้ 10 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค เพื่อลงไปฟังเสียงสะท้อนของประชาชนเกี่ยวกับโครงการโคก  หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน โดยลงไปพูดคุยกับประชาชนหลากหลายอาชีพ ทั้งนักธุรกิจ พระภิกษุ  เกษตรกร ปราชญ์ชุมชน แกนนำหมู่บ้าน หรือแม้กระทั้ง คนรุ่นใหม่ ที่จบใหม่หรืออยู่ในช่วงวัยอายุไม่เกิน 35 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนสังคมไทยที่ทรงพลัง

         “ทีมข่าวเฉพาะกิจ”  หลังจากกลับมาจากลงพื้นที่ภาคเหนือ 3 จังหวัดคือ จังหวัดเชียงใหม่,ลำพูนและจังหวัดตาก เรียบร้อยแล้ว วางแผนลงพื้นที่ภาคใต้ต่อ กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ 3 จังหวัด เฉกเช่นเดียวกันกับภาคเหนือ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช,จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพร

         นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในภาคใต้และมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุดในภาคใต้ ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 780 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถจากกรุงเทพมหานครประมาณ 11 ชั่วโมง

         การฟังเสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่ถือว่าสำคัญต่อการพัฒนาต่อยอดโครงการ โคก หนอง นา รวมทั้งมุมมองที่คนกลุ่มนี้  ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ของประเทศไทย ทำไมจึงเลือกสนใจหันมาเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชา ทิ้งเงินเดือนเป็นหมื่น นั่งอยู่ในห้องแอร์ หวนกลับมาสู่อาชีพดั้งเดิมของครอบครัว

        “เอฟ” ณรงค์ศักดิ์ รักบ้าน  เด็กหนุ่มวัย 27 ปี  ใน ต.นาไม้ไผ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช   จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการพัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ ทำโคก หนอง นา บนเนื้อที่ 15 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นสวนยางพารา ปรึกษากับครอบครับว่า  จะเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชา ขอแบ่งเนื้อที่ 15 ไร่โค่นต้นยาพาราทิ้ง แล้ว ปลูกพืชแบบผสมผสาน ซึ่งในขณะที่เราลงพื้นที่พูดคุย พื้นที่ได้มีการขุดสระเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้เอามื้อสามัคคี   เมื่อถามถึงบทบาทของกรมการพัฒนาชุมชนในการเข้ามาช่วยเหลือ เอฟ ตอบว่า

          “ถ้าสมมติว่าไม่มีกรมการพัฒนาชุมชนยื่นมือมาช่วยเหลืออาจจะทำได้ไม่ 100 % ก็คืออาจจะทำได้  แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องใช้ระยะเวลาที่มันสูงขึ้นเหมือนกับว่าตอนแรก ตรงนี้ผมตั้งเป้าไว้ 10 ปี คือจะทำทุกอย่างให้เสร็จหมดคือให้มีครบทุกอย่าง   แต่ว่าพอมีกรมการพัฒนาชุมชน ยื่นมือมาช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องของทุนก็ตั้งเป้าไว้เหลือแค่ 5 ปีสูงสุด..”

        เมื่อทีมงานถามต่อว่าทำไมจึงเดินทางสายนี้ เอฟ ตอบว่า

       “ เอาจริง ๆ จุดเริ่มต้นของผม ผมชอบงานอิสระ งานอิสระก็แน่นอนว่าเราต้องเป็นนายของตัวเอง ก็มีอยู่ไม่กี่งาน หนึ่งคือ ธุรกิจส่วนตัว สอง ก็คือการเป็นเกษตรกร แต่ผมเห็นพื้นที่ของผ  เวลาช่วงหน้าแล้งก็แล้งจัด แล้วก็พอช่วงน้ำท่วมก็ท่วมเยอะ ผมเห็นว่ามันเป็นปัญหาซึ่งเมื่อมันเป็นปัญหาก็ต้องแก้ไข เพราะพื้นที่ของผมตรงนี้เป็นพื้นที่รับน้ำโดยตรง แล้วผมก็ตัดสินใจตอนแรกจะทำธุรกิจส่วนตัวแต่ว่ามาทางนี้ดีกว่า ผมก็เลยศึกษาในเรื่องของศาสตร์พระราชา ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในทฤษฎีต่าง ๆ ของท่าน  แต่ผมไปจับเอามาหนึ่งทฤษฎีก็คือทฤษฎีบันได 9 ขั้นของในหลวงก็จะมีขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้า ซึ่งคิดว่าหากเราทำได้แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว..

        พื้นที่ตรงนี้ตั้งใจจะทำเป็นฐานเรียนรู้แค่ 6 ฐาน ขอคนที่สนใจจริง ๆ มาดูมาเรียนรู้จริง ๆ  ต่อจากนั้นก็อาจจะมีการทำโฮมสเตย์เล็ก ๆ ไว้สำหรับคนที่สนใจเรื่องอาหารและผักปลอดสารพิษ..ตอนนี้ฐานเรียนรู้ยังไม่ได้ทำรออุปกรณ์จากกรมการพัฒนาชุมชนอยู่ ซึ่งขอไปนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับ”

        เช่นเดียวกันกับ “สนธยา รัตนบุรี” หรือ ป๊อป วัย 33 ปี ยึดอาชีพอิสระเลี้ยงไก่ไข่กว่า 3 พันตัว ใช้เวลาว่างหันมาสนใจทำโคก หนอง นา บนเนื้อที่ 3 ไร่   ป๊อบบอกกับเราว่า  ทำเองมาก่อนแล้วประมาณ 3 ปี เพราะอยากกินผักปลอดสารพิษ ตอนนี้ที่แปลงขุดสระเรียบร้อยแล้ว มีปลูกต้นทุเรียน ต้นมะพร้าว ผลไม้มังคุด ลองกอง ลางสาด และมะพร้าว

        “ที่แปลงยังไม่ได้เอามื้อสามัคคี ของที่ พช. ให้เขียนเบิกไปยังไม่ได้ ก็ไม่ทราบว่าติดขัดอะไร เพราะขอไปนานแล้ว อยากฝากให้ทางผู้ใหญ่ดูแลตรงนี้หน่อย..”

          ไม่ไกลจากพื้นที่ของเอฟและป๊อบมากนัก เราเดินทางไปหา “พิม” สุฑามาส จันทร์มี อดีตพนักงานบริษัททัวร์จังหวัดกระบี่ ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจในห้วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด -19  จึงลาออกจากงานย้ายกลับมาอยู่กับพ่อและแม่ และขอแบ่งพื้นที่สวนยางพารา 3 ไร่ทำโคก หนอง นา

          “พิม” บอกกับเราว่า ตอนนี้เป็น นพต.หรือ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชน ความจริงสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มานานแล้วตั้งแต่อายุประมาณ 25 ปี แต่ว่าตอนนั้นยังทำงานบริษัทอยู่ ยังไม่ได้หันกลับมาตรงนี้ แต่พอลาออกจากงานมาอยู่บ้าน  ก็เข้ามาทำในส่วนนี้  มาสมัครทำงานกับกรมการพัฒนาชุมชน แล้วก็ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ตั้งใจผลิกพื้นของตัวเอง ทำให้เป็นเกษตรพอเพียงหมดเลย โดยขอที่ดินพ่อกับแม่ของทำตรงนี้ ซึ่งทั้งสองก็สนับสนุนเต็มที่

          “ ปัญหาที่ดินตรงนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำ เพราะติดห้วย มีน้ำตลอดปี สระที่ขุดไว้ไม่มีน้ำจึงไม่ใช้ปัญหา ตอนนี้ลงไม้เศรษฐกิจไว้หมดแล้ว ขอจากกรมป่าไม้  ปลูกผักขายได้ ไม่พอขายด้วยซ้ำไป อยากทำเป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนมาดูด้วย ก็หวังลึก ๆ ว่าจะต่อยอดได้ แต่ยังน้อยเราทำแล้วเป็นป่า เพิ่มอากาสที่ดีให้กับชุมชน..”

            จากการสังเกตพื้นที่ของพิมอยู่ติดกับลำห้วย การขุดสระน้ำเก็บน้ำไม่อยู่ พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย บนพื้นที่แปลงปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ไผ่ไว้เต็มพื้นที่ ในขณะที่พันธุ์ไม้หลากหลายชนิดที่เตรียมไว้กำลังรอการปลูกในพื้นที่เพิ่มเติม ตามความต้องการของเจ้าของแปลงที่จะทำเป็นป่าไม้ 5 ระดับ ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

           การเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชาในการทำงานหรือการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามทฤษฎีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 ทรงมอบให้กับเป็น มรดกแผ่นดินมากกว่า 40 ทฤษฎี ซึ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกับการดูแลทรัพย์กรธรรมชาติ น้ำ ดิน อากาศ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎี 9 ขั้นบันได,ทฤษฎีแกล้งดิน,ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างหรือแม้กระทั้งทฤษฎีใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมที่พระองค์เคยคิดค้นไว้ก็มี ทฤษฎีเหล่านี้ส่วนใหญ่ประชาชนในชนบทในต่างจังหวัดเป็นคนนำไปปฎิบัติ คนเมืองจำนวนน้อยมากที่รับรู้

          การปลูกเศรษฐกิจเชิงเดียวปัจจุบันกำลังถูกท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกษตรกรที่เจริญตามรอยศาสตร์ของพระราชา ส่วนมากมักจะทำเกษตรแบบผสมผสานไม่เว้นแม้กระทั้ง  “เกรียงศักดิ์ ไพลดำ” หรือ “ปาล์ม”  อีกหนึ่งในผู้สนใจหันมาทำโคก หนอง นา แบบเกษตรผสมผงาน ปลูกทุกอย่างในพื้นที่โคก หนอง นา รวมทั้งเลี้ยงปลา ปู หอย และมดแดงด้วย

        “ปาล์ม”  เกรียงศักดิ์ ไพลดำ  มีแปลงทำโคกหนองนาอยู่ใกล้ ๆกับบ้าน ณ ตำบลที่วัง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช  บอกกับเราว่า

         ทำพืชแบบผสมผสานมาแล้วประมาณ 2 ปี มีทั้งใบมะม่วงหิมพานต์,ผักหวาน,กล้วย, ทุกวันนี้มีรายได้เดือนหนึ่งประมาณ 2.5- 3 หมื่นบาท จากเดิมเราทำสวนทำไร่หมายถึงทำเป็นเกษตรเชิงเดียวอย่างเดียว คือ ยางพาราบ้าง ปาล์ม  เพราะว่าเราทำสวนก็ตัดยาง (กรีดยาง)  แต่งปาล์ม พอได้เงินมาเราก็มาซื้อผักซื้อปลากินซื้อหอยกิน จึงคิดตั้งคำถามว่า เราก็มีที่ดินอยู่ ดิน น้ำสมบูรณ ทำไมเราไม่สร้างขึ้นมาเอง ก็เลยคิดว่าดีกว่าเราไปซื้อเพื่อน เรามาสร้างได้แล้วที่เหลือได้กิน แบ่งปันเพื่อนแล้วก็ขาย เราก็มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง  ตอนนี้บอกเลยว่า รายได้ดีกว่าทำพืชเชิงเดียว เพราะพืชเชิงเดียว เราก็ได้แค่หน้าเดียว สมมติว่าราคาตกต่ำเราก็ได้เงินที่น้อยกว่าเดิม แต่ถามว่าพืชผสมผสานที่เราทำ  เราทำหลาย ๆ อย่างตัวหนึ่งราคาไม่ได้ ตัวหนึ่งราคาก็สูง เฉลี่ยแล้วมันก็ได้มากกว่า อย่างใบมะม่วงหิมพานต์อ่อนตอนนี้ได้ กก.ละ60 บาท.ผักหวานกำหนึ่ง 10 บาท เราไปวางขายบ้าง แม่ค้ามารับบ้าง ไม่พอขาย

          ปาล์ม พาทีมงานเราเดินรอบ ๆ บริเวนพื้นที่ทำทำนาปลูกไม้กฐินไว้ พร้อมกับบอกว่า ลงสมัครทำโคกหนอนาไว้จำนวน 3 ไร่ ตอนนี้สระขุดเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่พวกอุปกรณ์ที่ทางกรมการพัฒนาชุมชนยังไม่ได้มามอบหมาย ในแปลงนอกจากมีนาข้าวจำนวนหนึ่งแล้ว ตอนนี้ปล่อยกบ ปล่อยปลา และหอยไว้เต็มบ่อเลย ไม่ต้องกลัวเรื่องรายได้ มีแน่ แต่ของให้ทำจริง

         “ต้นกฐินณรงค์ที่ปลูกไว้ผมจะเลี้ยงมดแดง จะขายไข่ ธรรมชาติมดแดงเลี้ยงไม่ยาก ให้อาหารแค่ข้าวกับปลาทู ทำเชือกไต่ระหว่างต้นไม้กับต้นไม้ เวลาเก็บอย่าไปทำลายนางพญา เดียวเขาก็สร้างรังขึ้นมาใหม่ เลี้ยงมดแดงตลาดต้องการสูง เลี้ยงไม่ยาก เพราะเคยเลี้ยงมาก่อน

          จริง ๆ มดแดงมีทุกฤดู ไม่จำเป็นต้องหน้าแล้ง วิธีการดูรังไข่ก็คือสมมติว่าต้นไหนที่มีรังมดแดงอยู่แล้วดูกิ่งของมันว่ากิ่งของมันตั้งตรงหรือว่ามันห้อยลงมา สมมติเราดูว่ารังตรงไหนตั้งตรงหมายถึงมันพึ่งทำมันยังไม่มีน้ำหนัก แต่ว่าเมื่อใดรังของมันคล้องลงมามันโน้มตัวลงมาแสดงว่ารังนั้นมีไข่แล้วเพราะมันมีน้ำหนักของมันไง คือจาก ไข่ของมัน หากสังเกตแล้วเจอแบบนี้สอยได้เลย แล้วก็มันถามว่าสอยได้เลยมันเป็นวัฐจักรของมันเราก็สอยมา สมมติว่ามันร่วงลงมาสู่ดินมันก็เก็บขึ้นไปใหม่สร้างรังของมันเอง..”

 เมื่อทีมงานได้ถามถึงจุดอ่อนและจุดแข็งที่จะต้องแก้ไขในการขับเคลื่อนโคก หนอง นา

        ปาล์มนึกคิดอยู่สักครู่แล้วบอกกับเราว่า เรื่องจุดอ่อนเฉพาะพื้นที่ของตนยังไม่เจอ เพราะมองเห็นแต่ประโยชน์ที่ตนเองและชาวบ้านได้รับ ส่วนเรื่องจุดแข็งมีเยอะ อย่างเช่น เรื่องห่วงโซ่อาหารมีแน่ ถามว่าลูกเมียก็ไม่อด คือได้กินทั้งหมด สองเผื่อแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน และ สาม เหลือก็ขาย  ตรงนี้มันคือ หลักการของทฤษฎีบันได 9 ขั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราอยู่แล้ว

        การลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชของทีมข่าวเฉพาะกิจ เพื่อรับฟังปัญหาและผลการดำเนินงานโครงการโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน ของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มองเชิงบวก อาจจะมีปัญหาบ้างในเรื่องการส่งมอบอุปกรณ์และต้นไม้ พืชผัก ที่ทำเรื่องแล้วล่าช้า และต้องการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในการเข้าดูแปลง  ซึ่งลักษณะแบบนี้เกิดมีหลายแปลง ที่ทางผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชนจะต้องรับฟังและนำไปแก้ไขปัญหา

          ตอนหน้าเราจะลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดใหญ่อันดับหนึ่งในภาคใต้ จะไปดูว่าผลสำเร็จของการทำโคก หนอง นา มีอะไรบ้าง เพราะจากข้อมูลที่ได้รับ  มีคนทำโคกหนองนา สร้างรายได้เดือนหนึ่งหลายหมื่นบาทจากการขายดอกดาวเรืองตามโครงการ 1 ไร่ 1 แสน และอีกแปลงปลูกพืชผสมผสานกว่า 300 ชนิด สร้างรายได้งามไม่แพ้กัน โปรดติดตามตอนหน้า??

        

    

 

    

Leave a Reply