ตามไปดู!! มหาดไทยจับมือ “คณะสงฆ์” ขับเคลื่อนงาน “สาธารณสงเคราะห์”

ไม่ทราบว่าคณะสงฆ์และประชาชนทั่วไปจำเหตุการณ์ ๆ หนึ่งได้หรือไม่ หากจะว่าไปแล้วมันคือ “บันทึกข้อตกลงร่วม” ครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่าง มหาเถรสมาคม และ กระทรวงมหาดไทย ได้ลงนาม “MOU” ที่จะร่วมมือกัน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน ภายใต้เจตนารมณ์ร่วมกันว่า พระพุทธศาสนาอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ในอดีตที่ผ่านมาวัดเป็นศูนย์กลางแห่งการสาธารณสงเคราะห์มาตลอด และทั้งมีพระสงฆ์เป็นผู้นำด้านสาธารณสงเคราะห์อย่างน้อย 4 ประการคือ เป็น ครู คลัง ช่าง หมอ ด้วยการอบรมสั่งสอน เป็น คลังอาหาร สรรพวิทยาการ โดยพระสงฆ์ที่มีความสามารถทางด้านงานช่าง และวัดเป็นศูนย์กลางของความรู้ทางด้านยาสมุนไพร แพทย์ทางเลือก อีกทั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2560 มหาเถรสมาคม และรัฐบาล มีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการ “ปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา” คือ ต้องการให้วัดกลับมาเป็นศูนย์กลางชุมชนหมู่บ้าน ให้พระสงฆ์กลับเข้ามามีบทบาทในการเป็น “แกนนำ” เป็นที่พึ่งของ ชุมชนหมู่บ้านเหมือนเดิม

ซึ่งสอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่ประชาชนคนไทยจำนวนมากกำลังประสบกับความทุกข์ยาก มหาเถรสมาคมและกระทรวงมหาดไทยจึงได้ร่วมกันรื้อฟื้นสิ่งที่เป็น “เสาหลักของประเทศชาติ” ให้กลับมาเข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมและฟื้นฟูภูมิปัญญาในการเลี้ยงอาชีพตามหลัก “สัมมาชีพ” ซึ่งตรงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประยุกต์สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น อันเป็นการสนองพระบรมราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนเช่นเดียวกัน

“ผู้เขียน” ได้รับการติดต่อจาก “ปลัดเก่ง” คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ร่วมคณะไปดูงานที่จังหวัดเชียงราย ไปพูดคุยกับคณะสงฆ์และชาวบ้านที่บ้านดอยฮางในซึ่งตั้งอยู่ในเขต “ดอยอินทรีย์”  อันมี พระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช เจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยาน (ดอนอินทรีย์) เป็นแกนนำ

ในฐานะสื่อมวลชน “ผู้เขียน” รู้จักบรรดาปลัดกระทรวงอย่างน้อย 5-6 กระทรวง แต่ละคนก็มีข้อดีที่แตกต่างกัน แต่หากพูดถึงระดับปลัดกระทรวงที่หันมาให้ความสนใจ ให้ความสำคัญและทำงานแบบใกล้ชิดกับคณะสงฆ์ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงานร่วมกันระดับนโยบาย ไม่มีปลัดกระทรวงคนไหนเทียบเท่า “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” คนนี้  อาจเป็นเพราะ หนึ่ง ปลัดเก่งมาจากเด็กต่างจังหวัดคือจังหวัดตราด ผูกพันกับวิธีคิด วิถีวัฒนธรรมประเพณี ที่ปู่ย่าตายายสั่งสอนมาดี คือ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ให้มีความเคารพนอบน้อมต่อสถาบันสงฆ์ จึงผูกพันกับพระสงฆ์และวัดมาตั้งแต่เยาว์วัย  สอง ตอนที่มาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครก็มีความใกล้ชิดกับวัด เป็นเด็กกิจกรรมออกค่ายไปอยู่ตามชนบทจึงผูกพันกับชาวบ้าน ใกล้ชิดกับพระสงฆ์ และ สาม ตอนรับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ก็ทำงานร่วมกับคณะสงฆ์ ทั้งเรื่องผู้ว่าหิ้วปิ่นโตเข้าวัดทุกวันพระ,ทั้งเรื่องการขับเคลื่อนศีล 5

“ผู้เขียน” จึงกล้าพูดเต็มปากว่าปัจจุบันไม่มี “ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่” คนไหนเข้ามาสนับสนุนและเกื้อกูลให้กับคณะสงฆ์ และสนองงานพระพุทธศาสนาเท่ากับปลัดกระทรวงมหาดไทยคนนี้

 “จังหวัดเชียงราย”  มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นที่ตั้งของหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ซึ่งเป็นนครหลวงก่อนการกำเนิดอาณาจักรล้านนา มี “คำเมือง” เป็นภาษาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในรูปแบบล้านนา ไทใหญ่ ไทเขิน และไทลื้อจากสิบสองปันนาผสมผสานกัน นอกจากนี้จังหวัดเชียงรายยังขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองศิลปะ” และเป็นที่เกิดของศิลปินที่มีอิทธิพลอย่างมากในวงการศิลปะไทย โดยเฉพาะ ถวัลย์ ดัชนี ผู้สร้างสรรค์บ้านดำ และ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้สร้างสรรค์วัดร่องขุ่นและหอนาฬิกาเมืองเชียงราย

เชียงรายเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของประเทศไทยในเชิงภูมิศาสตร์ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าและประเทศลาว ทางตอนเหนือและตะวันออก, จังหวัดพะเยา และ จังหวัดลำปาง ทางทิศใต้ และจังหวัดเชียงใหม่ ทางทิศตะวันตกจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของชาวไทย ประกอบด้วยเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง หิรัญนครเงินยางเชียงแสน และ อาณาจักรล้านนา เช่น เมืองเงินยาง เมืองเชียงแสน และ เมืองเชียงรายจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ มีแม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายสำคัญ ทำเลที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศพม่า และประเทศลาว หรือรู้จักกันในนามของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ

เมื่อถึงกำหนดเดินทางเช้าวันที่ 2 เมษายน 2565 คณะเดินทางของเราประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทย,รองปลัดกระทรวงมหาดไทย,รองอธิบดีกรมการปกครอง ผู้ติดตามไม่มี หิ้วกระเป๋าเอง หากินกันเอง ไปแบบสบาย ๆ คือ สนามบินจังหวัดเชียงราย เมื่อไปถึงมีคณะผู้ว่าราชการจังหวัดมารอต้อนรับและพาไปรับประทานอาหารกลางวันเรียบร้อยแล้วเดินทางไปสู่พื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย 3 ท่านล่วงหน้าไปก่อนแล้วคือ พระพิพัฒน์วชิโรภาส , ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล และรองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์

 ณ ที่วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงรายแห่งนี้ จากการฟังคำพูดของ พระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยาน (ดอนอินทรีย์)  และคำบอกเล่าของปลัดเก่ง ทำให้ผู้เขียนรู้ว่า “พระของประชาชนเป็นอย่างไร” พระดูแลป่าลำบากมากแค่ไหน และได้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นเมื่อได้เห็นชุมชนคนยากจนที่รัฐจัดสรรที่ดินให้คนละ 1 ไร่ อยู่กันอย่างไร  ซ้ำภาพคำนิยามว่า “บวร” ดอยอินทรีย์คือ ชุมชนตัวอย่างที่มีรูปธรรมชัดเจนมาก ซึ่งคำว่า “บวร” ผลสำเร็จจากตรงนี้มีความสำคัญมาก หากต้องการจะทำงาน “ด้านสาธารณสงเคราะห์” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ บ้าน วัด และราชการ ขับเคลื่อนร่วมกัน

และการทำงานคณะสงฆ์จะใช้มิติเดิมคือ “ขอปากเปล่า” เป็นเรื่องยากในปัจจุบัน หากพิจารณาให้ดี  “ถูกต้องแล้ว” ที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์  ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้ลงนาม “MOU” ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยที่มี คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงเป็น “แม่ทัพ” ค่อยสนองงานคณะสงฆ์ ซ้ำมีพระพิพัฒน์วชิโรภาส “มือทำงาน” ของสมเด็จธีร์ เป็น “ตัวเชื่อม” ระหว่างคณะสงฆ์กับคนกระทรวงทำให้งานนี้ค่อนข้างราบรื่น

ตั้งแต่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ในนามตัวแทนมหาเถรสมาคมและกระทรวงมหาดไทยเซ็นต์ MOU หรือ “บันทึกข้อตกลงร่วม” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การประชุมระหว่าง 2 องค์ ครั้งนี้น่าจะเป็น “ครั้งแรก” และ จังหวัดเชียงรายคงเป็นแรกที่ “นำร่อง”  ซึ่งที่ประกอบด้วย พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย รวมทั้งเจ้าคณะอำเภอและปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัด ผู้ว่า และนายอำเภอ รวมทั้งผู้บริหารท่องถิ่นในการที่จะขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสงเคราะห์ โดยที่ประชุมสรุปร่วมกันว่าต่อจากนี้จะตั้งคณะกรรมการร่วมกันระดับจังหวัดเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน รายละเอียดที่ประชุมมีมาก ตอนต่อไป จะมาสรุปรายละเอียดให้ฟัง ซึ่งตรงนี้ต้อง “สาธุการ” ให้ความมี  “วิสัยทัศน์” ของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ที่มาจับมือกับฝ่ายบ้านเมืองที่ ทำให้  “งานสาธารณะสงเคราะห์” ของคณะสงฆ์ขยายวงกว้างยิ่งขึ้นไป  โดยเฉพาะบทบาทของ “ปลัดเก่ง” สมแล้วที่สมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งให้เป็น “ไวยาวัจกรวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” 

ตอนเลิกประชุมแอบได้ยิน พระพิพัฒน์วชิโรภาส หารือกับปลัดกระทรวงมหาดไทยและคณะสงฆ์  “นอกรอบ” ว่า ต่อไปจะนิมนต์เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอโซนภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด มาทำความเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกัน ซึ่ง คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็รับปากว่าจะเชิญผู้ว่าราชจังหวัดทั้ง 17 จังหวัดมาร่วมประชุมกับคณะสงฆ์ด้วย ซึ่งทั้งหมด “มหาเถรสมาคมและกระทรวงมหาดไทย” คงจะต้องเป็นเจ้าภาพร่วม

งาน “สาธารณสงเคราะห์” หากคณะสงฆ์เอาจริงเอาจัง โดยมีฝ่ายบ้านเมืองคอยสนับสนุน   “พลังบวร” เกิดครับ!!

Leave a Reply