ต้องให้พอเหมาะ “พองาม” ควรแก่ “สมณสารูป” ปัจจุบันกระแสการทำแปลง “โคก หนอง นา” หรือแปลง “พุทธอารยเกษตร” หรือ “พุทธเกษตร” แล้วแต่ใครจะตั้งชื่อแบบไหนก็ตาม แต่สุดท้ายคือ แนวทางนี้ล้วนใช้แนวทาง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นเครื่องมือในการทำแปลงเกษตร ไม่ว่าจะเป็น พุทธเกษตร โคกหนอง นา หรือแม้กระทั้งคำว่า “พุทธอารยเกษตร” ที่ “พระเทพปวรเมธี” บอกว่า เกิดขึ้นที่ “วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ” ภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็น “แห่งแรก” ก็ตามที กระแส “โคกหนองนา” และการรณรงค์ “ปลูกผัก” เพื่อ “พึ่งพาตนเอง” ซ้ำปลอดสารพิษในรอบ 3-4 ปีมานี้กระแสตอบรับสูงมากอาจเป็นเพราะ หนึ่ง “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” เลขานุการในสมเด็จพระสังฆราช เดินทางมอบต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ผักทั่วประเทศ สอง “นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย รณรงค์จุดกระแสโครงการ “โคก หนอง นา” และ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ทำให้กระแสติดไปทุกหย่อมหญ้า และ สาม ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจปลูกผักเพื่อลดรายจ่ายครัวเรือนบ้าง ปลูกผักกินเองเพื่อให้ได้ผักปลอดสารพิษบ้าง มีคนหันมารักษาสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากผักตามท้องตลาดส่วนใหญ่ล้วนมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดโรค โดยเฉพาะ “มะเร็ง” “คณะสงฆ์” ในฐานะหนึ่งเป็น “แกนนำ” ของชุมชนและสังคม ได้รับผลพวงจากกระแสนี้ด้วยจึงร่วมกันขับเคลื่อนด้วย ท่ามกลาง “อาจมี” ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งมองอยู่ด้วยความเป็นห่วงว่า การทำแบบนี้ “ละเมิดพระวินัย” ที่เป็นหลักชัยของ “พระพุทธศาสนา” ไม่ว่าจะเป็นภาพพระสงฆ์ลง “ดำนา” ด้วยตนเอง ภาพพระภิกษุ “เก็บผัก – ขุดดิน – ตัดต้นไม้ ” พรากของเขียวออกจากกันหรืออะไรก็ตามที่ “ผู้เขียน” ขอนำบทความงานวิจัยของ “รศ.ดร.ประพันธ์ ศุภษร” อาจารย์บัณฑิตวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ทำวิจัยและเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว นำมาเผยแพร่ต่อ เพื่อประดับความรู้ เกี่ยวกับ “พระวินัย” กับสิ่งแวดล้อม โดยคัดมาบางวรรค บางตอน ดังนี้ พระวินัยเป็นพุทธบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แก่พระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติสำหรับฝึกกายและวาจาของตน อันจะเป็นพื้นฐานในการบรรลุคุณธรรมชั้นสูงสุดต่อไป และเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคมมนุษย์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ ๑) เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๒) เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ๓) เพื่อความข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๔) เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม ๕) เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายที่จะบังเกิดในปัจจุบัน ๖) เพื่อปิดกำจัดอาสวะทั้งหลายที่จะบังเกิดในอนาคต ๗) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๘) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๙) เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม ๑๐) เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยให้เกื้อกูลต่อธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เบียดเบียนสรรพสัตว์ ดังปรากฏในพระไตรปิฎกตอนหนึ่ง ความว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏพร้อมกับหมู่ภิกษุสงฆ์ ทอดพระเนตรเห็นกุฎีอันงดงามที่พระธนิยะกุมภการบุตรก่อสร้างขึ้นเพื่ออยู่จำพรรษาสำหรับตน พระองค์ตรัสถามว่า “นั่นอะไร น่าดูน่าชม สีเหมือนแมลงค่อมทอง” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้น ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนโมฆบุรุษจึงขยำโคลนก่อกุฎีดินล้วนเล่า โมฆบุรุษนั้นชื่อว่าไม่มีความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย พวกเธอจงไปทำลายกุฎีนั้นเสีย อย่าให้เพื่อนพรหมจารีในภายหลังเบียดเบียนหมู่สัตว์เลย ภิกษุไม่พึงทำกุฎีดินล้วน ภิกษุใดทำต้องอาบัติทุกกฏ” จะเห็นได้ว่าพระวินัยข้อนี้มีความมุ่งหมายที่จะอนุรักษ์ดิน และป้องกันไม่ให้ภิกษุฆ่าสัตว์ นอกจากนี้แล้วยังช่วยป้องกันมลพิษทางอากาศด้วย เพราะการทำกุฎีจะต้องทำการเผาดินให้แข็งตัว ดินนั้นจึงจะคงทน ไม่แตกง่าย นับว่าพระพุทธเจ้าทรงมองเห็นการณ์ไกลจริง ๆ พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น นอกจากจะช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัย ภูมิประเทศ และสังคมแต่ละท้องถิ่นได้ โดยอาศัยหลักมหาปเทส ๔ (ข้ออ้างใหญ่ หรือหลักสำหรับปรับปรุงประยุกต์ใช้พระวินัย) ๔ ประการ คือ ๑) สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควรแต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร ๒) สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควรแต่เข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร ๓) สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตว่าควรแต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร ๔) สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควรแต่เข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร หลักมหาปเทสนี้พระองค์ทรงอนุญาตไว้ที่เมืองสาวัตถี เพราะว่าภิกษุชาวเมืองสาวัตถีไม่กล้าฉันผลไม้ โดยสงสัยว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตหรือไม่ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบจึงให้หลักมหาปเทสนี้ไว้ พระวินัยกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า ภิกษุชาวเมืองกบิลพัสดุ์ขอกล่องเข็มที่ทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ประชาชนติเตียน ประณามว่าไม่รู้จักพอ ทำให้นายช่างผู้ทำกล่องเข็มลำบาก การค้าขายล้มเหลว เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์บัญญัติพระวินัยห้ามไม่ให้ภิกษุทำอย่างนั้นอีก ถ้าฝ่าฝืนต้องอาบัติปาจิตตีย์ นอกจากนี้แล้วพระวินัยยังช่วยอนุรักษ์ดิน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยห้ามไม่ให้ภิกษุขุดดิน เพราะการขุดดินเป็นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งประชาชนก็ติเตียน พระวินัยกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยไว้หลายมาตรา เช่น ห้ามไม่ให้ภิกษุผู้ไม่เป็นไข้ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงบนของเขียวและในน้ำ ทรงบัญญัติไว้ให้ระลึกอยู่เสมอ ถ้าฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฏ พระวินัยกับการอนุรักษ์อากาศ ภิกษุชาวเมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ พากันก่อไฟที่ขอนใหญ่ขอนหนึ่ง ซึ่งมีโพรงแล้วผิง ภายในโพรงนั้นมีงูเห่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ พอมันถูกความร้อนของไฟก็ได้เลื้อยออกมาไล่พวกภิกษุ ภิกษุทั้งหลายต่างก็วิ่งหนีไปในที่ต่าง ๆ เป็นเหตุให้ภิกษุผู้มักน้อยติเตียนประณาม พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามหาสาเหตุแล้ว ทรงบัญญัติพระวินัยห้ามไม่ให้ภิกษุทำเช่นนั้นอีก ถ้ารูปใดฝ่าฝืนต้องอาบัติปาจิตตีย์ พระวินัยกับการอนุรักษ์ป่า พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกดำเนินชีวิตอยู่กับป่า มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ตั้งแต่พระองค์ได้ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน แสดงธรรม ที่ประทับล้วนอยู่ท่ามกลางป่า ธรรมวินัยที่ทรงสั่งสอนและบัญญัติไว้ก็เป็นไปเพื่อรักษาและเกื้อกูลต่อป่า ถ้าภิกษุรูปใดกระทำสิ่งที่เป็นการทำลายป่า พระองค์ก็ทรงบัญญัติพระวินัยห้าม ดังที่พระองค์ทรงบัญญัติแก่ภิกษุชาวเมืองอาฬวีซึ่งพากันทำการก่อสร้าง และได้ตัดต้นไม้ จนประชาชนติเตียนการกระทำเช่นนั้น เพราะเป็นการเบียดเบียนเทวดาและสิ่งมีชีวิต เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามหาสาเหตุ แล้วทรงบัญญัติพระวินัยห้ามไม่ให้กระทำอย่างนั้นอีก ถ้าฝ่าฝืนต้องอาบัติปาจิตตีย์ พระวินัยของภิกษุมี ๒๒๗ ข้อ บางข้อก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ บางข้อเกี่ยวข้องโดยตรง บางข้อเกี่ยวข้องโดยอ้อม ในที่นี้จะนำข้อที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์มาศึกษาเป็นลำดับดังนี้ ๑. โกสิยสิกขาบทที่ ๒,๓,๔ สิกขาบทที่เกี่ยวกับ “การทำผ้ารองนั่งผสมใยไหม” มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุชาวเมืองอาฬวีพวกหนึ่ง ไปบอกช่างทอไหมพากันตำหนิประณามภิกษุพวกนั้นว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตร ทำไมจึงใช้พวกเราให้ฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนั้นกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบสวนหาสาเหตุ เพื่อภิกษุเหล่านั้นยอมรับว่าได้กระทำจริง พระองค์ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามว่า “ภิกษุใดใช้ให้ผ้ารองนั่งผสมใยไหม ต้องอาบัตินิสสัคคีปาจิตตีย์” การต้องอาบัติในสิกขาบทนี้ ภิกษุผู้ละเมิดจะต้องเสียสละผ้ารองนั่งของตนแก่สงฆ์หรือแก่คณะ จากนั้นก็ให้แสดงอาบัติคือยอมรับสารภาพในการกระทำของตน และตั้งใจจะไม่ทำอีกต่อไป ภิกษุจึงจะบริสุทธิ์จากอาบัตินี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ด้วยทรงมุ่งรักษาชีวิตของสัตว์และเพื่อความเลื่อมใสของประชาชน เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าไม่เหมาะสม ประชาชนติเตียนการกระทำเช่นนี้ ประกอบกับพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาในหมู่สัตว์เป็นที่ตั้งอยู่แล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้ ๒. ปฐวีขณนสิกขาบท สิกขาบทเกี่ยวกับการขุดดิน สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากภิกษุชาวเมืองอาฬวี พวกหนึ่งทำการก่อสร้าง จึงพากันขุดดิน พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประนามว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเบียดเบียนชีวะซึ่งมีอินทรีย์ เหล่าภิกษุผู้มักน้อยนำความกราบทูลพระพุทธเจ้าพระองค์จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบสวนหาสาเหตุ เมื่อภิกษุชาวเมืองอาฬวีรับสารภาพว่าได้ทำอย่างนั้นจริง พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามว่า “ภิกษุใดขุดดินเอง หรือใช้ให้คนอื่นขุดดิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์” การต้องอาบัติในสิกขาบทนี้ ภิกษุผู้ต้องจะต้องแสดงความผิดของตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน โดยสัญญาว่าจะไม่ทำอีก ภิกษุนั้นจึงจะบริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ เพื่อมุ่งรักษาชีวิตสัตว์และรักษาสภาพดิน ทั้งรักษาศรัทธาของประชาชน เพราะประชาชนสมัยนั้นเชื่อว่าดินมีชีวิต หากภิกษุกระทำเช่นนั้นก็เป็นการทำลายชีวิตของดิน ไม่สมกับเป็นสมณะ เมื่อพิจารณาสภาพความเป็นจริงแล้ว พื้นดินที่อุดมสมบูรณ์มักมีพวกสัตว์เล็ก ๆ อาศัยอยู่ เมื่อภิกษุขุดดินจึงเป็นการทำลายชีวิตสัตว์และทำให้สภาพดินเสื่อม นับได้ว่าสิกขาบทนี้เป็นการอนุรักษ์ดินและรักษาชีวิตสัตว์โดยอ้อม ๓. ภูตคามสิกขาบท “สิกขาบทเกี่ยวกับการตัดต้นไม้” สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้างจึงได้ตัดต้นไม้มาทำการก่อสร้าง และได้ทำความเดือดร้อนแก่เทวดาผู้สถิตอยู่บนต้นไม้ เมื่อเทวดาได้รับความเดือดร้อนจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลความทุกข์ของตน พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามหาสาเหตุ เมื่อภิกษุเหล่านั้นยอมรับว่าได้ทำเช่นนั้นจริง พระองค์ทรงติเตียนการกระทำเช่นนั้นแล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามว่า “ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะพรากภูตคาม” ภูตคาม ได้แก่ พืชพันธุ์ ๕ ชนิด คือ ๑) พืชพันธุ์เกิดจากเหง้า ได้แก่ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ แฝก แห้วหมู ฯ๒) พืชพันธุ์เกิดจากลำต้น ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นดีปลี ฯลฯ ๓) พืชพันธุ์เกิดจากตา ได้แก่ อ้อย ไม่ไผ่ ไม้อ้อ ฯลฯ ๔) พืชพันธุ์เกิดจากยอด ได้แก่ ผักบุ้งล้อม แมงลัก เถาหญ้านาง ฯลฯ ๕) พืชพันธุ์เกิดจากเมล็ด ได้แก่ ถั่ว งา ข้าว ฯลฯ จะเห็นได้ว่า ภูตคามในที่นี้มีความหมายครอบคลุมพืชพันธุ์ในป่าทั้งหมด สิกขาบทข้อนี้นับว่าได้ช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ได้อย่างกว้างขวาง หากมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พระสงฆ์จะมีคุณค่าต่อพระศาสนาและสังคมไม่น้อยเลย ๔.สัปปานกสิกขาบท สิกขาบทเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากภิกษุชาวเมืองอาฬวีเช่นเดิม โดยภิกษุเหล่านั้นกำลังช่วยกันก่อสร้าง รู้อยู่ว่าน้ำมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ก็เอารดหญ้า รดดิน เหล่าภิกษุผู้มักน้อยติเตียน ประนามการกระทำดังกล่าว และนำเรื่องนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระองค์จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามสาเหตุ เมื่อภิกษุเหล่านั้นยอมรับว่า ได้กระทำเช่นนั้นจริง ทรงติเตียนการกระทำเช่นนั้น แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า“ภิกษุใดรู้อยู่ว่าน้ำมีสัตว์มีชีวิต รดหรือใช้ให้รดหญ้าหรือดิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์” สิกขาบทนี้ นอกจากจะทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์ ๑๐ ประการดังกล่าวแล้ว ยังมุ่งรักษาชีวิตของสัตว์ที่อยู่ในน้ำไม่ให้ถูกฆ่าและยังช่วยรักษาความสมดุลทางธรรมชาติด้วยเพราะสัตว์น้ำบางจำพวกเป็นห่วงโซ่อาหารของกันและกัน ช่วยรักษาสภาพของน้ำให้อยู่ในภาวะเหมาะสม ๕.สัญจิจจสิกขาบท สิกขาบทเกี่ยวกับความจงใจฆ่าชีวิตสัตว์ สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากพระอุทายีซึ่งในอดีตเคยเป็นนักยิงธนู และท่านไม่ชอบอีกา จึงยิงอีกาแล้วตัวหัวมาเสียบหลาวเรียงกัน ภิกษุทั้งหลายเห็นการกระทำของพระอุทายีไม่เหมาะสมก็ติเตียน ประณาม และนำเรื่องนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามเหตุ เมื่อพระอุทายีรับว่าได้ทำเช่นนั้นจริง พระองค์ทรงติเตียนโดยประการต่าง ๆ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่ “ภิกษุใดจงใจฆ่าสัตว์มีชีวิต ต้องอาบัติปาจิตตีย์” การฆ่าสัตว์โดยเจตนา นับว่าเป็นความเหี้ยมโหดมาก ไม่เหมาะสมกับสภาวะของภิกษุ แม้ฆราวาสบางคนก็ไม่ทำ ไฉนภิกษุที่เป็นพุทธสาวกจึงได้กระทำเช่นนี้ สิกขาบทนี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะสัตว์ป่ามีจำนวนลดลงทุกวันจนน่าเป็นห่วง รัฐบาลต้องออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าและดำเนินมาตรการกับผู้ที่ชอบล่าสัตว์อย่างเด็ดขาด เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าไม่ให้สูญพันธุ์ นอกจากจะห้ามไม่ให้ภิกษุฆ่าสัตว์แล้ว พระองค์ทรงบัญญัติสูจิฆรสิกขาบท สิกขาบทเกี่ยวกับการห้ามภิกษุไม่ให้ทำกล่องเข็มด้วยกระดูกสัตว์ ด้วยงา หรือด้วยเขาของสัตว์ ภิกษุใดละเมิดไม่ปฏิบัติตามต้องอาบัติปาจิตตีย์ ๖. สิกขาบทที่ ๖ แห่งเสขิยวัตร เป็นสิกขาบทที่ภิกษุพึงสำนึกอยู่เสมอ หรือให้ภิกษุสำเหนียกอยู่เป็นนิจ สิกขาบทนี้เกี่ยวกับการเทน้ำล้างบาตรในละแวกบ้าน สาเหตุมาจากภิกษุชาวเมืองสุงสุมารคิระเทน้ำล้างบาตรที่มีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณามการกระทำเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบทห้ามว่า “ภิกษุพึงทำความสำเหนียก (ระลึกอยู่เสมอ) ว่า เราจักไม่เทน้ำล้างบาตรที่มีเมล็ดข้าวลงในละแวกบ้าน” สิกขาบทนี้ ถ้าภิกษุรูปใดไม่เอื้อเฟื้อหรือปฏิบัติตาม ต้องอาบัติทุกกฏ อาบัติข้อนี้มีโทษน้อยกว่าอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุผู้ละเมิดจะต้องแสดงความผิดของตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน จึงจะบริสุทธิ์ สิกขาบทข้อนี้ได้ช่วยสร้างจิตสำนึกให้ภิกษุมีความรับผิดชอบ ไม่เป็นคนมักง่าย มุ่งให้รู้จักสถานที่ควรหรือไม่ควร การเทน้ำล้างบาตรไม่เป็นที่นับว่าได้ทำลายสภาพแวดล้อมให้เสื่อมโทรม เป็นบ่อเกิดแห่งโรค และปัญหานานัปการย่อมตามมา ๗.สิกขาบทที่ ๑๔, ๑๕, ๑๖ แห่ง เสขิยวัตร เกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำ สิกขาบทนี้มีสาเหตุมาจากภิกษุพวกหนึ่งได้ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงในน้ำและพืช พวกชาวบ้านพากันติเตียนการกระทำดังกล่าว และภิกษุผู้มักน้อยได้นำเรื่องนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์สอบถามสาเหตุ เมื่อภิกษุเหล่านั้นรับสารภาพว่าได้กระทำอย่างนั้นจริง จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ทำอีก ถ้าฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฏ จะเห็นได้ว่า สิกขาบทที่นำมาเสนอในที่นี้ล้วนมีความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหวังให้พระสงฆ์เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีแก่สังคม มีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายเกื้อกูลต่อธรรมชาติอันเป็นเหมือนเวทีสำหรับฝึกกายและวาจาให้เรียบร้อยดีงาม พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดี ย่อมส่งผลต่อจิตใจให้ดีไปด้วยอันจะช่วยให้การปฏิบัติบรรุเป้าหมายเร็วยิ่งขึ้น ฉะนั้น พระวินัยแต่ละสิกขาบทดังที่ได้ยกมากล่าวในที่นี้ จึงมีความเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ถึงแม้ว่าพระวินัยนี้ พระพุทธเจ้าได้บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ปกครองคณะสงฆ์สมัยพุทธกาลก็ตาม แต่ก็สามารถนำมาใช้กับสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี สิกขาบทเกี่ยวกับการอนุรักษ์ต้นไม้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้เพื่อห้ามภิกษุไม่ให้ตัดต้นไม้ เพราะว่า ประชาชนสมัยนั้นเชื่อว่าต้นไม้มีชีวิต (วิญญาณ) และมีเทวดาสิงสถิตอยู่ เมื่อภิกษุตัดต้นไม้มาทำการก่อสร้างย่อมทำความเดือดร้อนให้แก่เทวดาและเป็นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ประชาชนติเตียน ประณามว่าไม่เหมาะกับความเป็นสมณศากยบุตร เพื่อรักษาความศรัทธาของประชาชน พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ อนึ่ง ต้นไม้ที่ทรงห้ามตัดนี้มีความหมายครอบคลุมถึงพืชพันธุ์ทุกชนิดในป่า เนื่องจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกอาศัยป่าไม้เป็นที่พำนัก บำเพ็ญสมณธรรมเทศนาสั่งสอน และทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย อีกทั้งพระพุทธเจ้าเอง พระองค์ตรัสรู้กฎสูงสุดของธรรมชาติย่อมเข้าใจกฎแห่งความอิงอาศัยกันที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติจะแยกกันอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ขึ้น ก็นับว่าได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค้าทั้งทางด้านธรรมชาติและการปฏิบัติของพระสงฆ์และเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม นอกจากสิกขาบทที่เกี่ยวกับการห้ามตัดต้นไม้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ภิกษุก่อไฟผิง การก่อไฟนับว่าเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ตกในปัจจุบัน ไฟป่าได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงมาก เพราะได้ทำลายทุกอย่างของระบบนิเวศวิทยาสิกขาบทข้อนี้ช่วยอนุรักษ์ป่าไม้และช่วยป้องกันการเกิดมลพิษทางอากาศอีกด้วย จะเห็นได้ว่าพระวินัย ๒ ข้อนี้มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ถ้าภิกษุปฏิบัติตามและนำมาแนะนำให้ประชาชนได้เข้าใจถึงโทษภัยของการตัดไม้ ทำลายป่า และการเกิดไฟป่า ก็จะเป็นประโยชน์แก่สังคมโลกโดยแท้ การศึกษาเปรียบเทียบสาระสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับพระวินัย ทำให้ทราบว่า การรักษาพระวินัยของพระสงฆ์นั้นได้ทำไปตามพุทธบัญญัติและสิกขาบทที่ได้ยกมา เปรียบเทียบก็มีวัตถุประสงค์โดยตรงที่จะให้พระสงฆ์นั้นได้ทำไปตามพระพุทธบัญญัติ และสิกขาบทที่ได้ยกมาเปรียบเทียบก็มีวัตถุประสงค์โดยตรงที่จะให้พระสงฆ์ปฏิบัติให้สอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนี้พระสงฆ์ก็ได้ประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสของตนให้หมดสิ้นไปด้วยการอาศัยธรรมชาติที่มีอยู่ ต่างฝ่ายต่างอาศัยกันเกื้อกูลต่อกันย่อมส่งผลให้สังคมสงบสุขตลอดไป พระวินัยกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการเน้นย้ำให้พระสงฆ์มองเห็นสาระสำคัญของพระวินัยแต่ละข้อที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พระสงฆ์ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องประยุกต์พระวินัยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเน้นให้ศึกษาปริบทของสังคมสมัยพุทธกาลแล้วนำมาเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกล้วนใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยา ทั้งยังบัญญัติพระวินัยให้เกื้อกูลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแม้ประชาชนเองต่างก็มองเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงกับเชื่อว่าแผ่นดินและต้นไม้มีชีวิต ใครทำลายจะต้องถูกครหาหรือถูกลงโทษ ปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างย่อยยับจนเกิดวิกฤตการณ์สภาวะแวดล้อมเป็นพิษทั่วโลก ทำให้กลุ่มนักอนรักษ์ธรรมชาติต้องรีบออกมารณรงค์เรื่องนี้เป็นการใหญ่ “ผู้เขียน” นำมาลงเอาไว้เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ทบทวนบทเรียน “นวโกวาท” อันเป็นพื้นฐาน “พระนวกะ” ผู้เข้ามาบวชใหม่ในพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันชาวพุทธทั่วไปจะได้ “เข้าใจ” ด้วยว่า การทำแบบนี้พระภิกษุผู้ลงมือทำ “ต้องอาบัติ” ดังกล่าว แต่มิได้หมายความว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่พระภิกษุทำแปลงผักหรือแปลงพุทธอารยเกษตร เพียงแต่ทุกอย่างขอให้คณะสงฆ์และพระภิกษุผู้กระทำดังกล่าวทำแต่ “พอดี พองาม” มิให้กระทบกับ “พระวินัย” อันป็นเสมือนตัวแทนแห่ง “พุทธองค์” ให้มากเกินควร จนทำให้ชาวบ้านผู้รู้ “ตำหนิติเตียน” ได้ รวมทั้งมิใช่ถอดจีวร ถลกสบงลงมือดำนา ไถ่นา ปลูกผัก ตัดต้นไม้ โดยไม่เหมาะไม่ควรแก่ “สมณสารูป” รวมทั้งบางรูปอยากโชว์ อยากอวดผลงานเผยแพร่รูปลงสาธารณะ ชาวพุทธบางคน บางกลุ่ม “รับไม่ได้” ก็มีครับพระคุณเจ้า!! จำนวนผู้ชม : 371 Leave a ReplyFacebook Comments More Articles By the same author พระเณรผู้จบ ป.ธ.9 : ผู้ทรงภูมิรู้สุดยอดของคณะสงฆ์ไทย แต่ “ถูกปล่อยทิ้ง” แบบไร้ค่า?? อุทัย มณี ก.พ. 10, 2024 วันที่ 10 ก.พ. 67 มีผู้ใช้เฟชบุ๊คท่านหนึ่ง นามว่า Apinyawat Phosan ได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบการสร้างคนเพื่อสืบทอดศาสนาทายาทของคณะสงฆ์ไทย… เอาใจคนรักแมว “Cat Hotel สไตล์คาเฟ่แห่งแรกของไทย” อุทัย มณี เม.ย. 16, 2019 เรียกได้ว่าราคาหลักร้อยวิวหลักล้าน ด้วยการควักเงินลงทุนและฉีกแนวของเจ้าของนักธุรกิจรุ่นใหม่… กมธ.ศาสนาฯ รุก หารือ มส. / สำนักพุทธ อุทัย มณี ก.ค. 24, 2020 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา ที่สํานักงานแม่กองธรรมสนามหลวง… เช็ค!! รายชื่อมติ มส.แต่งตั้งพระสังฆาธิการ หลายรูป – ตั้ง รก.เจ้าอาวาสวัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ อุทัย มณี ม.ค. 30, 2024 วันอังคารที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๗ เมื่อเวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ตำหนักเพ็ชร… “เจ้าคณะภาค 6-7” ผสานกำลัง “กมธ.ศาสนาฯ สภาฯ” จัดอบรมบัญชีวัด แก้ปมเงินทอนวัด”ลำพูน-เชียงราย” อุทัย มณี ก.พ. 20, 2022 วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา… “ประธานวุฒิสภา” เผยเคยตักเตือน ‘สว.กิตติศักดิ์’ แล้ว อย่าไปมีเรื่องกับใคร อุทัย มณี ก.ย. 19, 2023 วันที่ 20 ก.ย. 66 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวภายหลังวุฒิสภามีมติไม่ชี้ความผิดนายกิตติศักดิ์… “อนุทิน” นำ ” 3 รมช.” เข้าเฝ้า “สมเด็จพระสังฆราช” หลังเข้ากระทรวงคลองหลอด อุทัย มณี ก.ย. 07, 2023 วันที่ 7 กันยายน 256 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย… “ปลัดเก่ง” พบผู้ว่าฯ 20 จังหวัดภาคอีสาน ย้ำจงเป็น “ราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน” อุทัย มณี มี.ค. 28, 2024 วันที่ 28 มี.ค. 67เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมเทพนครและอัลวาเรซ… โปรดเกล้า ฯ “องคมนตรี” เป็นผู้แทนพระองค์ในพระราชพิธีจารึกหิรัญบัฏรองสมเด็จจำนวน 5 รูป อุทัย มณี พ.ค. 31, 2024 วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 วานนี้ ที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม… Related Articles From the same category ธรรมกายจัดธรรมยาตราตามเส้นทางพระผู้ปราบมารปีที่ 8 จำนวน 1,136 รูป คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ร่วมภาคีเครือข่ายฯ แถลงข่าวดำเนินงานโครงการธรรมยาตรา… ‘คุณหญิงพันธุ์เครือ’ร่วมงานวันวิสาขบูชาโลกที่ลาว เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว… “สถาบันการอาชีวศึกษา” แจ้งกำหนดพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรประจำปี 2565 วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ว่าที่ ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา … เจ้าอาวาสวัดดัง “เขตบางขุนเทียน” อึดอัดใจขอ “ลาสิกขา” วันที่ 18 ก.ค. 67 มีรายงานว่าปรากฎเอกสารหนังสือขอลาสิกขาของ พระมหาพีระพล … วัดพระธรรมกายเปิดสอบธรรมศึกษาตรี-โท-เอก เจ้าคณะอำเภอคลองหลวงเปิดสอบธรรมศึกษาตรี-โท-เอก สนามสอบวัดพระธรรมกาย…
Leave a Reply