ดร.บรรจบ “ราชบัณฑิต” โต้สำนักพุทธ ฯ เรื่อง “สรุปหลักพุทธศาสนา” อ้าง สำนักพุทธฯ  “ผิดพลาดอย่างแรง”

 วันที่ ๑๒ ก.ย. ๖๕ ศาสตราจารย์พิเศษ ร้อยโท บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต  นักวิชาการด้านพุทธศาสนาชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความแจงกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาได้ออกบทความสรุปหลักพุทธศาสนาว่า ไม่ถูกต้อง ผิดพลาดอย่างแรง  ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

 ได้มีบทความชื่อ ‘สรุปหลักพุทธศาสนา’ เผยแพร่ลงในเพจของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปรากฏมีคนเข้าไปอ่านจำนวนมากแล้วรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ที่นักวิชาการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า สำนักพุทธ) แสดงออกไป จึงแชร์มาให้ผมอ่านด้วย  ผมอ่านแล้วก็ไม่สบายใจเช่นกัน  จึงรับปากกับผู้ที่แชร์ส่งมาให้ว่าจะพยายามชี้แจงแก้ไขความผิดพลาดที่สำนักพุทธทำแก่คำสอนของพระพุทธศาสนา  บัดนี้ผมได้ทำคำชี้แจงแล้วและได้แถลงด้วยตัวเองทางเฟชบุค Banjob Bannaruji – บ้านบรรณรุจิ ครั้งหนึ่งก่อน  และจะพยายามหาทางเผยแพร่ทางอื่นๆด้วย  ทั้งนี้มิใช่เพื่อมุ่งร้ายต่อสำนักพุทธ  แต่ต้องการปกป้องไม่ให้ความผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกในสำนักพุทธซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นหน่วยงานหลักที่ชาวพุทธหวังฝากให้ดูและพระพุทธศาสนาและยังเป็นหน่วยงานหลักสำหรับสนองงานของมหาเถรสมาคมองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์อีกด้วย

คำชี้แจงกล่าวแก้ที่ผมทำขึ้นนี้เน้นที่ความผิดพลาดสำคัญ ๆ ทีละประเด็นตามที่ปรากฏในเพจของสำนักพุทธ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

๑. สำนักพุทธกล่าวนำไว้ในบทความว่า

“ ๑. พุทธศาสนามีหลักการเดียวกับวิทยาศาสตร์ คือ  ๑. สอนอย่างมีเหตุผล   ๒. ศึกษาจากของจริงที่มีอยู่จริง ๓. เชื่อจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง”

ผมได้กล่าวแก้แจงว่า

) ที่ว่า “พระพุทธศาสนามีหลักการเดียวกับวิทยาศาสตร์”  นั้น อยากถามสำนักพุทธว่า คำพูดนี้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ?อย่างไร ?

เหตุที่ต้องถาม  เพราะว่าพระพุทธศาสนามีองค์ความรู้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม   วิทยาศาสตร์รู้ได้เฉพาะรูปธรรม ยังเข้าไม่ถึงนามธรรม (จิตใจ) อย่างแท้จริง ในด้านรูปธรรมเองวิทยาศาสตร์ก็ยังพบและอธิบายได้ไม่ครบถ้วนยังต้องมีการค้นคว้าเพื่อหาองค์ความรู้อยู่ต่อเนื่องโดยไม่รู้ว่าจะรู้จบสิ้นได้เมื่อไร  ยิ่งในด้านนามธรรมก็ยังไกลมาก วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จักจิตกับเจตสิก (กิเลสและคุณธรรมที่ปรุงแต่งจิต) ได้ชัดเจน แต่คำสอนในพระพุทธศาสนาได้แสดงองค์ความรู้เรื่องรูปกับนามไว้ชัดเจนและกว้างขวางกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาก

จึงอยากให้สำนักพุทธทบทวนคำพูดที่ว่า “พระพุทธศาสนามีหลักการเดียวกับวิทยาศาสตร์”  ดูว่าสมควรแค่ไหน ? อย่างไร ?

๒) ที่ว่า “สอนอย่างมีเหตุผล ศึกษาจากของจริงที่มีอยู่”   อ่านเผิน ๆ ดูเหมือนดี แต่มองลงไปให้ลึกแล้วยังไม่ดีพอและไม่ครอบคลุม เพราะในพระพุทธศาสนา  สิ่งมีเหตุผลที่ต้องพูดถึงก่อน คือ คำสอน  แล้วตามด้วยการสอน  แต่ก็ยังมีปัญหาอีกว่า การสอนของใคร ?

๓) ที่ว่า “เชื่อจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง” ข้อความนี้ก็ยิ่งคลุมเครือทำให้สงสัยได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร ?  เกิดขึ้นแก่ใคร ? อย่างไร ? และที่ว่านั้น  ใครเชื่อ ?

หากสำนักพุทธฯ ประสงค์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเน้นไปที่สิ่งที่รับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสแค่ตาเห็นหูได้ยินเป็นจริงเท่านั้น  เพียงเท่านี้ก็ไม่ถูกต้องแล้ว เพราะความเป็นจริงที่เป็นทัศนะของนักปรัชญาประเภทวัตถุนิยมซึ่งใช้ความรู้แบบตรรกศาสตร์ตีความเพราะเขาไม่มีปัญญารู้ลึกไปกว่านั้น

แต่ความจริงในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมีมากกว่าเหนือกว่านั้นนอกจากเรื่องรูปทางกายภาพที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึงอีกมากแล้วก็ยังมีเรื่องรูปที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสจะรับรู้ได้ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึงและมองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ เช่น โลกหน้า โลกอื่น ชีวิตหน้าและชีวิตอื่นที่มีกล่าวไว้มากมายในพระไตรปิฎกคัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนา  สำนักพุทธฯจะว่าอย่างไร ?

๒. สำนักพุทธกล่าวต่อว่า   “คำสอนทั้งหมดของพุทธศาสนาสรุปอยู่ที่  ๑. ละเว้นความชั่วทั้งปวง

๒. ทำความดีให้เต็มเปี่ยม  ๓. ทำจิตให้บริสุทธิ์”

คำชี้แจง   ข้อความในข้อ ๒. นี้ สัมพันธ์กับข้อ ๓. จะชี้แจงต่อไป  ๓. สำนักพุทธกล่าวต่อว่า

“พุทธศาสนามีคำสอนอยู่ ๒ ระดับคือ

๑.ระดับศีลธรรม หรือระดับต่ำ โดยเอาไว้สอนคนที่มีความรู้น้อย เช่นชาวบ้าน

๒. ระดับสูง ที่สอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์หรือดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ โดยเอาไว้สอนคนที่มีความรู้”

คำชี้แจง ผมเห็นว่า ข้อความนี้ควรต้องยกเลิกทั้งหมดด้วยเหตุผล คือ

๑)  ผิดพลาดที่ไประบุว่า คำสอนระดับศีลธรรม เป็นระดับต่ำ  เพราะทำให้ต้องตั้งคำถามมากมายเช่น

๐ ทำไมสำนักพุทธมอง การละเว้นความชั่วและทำความดี เป็นแค่คำสอนระดับศีลธรรม ซึ่งสำนักพุทธปรามาสว่า  เป็นระดับต่ำเล่า ?

 ๐ สำนักพุทธ เอาอะไรมาชี้วัด การละเว้นความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เต็มเปี่ยม ว่าเป็นระดับต่ำ  ?

๐ หากยังจะยืนยันว่า ต่ำ โดยอ้างว่า สอนคนที่มีความรู้น้อย เช่น ชาวบ้าน  คำถามต่อมาคือ ชาวบ้านคือ ใคร ? และความรู้น้อยที่ว่า หมายถึงความรู้แบบใด ?  ขอให้สำนักพุทธให้ความกระจ่างด้วย เพราะเกิดความกังขากันว่า

๐ สำนักพุทธเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์วัดคำว่า ‘ต่ำ’ อย่างที่สำนักพุทธใช้กับคำสอนระดับศีลธรรม

๐ คำสอนระดับศีลธรรมที่ว่าต่ำจำเป็นแก่ชาวบ้านเท่านั้นหรือ ? ไม่จำเป็นกับคนที่ไม่ใช่ชาวบ้าน เช่น ข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมือง ด้วยหรือ ? และ

๐ ปัญหาเรื่องการไร้ศีลธรรมที่ดาษดื่นทุกวันนี้ เช่น การฆ่า การทุจริตคอรัปชั่น คนระดับชาวบ้านเท่านั้นก่อขึ้นหรือ ? ข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมืองไม่มีส่วนก่อขึ้นหรือ ?

๒) ผิดพลาดที่ไประบุว่า การทำจิตให้บริสุทธิ์หรือดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ โดยเอาไว้สอนคนที่มีความรู้   ข้อความนี้ยิ่งทำให้สับสนขึ้นไปอีกในหลายประเด็น เช่น

๐   การทำจิตให้บริสุทธิ์คือเพียงแค่การดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน สำนักพุทธอธิบายได้ไหมว่า การดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันคืออย่างไร ?

๒)  เอาไว้สอนคนที่มีความรู้ สำนักพุทธอธิบายได้ไหมว่า คนมีความรู้ระดับใดจึงจัดว่ามีความรู้สามารถที่จะรับฟังคำสอนเรื่องการทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ ?

๓)  การสอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นวิทยาศาสตร์  สำนักพุทธอธิบายได้ไหมว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร ?  (และ)  ๔)  สำนักพุทธอธิบายได้ไหมว่า คำสอนระดับศีลธรรม เกี่ยวข้องกับการทำจิตให้บริสุทธิ์หรือไม่ ?

ถ้า ไม่เกี่ยว แล้วคำสมาทานศีลตรงที่ว่า …เวรมณีสิกขาปทัง สมาทิยามิ – ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทคือ เจตนางดเว้นจาก… สำนักพุทธจะอธิบายว่าอย่างไร ? และจะอธิบายได้หรือไม่ว่า เจตนางดเว้นเกี่ยวข้องกับจิตหรือไม่ ?

๔. สำนักพุทธ กล่าวต่อว่า คำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนาก็คือ คำสอนระดับสูง คือเรื่อง อริยสัจ ๔ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดับทุกข์ อันได้แก่

๑.ทุกข์ คือ เรื่องความทุกข์ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน

๒. สมุทัย คือ เรื่องสาเหตุของความทุกข์ทั้งปวง

๓. นิโรธ คือ เรื่องความดับสนิทของความทุกข์ทั้งปวง

๔. มรรค คือ เรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ทั้งปวง

ส่วนคำสอนระดับศีลธรรมนั้น ไม่ใช่คำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา เพราะศาสนาไหน ๆ เขาก็มีคำสอนเช่นนี้กันอยู่แล้ว  อีกทั้งคำสอนระดับศีลธรรมก็ยังเจือปนอยู่กับเรื่องงมงายที่ปลอมปนเข้ามามากมายในภายหลัง  ซึ่งไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และขัดแย้งกับคำสอนระดับสูงอย่างมาก  ถ้าใครยึดถือในคำสอนระดับศีลธรรมก็จะไม่เข้าใจคำสอนระดับสูงได้  ดังนั้นคำสอนส่วนใหญ่ของพุทธศาสนา จึงมุ่งเน้นมากเรื่องการดับทุกข์นี้เท่านั้น.”

คำชี้แจง ข้อความตอนนี้  ขอทำความเข้าใจก่อนว่า สำนักพุทธฯผิดพลาดอย่างหนักที่อธิบายว่า

๑) “อริยสัจ-เป็นคำสอนระดับสูง…” คงจะคุ้นกับคำแปลที่เคยมีมาว่า อริยสัจ – ความจริงอันประเสริฐ แต่อันที่จริงคำนี้ยังแปลได้อีกว่า ความจริงที่รู้แล้วทำให้ไกลจากกิเลส  หมายถึง  รู้แจ้งแล้วละกิเลสได้

ความจริง อริยสัจ มีเนื้อหาครอบคลุมความรู้และการปฏิบัติตั้งแต่ระดับศีลธรรมไปถึงมรรค ผล นิพพาน  เพราะในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจเมื่อย่อเนื้อหาลงก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะศีลครอบคลุมไปตั้งแต่ศีล ๕ ของฆราวาส ไปจนถึงศีลของพระทั้งหมด

จะไม่กระทบอะไรเลย หากสำนักพุทธจะกล่าวว่า อริยสัจเป็นคำสอนสำคัญ เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนมาตลอดพระชนม์ชีพ

๒)“ทุกข์เน้นไปที่ความทุกข์ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน…”อธิบายนี้ขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง เพราะตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกข์ในอริยสัจ หมายถึง

๐ กายิกทุกข์ – ทุกข์ทางร่างกาย เช่น  เกิด แก่ ตาย รวมทั้งการบาดเจ็บต่าง ๆ  และ

๐ เจตสิกทุกข์ ทุกข์ทางจิตใจ เช่น เศร้าโศกเสียใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก และปรารถนาแล้วไม่ได้สมปรารถนา

การตีความอริยสัจข้อแรกผิดไปไม่ครบถ้วนนั้นถือเป็นความผิดที่ขัดแย้งกับคำสอนหลักของพระพุทธเจ้า (ดูหลักฐาน ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) ทำให้อธิบายอริยสัจข้ออื่นได้ไม่ชัดเจน

สรุปแล้ว อริยสัจ เป็นคำสอนที่สอนคนทุกระดับชั้น (ทั้งชาวบ้านและไม่ใช่ชาวบ้าน) ให้เข้าถึงสัจจะ-ความจริงของชีวิต และเมื่อเข้าใจถูกต้องและรู้แจ้งถึงขั้นบรรลุธรรมแล้วย่อมทำให้ละกิเลสเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ  เพราะคนมีกิเลสไม่ว่าระดับใดจะสูงหรือต่ำล้วนมีทุกข์เช่นเดียวกัน

๓)  “.ส่วนคำสอนระดับศีลธรรมนั้น ไม่ใช่คำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา เพราะศาสนาไหน ๆ เขาก็มีคำสอนเช่นนี้กันอยู่แล้ว  อีกทั้งคำสอนระดับศีลธรรมก็ยังเจือปนอยู่กับเรื่องงมงายที่ปลอมปนเข้ามามากมายในภายหลัง  ซึ่งไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และขัดแย้งกับคำสอนระดับสูงอย่างมาก  ถ้าใครยึดถือในคำสอนระดับศีลธรรมก็จะไม่เข้าใจคำสอนระดับสูงได้  ดังนั้นคำสอนส่วนใหญ่ของพุทธศาสนา จึงมุ่งเน้นมากเรื่องการดับทุกข์นี้เท่านั้น.”

ข้อความในข้อนี้ เป็นอันตรายต่อคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายประเด็นดังนี้

๑) ที่กล่าวว่า “…คำสอนระดับศีลธรรมนั้น ไม่ใช่คำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา”  สำนักพุทธไม่ตระหนักเลยหรือว่า คำสอนของพุทธศาสนาก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งมีเป้าหมายในการสอนคนให้ละกิเลสและเพิ่มคุณธรรมเป็นจุดหมายปลายทาง จึงอยากถามว่า แล้วยังจะมีคำสอนสำคัญหรือไม่สำคัญด้วยหรือ ?  ถ้าอย่างนั้น คำสอนที่ว่า ‘๑. ละเว้นความชั่วทั้งปวง ๒. ทำความดีให้เต็มเปี่ยม’ ที่สำนักพุทธฯอ้างว่า เป็นคำสอนระดับศีลธรรมนั้น ไม่มีความสำคัญหรอกหรือ ? เพราะในเมื่อคำสอนระดับศีลธรรมมาจาก  ศีล ในไตรสิกขา และ จากสัมมาวาจา-พูดชอบ สัมมากัมมันตะ-การกระทำทางกายชอบ สัมมาอาชีวะ – เลี้ยงชีพชอบ ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางให้ผู้ปฏิบัติถึงความดับทุกข์ อย่างนี้แล้วสำนักพุทธเอาเกณฑ์อะไรมาตัดสินว่าไม่สำคัญ

๒) ที่กล่าวว่า  “…คำสอนระดับศีลธรรมนั้น ไม่ใช่คำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา เพราะศาสนาไหน ๆ เขาก็มีคำสอนเช่นนี้กันอยู่”  

อยากถามว่า สำนักพุทธฯ แน่ใจหรือว่า คำสอนระดับศีลธรรมในศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู เหมือนกับคำสอนระดับศีลธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งหมด  อยากให้สำนักพุทธฯไปศึกษาบัญญัติ ๑๐ ประการของศาสนาคริสต์ คำสอนของศาสนาอิสลามและศาสนาฮินดู จะพบความรู้ขั้นพื้นฐานที่ต่างกันอยู่ เช่น การฆ่า จะเห็นว่า ในบัญญัติ ๑๐ ประการระบุว่า ห้ามฆ่าคน แต่ไม่มีระบุว่า ห้ามฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งต่างจากพระพุทธศาสนา ในศีล ๕ ข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวรมณี – ห้ามฆ่าปาณะคือชีวิตที่มีลมปราณ-ลมหายใจเข้าออก หมายถึง ห้ามฆ่าทั้งมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน

ส่วนศาสนาอิสลามกับศาสนาฮินดูก็มีคำสอนเรื่องการฆ่าต่างจากพระพุทธศาสนามาก ตรงที่ศาสนาอิสลามมีคำสอนว่า ‘ฆ่าคนได้เพื่ออัลเลาะห์’ ศาสนาฮินดูสอนว่า ‘ฆ่าคนและสัตว์ได้เพื่อทำพลีกรรมบูชายัญถวายพระเจ้า”

จากตัวอย่างนี้ จึงอยากให้ข้อสังเกตกับสำนักพุทธว่า  การให้คำจำกัดความ ความดีและบาป ในเบื้องต้นแต่ละศาสนายังต่างกัน แล้วคำกล่าวที่ว่า ‘ศาสนาทุกศาสนาดีเหมือนกัน’ สำนักพุทธควรจะทำความเข้าใจหรือไม่ว่า ใช้ได้แค่ไหน ? เพียงใด ?

๓) ที่กล่าวว่า “อีกทั้งคำสอนระดับศีลธรรมก็ยังเจือปนอยู่กับเรื่องงมงายที่ปลอมปนเข้ามามากมายในภายหลัง ซึ่งไม่เป็นวิทยาศาสตร์และขัดแย้งกับคำสอนระดับสูงอย่างมาก ถ้าใครยึดถือในคำสอนระดับศีลธรรมก็จะไม่เข้าใจคำสอนระดับสูงได้  ดังนั้นคำสอนส่วนใหญ่ของพุทธศาสนา จึงมุ่งเน้นมาที่เรื่องการดับทุกข์เท่านั้น” 

เกี่ยวกับข้อความนี้ อยากให้สำนักพุทธตั้งสติให้ดีจะได้เกิดศีลสมาธิปัญญา เกิดศีลคือมีเจตนางดเว้นจากการพูดเท็จแล้วใช้สัมมาวาจา-วาจาชอบ ไม่กล่าวร้ายศีลธรรม ไม่กล่าวตู่คำสอนในพระพุทธศาสนา เกิดสมาธิ คือ มีจิตใจสงบบริสุทธิ์ และเกิดปัญญา คือ เข้าใจดีชั่ว-ถูกผิดตามความเป็นจริง เมื่อเกิดปัญญาแล้วลองตั้งใจทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ที่ผมยกมาเสนอ ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ ๑  ที่ว่า  “คำสอนระดับศีลธรรมก็ยังเจือปนอยู่กับเรื่องงมงายที่ปลอมปนเข้ามามากมายในภายหลัง…”

ขอถามสำนักพุทธว่า เรื่องงมงายที่ปลอมปนเข้ามามากมายในภายหลัง นั้น คืออะไรบ้าง ? และว่า  ในภายหลังนั้นคือในยุคไหน ? สำนักพุทธช่วยให้ความกระจ่างด้วย และควรจะให้ความกระจ่างตั้งแต่ ความรู้ระดับศีลธรรม นั้นคือความรู้อะไร ? ต่ำอย่างไร ? ระดับชาวบ้านคือคนมีความรู้น้อยเป็นอย่างไร ? คนมีความรู้มากเป็นอย่างไร ?

ประเด็นที่ ๒ ที่ว่า “ซึ่งไม่เป็นวิทยาศาสตร์และขัดแย้งกับคำสอนระดับสูงอย่างมาก”

อยากให้สำนักพุทธช่วยอธิบายให้ชัดว่า ไม่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร ? ขัดแย้งกับคำสอนระดับสูงอย่างมากอย่างไร ?

ที่ต้องขอให้สำนักพุทธอธิบายให้ชัดเกี่ยวกับความเห็นที่ว่า ‘คำสอนระดับศีลธรรมขัดแย้งกับคำสอนระดับสูง’เนื่องมาจากว่าความเห็นนี้เป็นอีกความเห็นที่ใครต่อใครยอมรับว่าอันตรายต่อพระพุทธศาสนามาก  เป็นการกล่าวร้ายคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างร้ายกาจจากคนที่ดูแลพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับคุณค่าแห่งคำสอนของพระองค์ไว้แล้วมิใช่หรือว่า สฺวากขาโต ภควตา ธัมโม -พระธรรมคำสอนพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก-พิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยตัวเอง อกาลิโก – ไม่ถูกขัดขวางด้วยเวลา เอหิปัสสิโก-เชิญมาพิสูจน์ได้ โอปนยิโก-ทำให้เกิดในตัวเองได้

การปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ที่ได้ผลก็คือ ปฏิบัติแบบธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึง ปฏิบัติธรรมให้เกื้อหนุนกัน เช่น รักษาศีล (ที่สำนักพุทธว่าระดับต่ำนั้น) ก็เกื้อหนุนให้เกิดธรรม เช่น เมตตา-ความรักความปรารถนาดี  จาคะ-การเสียสละหรือการรู้จักให้ สติสังวร-สำรวมรู้สึกตนไม่ให้ทำชั่ว  แล้วยังเกื้อหนุนให้เกิดสมาธิความสงบระดับต่าง ๆ ไปตามลำดับตั้งแต่ขณิกสมาธิ-สมาธิในแต่ละขณะจิตที่ทำให้สามารถดำเนินชีวิตปัจจุบันได้  อุปจารสมาธิ – สมาธิใกล้นิ่งซึ่งทำให้กิเลสที่รบกวนจิตเริ่มสงบลง และอัปปนาสมาธิ – สมาธิขั้นฌานที่ทำให้กิเลสสงบนิ่ง  แล้วสมาธิขั้นฌานนี้แลสามารถเกื้อหนุนให้เกิดวิปัสสนาปัญญา-ปัญญารู้แจ้งชีวิตตามความเป็นจริงในระดับต่าง ๆ ถึง ๙ ระดับ  แล้ววิปัสสนาปัญญาที่ศีลกับสมาธิกำกับอยู่นั้นก็เกื้อหนุนให้เกิดมัคคปัญญา-ปัญญาละกิเลส จึงทำให้พ้นทุกข์ได้ในที่สุด ทั้งกายิกทุกข์-ทุกข์ทางกายและเจตสิกทุกข์-ทุกข์ทางใจ

ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อให้สำนักพุทธเห็นว่าคำสอนของพระพุทธศาสนาทุกระดับไม่ได้ขัดแย้งกัน ตรงกันข้ามกลับเกื้อหนุนกันไปตามลำดับ  ส่วนที่ขัดแย้งคือการที่คนปฏิบัติไม่ได้ต่างหาก เพราะว่าขาด ศรัทธา-ความเชื่อที่ถูกทาง  วิริยะ –ความเพียรที่ถูกทาง สติ-ความระลึกรู้ตัวที่ถูกทาง สมาธิ-ความสงบที่ถูกทาง และปัญญา-ความรู้ที่ถูกทาง เมื่อเขาเหล่านั้นปฏิบัติไม่ได้ก็มากล่าวแก้ตัวเพื่อเอาตัวรอดแต่กลับโยนความผิดให้กับคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งไม่ได้มีความผิดใดๆในตัวคำสอน

หากสำนักพุทธยังยืนยันว่าขัดแย้ง  ขอให้ช่วยอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่าขัดแย้งอย่างไร ?  ผมและสังคมจะได้เข้าใจพร้อมรับพิจารณา

 ประเด็นที่ ๓ ที่ว่า ‘ถ้าใครยึดถือในคำสอนระดับศีลธรรมก็จะไม่เข้าใจคำสอนระดับสูงได้’

ขอถามสำนักพุทธว่า คำว่า ‘ยึดถือ’ ในคำพูดข้างบน  หมายถึง การน้อมรับมาปฏิบัติใช่หรือไม่ ? และขอถามอีกว่า สำนักพุทธรับได้ไหมกับความเห็นของผมที่กล่าวมาในตอนแรก ๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติที่เกิดผลเกื้อหนุนกันเป็นอย่างไร ?

ถ้ารับได้  สำนักพุทธก็จะเห็นการปฏิบัติธรรมที่มีผลเกิดขึ้นเกื้อหนุนกัน ถ้ารับไม่ได้  ผมก็ขอยืนยันว่า สำนักพุทธพูดผิด เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ว่าระดับใดล้วนเน้นให้เกิดศีลสมาธิปัญญาไปตามลำดับ คำสอนระดับศีลธรรมนั้นแหละให้ปัญญาเบื้องต้นที่นำไปสู่ปัญญาหรือความเข้าใจคำสอนที่ละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งสำนักพุทธจะเรียกว่าคำสอนระดับสูงหรืออะไรก็ตาม

ประเด็นที่ ๔ ที่ว่า “ดังนั้นคำสอนส่วนใหญ่ของพุทธศาสนา จึงมุ่งเน้นมาที่เรื่องการดับทุกข์เท่านั้น”

ขอยอมรับว่า ที่สำนักพุทธฯกล่าวมาทั้งหมด มีคำพูดนี้เท่านั้นที่พอฟังได้ เพราะไปสอดคล้องกับพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า

ทุกขเมวะ หิ สัมโภติ – ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น

ทุกขัง ติฏฐติ เวติ จะ – ทุกข์เท่านั้น ตั้งอยู่และดับไป….

แต่แค่พอฟังได้  จะให้รับว่าถูกต้องยังไมได้  เพราะสำนักพุทธตีความทุกข์ว่า หมายถึง ทุกข์ใจเท่านั้น (ดูที่  ๔. ๒)….)  แต่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าทรงอธิบายทุกข์ครอบคลุมทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ

 

ท้ายคำชี้แจง

ผมขอเรียนว่าส่วนตัวมิได้มีอคติใดๆกับสำนักพุทธและข้าราชในสำนักพุทธและไม่ต้องการกล่าวร้ายหรือประจานสำนักพุทธให้เสียหายตรงกันข้ามผมในฐานะคนพุทธกลับรู้สึกภูมิใจในสำนักพุทธและพยายามให้กำลังใจข้าราชการทุกฝ่าย  แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมารู้สึกผิดหวังมาตลอดที่สำนักพุทธไม่มีบทบาทในการดูแลพระพุทธศาสนาสักเท่าใดยิ่งมาคราวนี้ยิ่งผิดหวังมากที่ได้เห็นความผิดพลาดทางวิชาการของสำนักพุทธปรากฏต่อสาธารณชนผ่านเพจอันเป็นสื่อที่กระจ่ายข่าวได้กว้างขวางและรวดเร็ว

กับความผิพดพลาดนี้  ผมถึงจะห่วงใยก็ช่วยอะไรได้ไม่มาก  แต่ที่ทำได้คือช่วยทำคำชี้แจงต่อสาธารณะผ่านทางไลว์สดเป็นการบช่วยกันบอกและขอร้องสังคมให้ช่วยกันจับตาดูสำนักพุทธไม่ให้ทำความผิดเยี่ยงนี้อีก  ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็สุดจะคาดหวังได้  สำหรับผมมีความภาคภูมิใจว่าได้ทำเพื่อพระพุทธศาสนาตามหน้าที่ของชาวพุทธที่พึงทำได้..

Leave a Reply