เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2565 ที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการดำเนินการพิจารณางบประมาณเพื่อการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการที่ได้ศึกษาการเผยแพร่กิจการพระพุทธศาสนาที่ประเทศไต้หวัน มีสิ่งหนึ่งที่ตนเองรู้สึกสนใจถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาแบบมหายานที่ไต้หวัน โดยประชากรชาวพุทธของไต้หวันเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนคนในปี 1983 เป็น 4.9 ล้านคนในปี 1995 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 600% ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นเพียง 12% อีกทั้งจำนวนวัดเพิ่มขึ้นจาก 1,157 เป็น 4,020 และจำนวนพระภิกษุภิกษุณีเพิ่มขึ้นโดยไม่ลาสิกขาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาในไต้หวันที่เป็นเพียงเกาะเล็กๆ ในปี 2020 ถึง 8.2 ล้านคน
ดร.ณพลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่าอย่างไรก็ตามจากที่ตนได้ศึกษาการเจริญรุ่งเรืองพุทธศาสนาในไต้หวันได้มีข้อสังเกตดังนี้
1.ไต้หวันมีภิกษุณี เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่พุทธศาสนา
2.แต่ละผู้นำองค์กรพุทธศาสนาแบ่งกันทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์
3.ไม่ขัดแย้งกันเองภายในระหว่างผู้นำในพุทธศาสนา
4.องค์กรพุทธมีการประชุมร่วมและดำเนินตามหลัก อปริหานิยธรรม 7
5.มีพื้นฐานการสนับสนุนทางการเงินที่เป็นรูปธรรม
6.การอยู่ในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัดของภิกษุภิกษุณี
7.การทุ่มเทเอาชีวิตเข้าแลกโดยบวชไม่สึกของภิกษุภิกษุณีแม่ชี
8.การให้สิทธิตามกฎหมายของนักบวชมิได้ถูกละเมิดตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่นการไม่กำหนดกรอบห้ามนักบวชเลือกตั้ง
9.การเผยแพร่สื่อธรรมะในทุกมิติ ในรูปแบบหนังสือ สื่อออนไลน์ โทรทัศน์ เป็นไปอย่างกว้างขวาง
10. จรรยาบรรณของสื่อในการงดเสนอภาพลบต่อวงการศาสนา
11.ผู้นำในระดับประเทศในระดับท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา
12.การนำหลักพุทธศาสนาเข้าไปสู่สถาบันการศึกษา
ดร.ณพลเดช กล่าวต่อไปว่าจากประเด็นดังกล่าว วันนี้ตนได้ยืนเห็นภาพพร้อมหน้าระหว่างพุทธบริษัทสี่ที่ไต้หวันโดยตนคือหนึ่งในนั้น ตนจึงให้ความสนใจกับภิกษุณีที่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญและบัญญัติให้มีพุทธบริษัท 4 อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งหมายถึงพระองค์บัญญัติไว้ดีแล้ว สำหรับเมืองไทยอาจถือว่าภิกษุณีในสาย เถรวาทได้หมดไปแล้ว ซึ่งน่าเสียดายที่ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาหายไปเสาหนึ่ง เสมือนบ้านมีเสา 4 เสาที่เป็นที่ค้ำยันของบ้าน ปัจจุบันเหลือเพียง 3 เสาแน่นอนความแข็งแรงก็ต้องลดลงเวลายิ่งผ่านไปนานยิ่งเสื่อมถอย จะพูดอีกทีก็เรียกว่าเมืองไทยมีเพียง “พุทธบริษัท 3” แม้ปัจจุบันประเทศไทยมีแม่ชีที่เป็นนักบวชแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในกลุ่มของอุบาสิกาเนื่องจากถืออุโบสถศีลหรือศีล 8 ที่ผ่านมาแม่ชีก็มีบทบาทมากในวงการศาสนาในไทย สำหรับภิกษุณีในไต้หวันมีตัวอย่างภิกษุณีเช่น พระธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ สร้างโรงเรียนโรงพยาบาลและประโยชน์มากมายจนเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก ในแนวความคิดเห็นของตนหากจะฟื้นฟูให้ภิกษุณีให้เจริญรุ่งเรืองในไทย จะเป็นการแก้ปัญหากฎหมายที่พยายามผลักดันในหมวดภิกษุณีแม่ชี ไปด้วยในตัวและเปิดช่องให้ประชาชนเพศหญิงที่สนใจออกบวชได้รับโอกาสในการขัดเกลาจิตใจซึ่งศีลของภิกษุณีมีมากกว่าพระสงฆ์ อนึ่งระยะห่างระหว่างวงการสงฆ์ ธรรมยุติ-มหานิกาย อาจมีมิติที่ดีขึ้นเพราะต้องเป็นตัวอย่างมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติมากขึ้นตามกรอบพระธรรมวินัย
ดร.ณพลเดช กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตามตนจะหารือกับผู้มีอำนาจและนำเสนอผลักดันกฎหมายภิกษุณี-แม่ชี ต่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้เกิดการบัญญัติกฎหมายในส่วนที่คิดว่าภิกษุณีในประเทศไทยไม่มีมาตั้งนานแล้ว ประเด็นนี้ตนมองว่าหากเป็นเรื่องที่ดี ประเทศไทยในอดีตก็เคยเป็นเมืองพุทธแบบมหายานที่รุ่งเรืองในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยและสมัยลพบุรีภิกษุ และการมีนิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองในยุคปัจจุบันอีกทั้งในวงการสงฆ์ก็ยอมรับอนัมนิกายที่เข้ามาซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างศีลธรรมให้กับเยาวชนในไทยการยกเพศหญิงที่สังคมปัจจุบันให้ความเสมอภาคจะนำไปสู่เพศหญิงในสังคมไทย นำภิกษุณีสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนไตรตามพระพุทธเจ้าทรงบัญญัตินั่นคือ “พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”
Leave a Reply