ความสำคัญและความเป็นมาพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

“วันวิสาขบูชา” ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ทางจันทรคติ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพราะเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนถือเป็นประเพณีสำคัญในการบำเพ็ญกุศล สำหรับปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๖

ส่วนราชประเพณีนั้น พระมหากษัตริย์ได้ทรงปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ต่อมา ได้ว่างเว้นไป ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มีพระราชดำริร่วมกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูการบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และโปรดให้บอกบุญแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ช่วยกันจัดตกแต่งโต๊ะหมู่ โคมเทียน และต้นเทียน จัดดอกไม้สดตั้งและแขวนประดับตามศาลาราย พระระเบียง และกำแพงแก้วพระอุโบสถ
การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา แบ่งเป็น ๒ วัน คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและข้าราชการฝ่ายหน้า และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในและข้าราชบริพารฝ่ายใน
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพุทธรัตนสถานขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์ และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชกุศลวิสาขบูชาของฝ่ายในที่พุทธรัตนสถาน จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมการพระราชกุศลวิสาขบูชาทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเข้าด้วยกัน ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา เป็นพระราชพิธีต่อเนื่องกัน ๒ วัน คือ วันแรก วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เป็นพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญ และวันที่ ๒ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา เมื่อมีพระภิกษุสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสอบไล่ได้เปรียญธรรมประโยคต่าง ๆ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีพระราชทานพัดยศแก่พระภิกษุสามเณรตามชั้นเปรียญที่สอบไล่ได้ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งนั้น สามเณรปลด กิตฺติโสภโณ (ต่อมาได้รับสถาปนาพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นรูปแรกในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปีติโสมนัสมาก จึงโปรดให้จัดรถหลวงไปส่งสามเณรปลดถึงวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทำให้เกิดธรรมเนียมโปรดให้จัดรถหลวงส่งพระภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ไปถึงวัดทุกรูป สืบมาถึงปัจจุบัน

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญ พระราชทานพัดยศแก่พระภิกษุสามเณรเฉพาะที่สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ๖ ประโยค และ ๙ ประโยค ที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๗ ประโยค และ ๘ ประโยค โปรดให้สมเด็จพระสังฆราช ประทานพัดยศ ณ พระอุโบสถพระอารามที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ

(ปัจจุบัน เปรียญธรรม ๓ ประโยค โปรดให้สมเด็จพระสังฆราชประทานพัด ณ วัดซึ่งได้กำหนดเป็นสถานที่รับพัดในกรุงเทพฯ และหนต่าง ๆ ส่วนประโยคอื่น ๆ นั้น ทางกองบาลีสนามหลวง จัดพิธีมอบประกาศนียบัตร ณ หอประชุมพุทธมณฑล กำหนดวันที่ ๑๖ สิงหาคม ของทุก ๆ ปี เป็นวันมอบประกาศนียบัตร)

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราชบัณฑิตยสภาจัดประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องใดที่ได้รับการตัดสินให้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์พระราชทานในวันวิสาขบูชา เป็นราชประเพณีสืบต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

ที่มา : เพจข่าวสารพระพุทธศาสนา

Leave a Reply