เจ้าคุณต่อศักดิ์..ที่ข้าพเจ้ารู้จัก!!

“ผู้เขียน”  รู้จักกับ “เจ้าคุณต่อศักดิ์” หรือ พระราชมหาเจติยาภิบาล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รักษาการเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ (หลวงปู่เทียน)  จังหวัดปทุมธานี มาตั้งแต่ปี 2539 เนื่องจาก “เรา” อยู่วัดเดียวกัน เป็นศิษย์ “พระธรรมสิริชัย” อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามเหมือนกัน แต่ “เจ้าคุณต่อศักดิ์” ท่านเป็น “ศิษย์สายตรง” เพราะพระธรรมสิริชัย คือ พระอุปัชฌาย์ของท่าน  ส่วน “ผู้เขียน” เป็นเพียงศิษย์  “ผู้อาศัย” พระธรรมสิริชัย เพื่อเรียนหนังสือเท่านั้น

“เจ้าคุณต่อศักดิ์” โด่งดังและมีบารมีมาก ตั้งแต่ท่านสร้าง “พระสมเด็จ ๙ แผ่นดิน”  ท่านเป็น  “พระนักพัฒนา”  เป็นพระภิกษุ “นักให้โอกาส” คน  มี “เมตตา” เป็นที่ตั้ง และที่สำคัญมีจิตวิญญาณ “สำนึกรักบ้านเกิด”  สร้าง “พระธาตุชัยภูมิ” กลายเป็นศาสนสถานยิ่งใหญ่ กลายเป็น “สถานที่ท่องเที่ยว” ประจำจังหวัดชัยภูมิ  สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้กับชุมชนบ้านเกิด แบบยั่งยืนและมั่นคง  อันนี้ไม่นับรวมที่ท่าน “คิดไกล” แบกภาระ สร้างวัดไว้ในต่างประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางของคนไทยและเป็นที่พึ่งยามทุกข์ใจห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอนอีกต่างหาก

ผู้เขียน ทราบว่า  “เจ้าคุณต่อศักดิ์” ไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็น “ถิ่นมอญ” มาหลายปีแล้วทั้งจากการบอกเล่าของพระภิกษุในวัดอรุณราชวรารามและตัวท่านเอง เหตุผลที่ท่านไป ท่านบอกว่าเนื่องจากต้องการไปสนองบุญคุณแสดงความกตัญญูกตเวทีให้กับ “พระธรรมสิริชัย” ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านซี่งมีรากเหง้าถิ่นกำเนิดมาจาก “วัดโบสถ์”

“ผู้เขียน” เคยไปวัดโบสถ์เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เนื่องจากพาคณะ “มูลนิธิรามัญรักษ์” ไปเชื่อมสัมพันธ์กับชุมชนมอญที่นั้นตามคำชวนของ “เจ้าคุณต่อศักดิ์”   ซึ่งปัจจุบันชุมชนวัดโบสถ์ “กลายสภาพ” แทบไม่เหลืออัตตลักษณ์ของความเป็นมอญแล้ว  ซึ่งการไปเยือนคราวนั้น สภาพวัดยังไม่ได้รับการพัฒนาดั่งทุกวันนี้

“เจ้าคุณต่อศักดิ์”  พัฒนาวัดโบสถ์กลายเป็น “ท่องเที่ยวเชิงพุทธวิถี” วันเสาร์ -อาทิตย์ มีคนมากราบไหว้พระพุทธรูปองค์เก่าอายุกว่า 400 ปีและขอพรสมเด็จพระเจ้าตากสินหนาแน่น ท่านพัฒนาลานจอดรถรองรับจำนวนรถได้นับพันคัน มีโครงการย้ายโรงเรียนขนาดเล็กไปที่แห่งใหม่ที่ “ดีกว่าเดิม” มีโครงการสร้างรูปเหมือน “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” ขนาดใหญ่ และที่สำคัญพยายามฟื้นฟูรากเหง้าจิตวิญญาณเสน่ห์ “ชุมชนมอญ” ให้กลับเหมือนเดิม โดยมีการเตรียมพื้นที่รองรับ “ตลาดมอญ” ไว้ย่อม ๆ

เนื่องในวโรกาสที่ชาวรามัญหรือมอญปทุมธานีเข้ามาพึงพระบรมโพธิสมภารในรัชมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครบ 250 ปี และวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

“เจ้าคุณต่อศักดิ์” จึงชวนผู้เขียนในนาม “มูลนิธิรามัญรักษ์” ให้มาร่วมด้วยช่วยกันปรึกษาหารือ การจัดงานอันเป็น “มหามงคล” นี้ กำหนดจัดงานไว้ ใน วันอังคารที่ 18 กรกฏาคม 2566  โจทย์คือร่วมกันแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเมตตาให้ชาวมอญ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” อาศัยพระบรมโพธิสมภาร และร่วมกันจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมมอญ อย่างน้อยขอให้มี ปี่พาทย์มอญ และ  “รำมอญ”  เพื่อรำถวายพระพร จัดริ้วขบวน ซึ่งทราบว่าตอนนี้มีนักเรียนและผู้เข้าร่วมแสดงเจตจำนงค์แล้วประมาณ 1,500 คน ซึ่งหากเป็นไปดังว่านี้ อันนี้ถือว่าเป็น “ครั้งแรก” ในจังหวัดปทุมธานีที่มีจำนวนผู้รำมอญมากขนาดนี้ รวมทั้งภายในงานจัดให้มีโต๊ะเสวนาวงเล็ก ๆ เล่าถึงความเป็นมาของมอญจังหวัดปทุมธานีตั้งแต่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเมื่อปี 2317 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน จนถึงปัจจุบัน

“เจ้าคุณต่อศักดิ์” ตั้งแต่รู้จักกันมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นพระแบบนี้คือ เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ ทำ!!

Leave a Reply