อำเภอเมืองหนองคาย ขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” สนองพระราชปณิธาน เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

วันที่ 29 ส.ค. 2566  นายประยูร อรัญรุท นายอำเภอเมืองหนองคาย เปิดเผยว่า อำเภอเมืองหนองคายให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความสุขอย่างยั่งยืน โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายลงพื้นที่บ้านสร้างอ่าง หมู่ที่ 7 ตำบลโพนสว่าง อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นำโดยทีมขับเคลื่อนระดับตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งมีนางทองทิพ ผาจวง ปลัดอำเภอประจำตำบลโพนสว่าง พร้อมด้วยทีมงานขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืนฯ ระดับตำบลและระดับหมู่บ้าน ประกอบด้วย คณะสงฆ์วัดบ้านสร้างอ่าง นายกิตติพงษ์ ถิ่นศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนสว่าง ปลัด อบต.โพนสว่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบตำบลโพนสว่าง ผอ.รพ.สต.พลโพนสว่าง เกษตรประจำตำบลโพนสว่าง กำนันตำบลโพนสว่าง ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อสม. คณะกรรมการหมู่บ้าน หัวหน้าคุ้ม และชาวบ้านสร้างอ่าง เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

นายประยูร อรัญรุท นายอำเภอเมืองหนองคาย กล่าวว่า โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ซึ่งพระองค์ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะและพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่อาณาประชาราษฎร์ แบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำแนวพระดำริเรื่อง “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) มาดำเนินการขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาตนเองที่ยั่งยืน ผ่านการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) เกิดผลเป็นรูปธรรม

นายประยูร อรัญรุท นายอำเภอเมืองหนองคาย กล่าวต่อว่า พื้นที่บ้านสร้างอ่าง หมู่ที่ 7 ตำบลโพนสว่าง อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย ที่อำเภอเมืองหนองคายบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในหมู่บ้านเป้าหมายในการพัฒนาจาก 16 หมู่บ้านของอำเภอเมืองหนองคาย ที่ได้ดำเนินการตามเกณฑ์พื้นฐานหมู่บ้านยั่งยืน ทั้ง 7 ประการ ได้แก่ 1) การส่งเสริมการทำความสะอาดบริเวณหมู่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยใช้รถปรับเกรดเกลี่ยตกแต่งถนนให้สะอาด ปรับปรุงจัดทำรั้วบ้านให้มีความสวยงามน่าอยู่ 2) การน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” จัดทำที่ปลูกพืชผักสวนครัว โดยใช้ยางรถยนต์เก่าที่เป็นขยะมาตัดและวางเตรียมไว้เพื่อปลูกผักหน้าบ้านทุกหลังคาเรือน เพื่อใช้ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างให้พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านลดรายจ่ายในครัวเรือน มีคลังอาหารพืชผักสวนครัวที่ปลอดสารพิษไว้บริโภคตลอดทั้งปี และที่สำคัญสามารถนำมาแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านและคนในชุมชน 3) ส่งเสริมการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบทุกครัวเรือน การจัดหมู่บ้านให้สะอาด และการจัดการขยะชุมชน ให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น 4) ในชุมชนหมู่บ้านมีการแบ่งเป็นคุ้มบ้านเพื่อจะได้ดูแลช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันและกัน 5) ส่งเสริมการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมและทำให้หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านรักษาศีลห้า 6) ส่งเสริมการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาหมู่บ้านให้สะอาดและสวยงาม โดยได้แบ่งความรับผิดชอบเป็นคุ้ม เพื่อการดำเนินการที่รวดเร็วขึ้น 7) ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา “ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ในการพัฒนาของหมู่บ้าน”

นายประยูร อรัญรุท นายอำเภอเมืองหนองคาย กล่าวเพิ่มเติมว่า หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของข้าราชการทุกคน คือ การทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดี พึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุข และการขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ให้เป็นรูปธรรมได้นั้น ต้องมีการการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยมี คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)/คณะกรรมการกลางของหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)/คณะกรรมการชุมชน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับ “นายอำเภอ” เป็นผู้นำทีมอำเภอ อันประกอบด้วย ทีมที่เป็นทางการ คือ ข้าราชการ นำโดยปลัดอำเภอประจำตำบล บุคลากรของทุกส่วนราชการในพื้นที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ และทีมจิตอาสา อันประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี คือ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ที่เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมาย คือ “ประชาชนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นโอกาสที่ต่อยอดไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้แก่คนในชุมชน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงอย่างยั่งยืน”

“ขอเชิญชวนพี่น้องข้าราชการและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มาร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาเพื่อที่จะ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ตอบสนองต่อพลวัตรของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการ Change for good เกิดวิถีการทำงานของชาวมหาดไทย และวัฒนธรรมการทำงานแบบ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” หมั่นลงพื้นที่ไปทำงาน ไปคลุกคลีรับฟังปัญหาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งจะทำให้คนมหาดไทยเกิดความรักและปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนทุกคน เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนองพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้ประชาชนคนไทยในทุกพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขอย่างยั่งยืน นายอำเภอเมืองหนองคาย กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply