วธ. จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศลแด่ “ร.9” เนื่องใน “วันนวมินทรมหาราช” ทั่วประเทศ

วันที่ 6 ต.ค. 66  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันนวมินทรมหาราช เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของอาณาประชาราษฎร์ และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี แห่งการครองราชย์ เมื่อพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย ในวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ได้ยังความเศร้าโศกเสียใจมาสู่พสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดิน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งหมายถึง วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จึงได้จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศลฯ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม การแสดงความอาลัยด้วยความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยร่วมกับผู้นำองค์การทางศาสนา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนพสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศ ร่วมกันบำเพ็ญกุศลสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศลฯ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยในส่วนกลางร่วมกับวัดบวรนิเวศวิหาร จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศลฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 โดยสวดมนต์ตามบทสวดพระพุทธมนต์เพื่อใช้ประกอบพิธี จำนวน 8 บท ประกอบด้วย 1) ปัพพะโตปะมะคาถา 2) อะริยะธะนะคาถา 3) ธัมมะนิยามะสุตตัง 4) ติลักขณาทิคาถา 5) ปฏิจจสมุปบาท 6) พุทธอุทานคาถา 7) ภัทเทกรัตตสูตร และ 8) สัพพมงคลคาถา ซึ่งเป็นพระสูตรและคาถาอันหมายถึง “การไม่ยึดมั่นถือมั่นในทุกสรรพสิ่ง ให้ยึดมั่นในความดีงามและมีพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งมีค่าประเสริฐเลิศล้ำกว่าทรัพย์ทั้งปวง และตระหนักรู้อยู่เสมอว่าทุกอย่างมีการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จึงไม่ควรยึดถือไว้ให้เกิดความทุกข์ ให้มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม มุ่งอยู่ในปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีตที่ล่วงมาแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง” นอกจากนี้ ได้จัดทำโปสการ์ดพระราชกรณียกิจด้านศาสนา 9 แบบ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านศาสนา 5 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนอีกด้วย

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สำหรับส่วนภูมิภาค ได้สนับสนุนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการจัดพิธีสวดพระพุทธมนต์เช่นเดียวกับส่วนกลาง และจัดกิจกรรมตามวันเวลาและสถานที่ตามความเหมาะสมในพื้นที่ อาทิ กิจกรรมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ จัดนิทรรศการหรือจัดทำวีดิทัศน์น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และกิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งยังร่วมกับองค์กรทางศาสนา 5 ศาสนา จัดพิธีทางศาสนาตามหลักศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ จีนนิกาย วัดอนัมนิกาย จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ ศาสนาอิสลาม จัดพิธีดุอาอ์ ศาสนาคริสต์ จัดพิธีอธิษฐานภาวนา ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จัดพิธีสวดมนต์ และศาสนาซิกข์ จัดพิธีสวดกีรตันและอัรดาส

นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ใช้ดอกดาวเรืองหรือดอกไม้สีเหลืองจัดทำพานพุ่มและตกแต่งสถานที่ประกอบพิธี ซึ่งดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีสีเหลืองตรงกับ “วันจันทร์” ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ แสดงถึงพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ ที่เรียบง่ายและพอเพียง และถือเป็นต้นไม้มงคลที่เชื่อกันว่าเป็นดอกไม้ที่มาจากสรวงสวรรค์ หากปลูกไว้ก็จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเองและครอบครัว มีความอยู่ดี กินดี และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข..

Leave a Reply