ประธานองค์กร “พระธรรมทูต”  รวมตัวเข้าพบ “พระพรหมสิทธิ” หวังช่วยฟื้นบทบาทพระธรรมทูตต่างแดน

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 พระราชวชิรศาสนวิเทศ (สำรวจ กมโล) ประธานสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป เจ้าอาวาสวัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ พร้อมด้วย พระราชวิเทศปัญญาคุณ (เหลา ปญฺญาสิริ) ประธานองค์กรพระธรรมทูตไทยในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ เจ้าอาวาสวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นำคณะเจ้าอาวาสวัดไทยในต่างประเทศทั้งจากทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย อาทิ พระครูภาวนาธรรมวิเทศ (ชาญ จนฺทวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดสันติวงศาราม เมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ พระครูวิเทศภัทรานุสิฐ (อ๊อด ฐิตาจาโร) เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธาราม เมืองนอร์ธเเธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ พระครูศรีรัตนธรรมวิเทศ (ประกาณณฑ์ พุทธิเมธี) เจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม แมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระครูศรีญาณวิเทศ (นวล วณฺณวฑฺฒโก) วัดพุทธาราม ประเทศฟินแลนด์ พระปลัดศุภศิลป์ สิริจนฺโท วัดอานันทเมตยาราม ประเทศสิงคโปร์ และประธานองค์กรเครือข่ายธรรมทูตวิถีคฤหัสถ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าถวายสักการะพระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

นอกจากนี้ พระโสภณภาวนาวิเทศ (พระอาจารย์กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดพุทธโพธิวัน เมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย พระชาวต่างชาติผู้เป็นศิษย์ในพระโพธิญาณเถร หรือ หลวงพ่อชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง และพระครูสังฆรักษ์แอนดริว ญาณทีโป เจ้าอาวาสวัดโพธิปาละ นครแอดิเลด รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ก็ได้เดินทางมาถวายสักการะพระพรหมสิทธิ เพื่อปรึกษาการดำเนินงานของพระภิกษุชาวต่างชาติ และได้นิมนต์พระพรหมสิทธิไปเป็นประธานเปิดวัดที่รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ในกลางปีนี้ด้วย

สำหรับสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรปและองค์กรพระธรรมทูตไทยในสหราชอาณาจักร เป็นเครื่องสะท้อนถึงพลังของคณะสงฆ์ไทยในการสร้างเครือข่ายพระธรรมทูตที่มั่นคงและเข้มแข็งทั่วโลก พระธรรมทูตในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพระครูภาวนาธรรมวิเทศ (ชาญ จนฺทวณฺโณ) แห่งวัดสันติวงศาราม เมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ หรือพระครูศรีญาณวิเทศ (นวล วณฺณวฑฺฒโก) จากวัดพุทธาราม ประเทศฟินแลนด์ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะและสร้างชุมชนชาวพุทธที่เข้มแข็งในประเทศที่พวกท่านจำพรรษา ไม่เพียงแต่ในเรื่องพิธีกรรมทางศาสนา แต่ยังครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาแก่คนในชุมชน การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา

ส่วนวัดไทยในต่างประเทศจึงไม่ได้เป็นเพียงศูนย์รวมจิตใจของชุมชนไทยที่อยู่ไกลบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นสะพานที่นำพาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงจิตใจของชาวต่างชาติทั่วโลก ตัวอย่างที่เด่นชัดคือการกำเนิดพระสงฆ์ชาวต่างชาติผู้ได้รับการฝึกอบรมและปลูกฝังหลักธรรมจากพระธรรมทูตไทย ดังเช่น พระโสภณภาวนาวิเทศ หรือพระอาจารย์กัลยาโณ ศิษย์ของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง และพระครูสังฆรักษ์แอนดริว ญาณทีโป ซึ่งเป็นศิษย์ของพระโสภณภาวนาวิเทศ พระภิกษุชาวอังกฤษ ทั้งสองท่านเป็นตัวแทนพระสงฆ์ชาวต่างชาติที่ไม่เพียงแค่ปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัย แต่ยังได้สืบทอดการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังคนในประเทศตะวันตก การที่พระธรรมทูตไทยสามารถสร้างพระสงฆ์ชาวต่างชาติผู้ยึดมั่นในพระธรรมคำสอน ถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยให้พระพุทธศาสนาเข้าถึงคนในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ยังช่วยให้ชาวต่างชาติสามารถนำคำสอนไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมกับบริบททางวัฒนธรรมของตน

ในโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลง งานพระธรรมทูตของคณะสงฆ์ไทยจึงไม่ได้เป็นเพียงการปฏิบัติตามพันธกิจทางศาสนา แต่ยังเป็นการเผยแผ่วัฒนธรรมไทยผ่านธรรมะ การสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างชาติ และการช่วยให้พระพุทธศาสนายังคงเป็นที่พึ่งของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา

Leave a Reply