‘อธิการบดี มจร’ชี้วิชาการผสานวิชาชีวิตจุดเน้นม.สงฆ์

“อธิการบดี มจร” เยี่่ยมให้กำลังใจและพร้อมให้โอวาทผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในปฏิบัติธรรมประจำปีทั่วประเทศกว่า 25,000 รูป/คน ชี้วิชาการผสานวิชาชีวิตจุดเน้นม.สงฆ์

วันที่ 24 ธ.ค.2561 ที่หอประชุมใหญ่ มวก. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร เยี่่ยมให้กำลังใจและถือโอกาสให้โอวาทแก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา กว่า 500 รูป/คน ในหัวข้อ “สติปัฏฐาน: วิชาพัฒนาชีวิต” ในโครงการปฏิบัติธรรมประจำปี 2561 ของ มจร

พระราชปริยัติกวี กล่าวว่า ตำแหน่งวิชาการ ทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เป็นตำแหน่งที่มาจากฐานวิชาการ ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ให้ชีวิตมีความสุข สงบเย็นได้ หากไม่ระวังตัวระวังใจจะนำไปสู่การเสริมตัวตนจนนำไปสู่สภาวะความอยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบได้ ฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใด มหาจุฬาฯ จึงพยายามเน้นและให้ความสำคัญกับวิชาชีวิต โดยการนำการปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต

“วิชาการที่ไม่มีวิชาชีวิตเป็นบาทฐาน จะทำให้การศึกษา การดำเนินชีวิต และการทำงาน ขาดความสุขุมรอบคอบ ขาดการการยั้งคิด น้อมนำไปสู่การทำลายล้าง การแย่งขิง การเอารัดเอาเปรียบ ความขัดแย้งรุนแรง และการทุจริตคดโกง มหาจุฬาฯ จึงดึงจุดเด่นของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ที่ได้นำแก่นและแกนของพระพุทธศาสนาออกมาตอบโจทย์ชีวิตและสังคม โดยการเน้นเสริมวิชาชีวิตให้แก้ผู้เรียน” พระราชปริยัติกวี กล่าวและว่า

มหาจุฬาฯ ได้จัดมหกรรมแห่งสติในเดือนธันวาคมเป็นประจำทุกปี โดยการนำนิสิตตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ครอบคลุมถึง 55 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีคณาจารย์ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และนิสิต ทั้งไทยและต่างประเทศ กว่า 25,000 รูป/คน ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมี แผ่เมตตาเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลและแผ่บุญกุศลให้โลกธาตุนี้มีความร่มเย็นเป็นสันติสุขสืบไป

 

พิธีมอบประกาศนียบัตรวิปัสสนาภาวนา(ป.วน.)

 

พร้อมกันนี้พระราชปริยัติกวี ประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตร วิปัสสนาภาวนา (ป.วน.) โดยคณะพุทธศาสตร์ ร่วมกับสถาบันวิปัสสนาธุระ ทั้งยังมอบใบประกาศเกียรติคุณแด่ ผู้ช่วยพระวิปัสสนาจารย์ และจิตอาสาใน “โครงการปฏิบัติธรรมประจำปี 2561” ซึ่งใจความสำคัญในธรรมเทศนามีดังนี้

“หลักสูตรประกาศนียบัตรวิปัสสนาภาวนา (ป.วน.) นับเป็นสาขาการสอนที่ดีมาก แต่ทว่าสิ่งใดที่แสดงถึงความเป็น ‘วิปัสสนาภาวนา’ เพราะการสอน 24 วิชา ตลอดระยะเวลา 1 ปีนั้นเป็น ‘ปริยัตติสัทธรรม’ แต่การนำพานักศึกษาไปฝึกปฏิบัติที่พม่า และมีการฝึกสอนจริงนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งหลักการที่ควรยึดปฏิบัติในชั่วโมงสอนจริงควรจะเป็น การบรรยาย 30% และการปฏิบัติ 70% ในชั้นเรียน โดยออกแบบเป็นรูปแบบต่างๆ ให้เห็นจริง ขณะมีการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งถือว่าเป็น ‘ปฏิปัตติสัทธรรม’ ไม่ใช่การสอนเพียง ‘ปริยัตติสัทธรรม’ เช่น วิชาหนึ่งมี 3 เครดิต ก็แบ่งเป็นสัดส่วน บรรยาย/ปฏิบัติ 30/70 ซึ่งรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิปัสสนาก็ควรถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน

พระพุทธเจ้าได้มอบหลักไว้ให้เป็น 2 ธุระใหญ่ คือ วิปัสสนาธุระ และคันถธุระ แต่ว่าต้องแตกออกมาเป็นสัทธรรม 3 คือ 1. ปริยัตติสัทธรรม 2. ปฏิปัตติสัทธรรม 3. ปฏิเวธสัทธรรม เพราะถ้าทำแต่เพียงแค่ปริยัตติสัทธรรม ก็ยังจัดเป็นเพียงสมถะกรรมฐาน จึงต้องทำให้ครบทั้งวงจรของ ‘2 ธุระใหญ่ + 3 สัทธรรม’ ดังจะเห็นว่า การศึกษาของคณะสงฆ์นั้นเป็นปริยัตติสัทธรรมที่แท้จริง แต่ต้องทำข้อ 2. และข้อ 3. เพิ่มเข้าไปจึงจะครบวงจร เพราะการศึกษาปริยัติทำให้เป็น ผู้ทรงพระไตรปิฎกฯ แต่ว่าก็ยังเป็นเพียง ‘บัณฑิตใบลานเปล่า’ เพราะมักจะไม่ข้องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม

ดังอธิบายความว่า บัณฑิตมีความเชี่ยวชาญ รอบรู้ในแนวคิดทฤษฎี แต่ทว่าเมื่อจะเอาความรู้ไปใช้ในสถานการณ์จริง ถามว่าแนวคิดทฤษฎีเหล่านั้นจะสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้หรือไม่? พอจบปริญญา มี ศ., รศ., ผศ., ดร. พอเจอกับปัญหาเข้าจริง ก็กลับบริหารจัดการไม่ได้ เข้ากับสังคมยาก ปรับตนไม่เป็น มีปัญหา มีความทุกข์ ที่จะดูจิตตนเองแล้วผ่อนคลายจิตตนยามประสบปัญหา หรือความทุกข์ก็ทำไม่ได้ ไม่สามารถเอาแนวคิดทฤษฎีมาแก้ไขปัญหาตนเอง

ทั้งนี้ ในการเรียนหลักสูตร ป.วน. มีการเรียนการสอน และการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา จึงถือว่าครบถ้วน ครบวงจร สมบูรณ์ บริบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ‘ธุระ 2’ (คันถธุระและวิปัสสนาธุระ) และ ‘สัทธรรม 3’ (ปริยัตติสัทธรรม, ปฏิปัตติสัทธรรม, ปฏิเวธสัทธรรม) ที่สามารถมารวมครบถ้วนและเกื้อกูลต่อกันและกัน ตัวอย่างเช่น คันถธุระจะถูกวิปัสสนาคลายความยึดมั่นถือมั่น ปฏิปัตติสัทธรรมจะคลายมิจฉาทิฐิ ที่อาจเกิดจากปริยัตติสัทธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเกื้อกูลสังคมของโลก

นอกจากนั้น หน้าที่ของวิปัสสนาจารย์ คือต้องออกไปทำหน้าที่ให้ก่อเกิดความศรัทธา ดำรงตนเป็นแบบอย่างต่อสังคมตลอดเวลา จึงขอชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ท่านทั้งหลายมาทำหน้าที่ พระวิปัสสนาจารย์ ผู้ช่วยพระวิปัสสนาจารย์ และความเป็นผู้มีจิตอาสา โดยเฉพาะการฟังธรรมเทศนาตามกาลเป็น ‘ธัมมัสสวนมัย’ ที่ได้บุญมาจากการฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นปรโตโฆสะของสังคมทั้งโลก จึงขอบุญกิริยาวัตถุนี้ จงส่งผลให้ท่านทั้งหลายเจริญในร่มโพธิ์ร่มไทร ตลอดกาลนานเทอญ”

Leave a Reply