วันที่ 10 มิ.ย.2563 เพจ Phramaha Boonchuay Doojai ได้โพสต์ข้อความว่า
“เยียวยาพระสงฆ์: ย่ามใครดี ???”
@ ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะที่รัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาคนไทยผู้ได้รับผลกระทบในแนวทาง “เราไม่ทิ้งกัน” ทั้งผู้มีอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม เป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงเงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ และการให้สิ้นเชื่อทั้งปลอดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำ ขณะนี้ยังคงมีการพิจารณาหาแนวทางเยียวยากลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงผู้ที่พลาดจากการเยียวยาระยะแรก
@ วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีข่าวดีสำหรับพระสงฆ์ ที่(ก็เฝ้า)รอคอยฟังข่าวด้วยความสงบนิ่งมาเป็นเวลานาน ว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะพิจารณาให้การช่วยเหลือตามสมควร โดยนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 อาจส่งผลให้พุทธศาสนิกชนออกมาทำบุญตักบาตรน้อยลง จึงเสนอเยียวยาพระสงฆ์รูปละ 60 บาทต่อวัน เพื่อสนับสนุนค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ภายในวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าจะใช้งบประมาณในส่วนใด และส่งเงินให้ทางวัดเป็นผู้บริหาร โดยขอไปทั้งหมด 91 วัน ย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน
@ ก่อนหน้านี้ การเยียวยาในกลุ่มพระสงฆ์ โดยใช้เงิน “กองทุนวัดช่วยวัด” ที่จ่ายให้รูปละ 40 บาท จำนวน 2 หมื่นรูป เป็นระยะเวลา 30 วัน ซึ่งเป็นการใช้เงินเดือนของพระสงฆ์ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์ด้วยกันเอง ภายใต้ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วย “กองทุนวัดช่วยวัด” สำหรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ที่ได้รับจัดสรรจากเงินงบประมาณพัฒนาบุคคล ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติราว 22 ล้านบาท เบื้องต้นได้จ่ายเงินสดให้วัดศูนย์กลางระดับจังหวัด จำนวน 92 วัด วัดละ 50,000 บาท และวัดในระดับอำเภอ 901 วัด วัดละ 20,000 บาท เพื่อจับจ่ายซื้ออุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19
@ คราวนี้กำลังทำเรื่องถึงกระทรวงการคลัง เสนอมาตรการเยียวยาพระสงฆ์ทั้งหมด 2.5 แสนรูป ที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากประชาชนทำบุญที่วัดน้อยลง และผลกระทบจากมาตรการงดเว้นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยให้มีการจ่ายเงินเยียวยาพระสงฆ์ เช่นเดียวกับมาตรการเยียวยาพระสงฆ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่สามารถออกบิณฑบาตได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ โดยที่คณะรัฐมนตรี ปี 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติจ่ายเงินค่าบิณฑบาตและค่าอาหารพระวันละ 100 บาทต่อรูป ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงจะใช้โมเดลนี้ แต่จะลดจำนวนเงินลงเหลือเพียงวันละ 60 บาทต่อรูป โดยจะโอนเงินให้วัดไปบริหารจัดการเองตามจำนวนพระที่มี เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าอาหารหรือค่าใช้จ่ายภายในวัด
@ การตัดสินใจในเรื่องการ “บริหารจัดการ” งบประมาณในการเยียวยาคงไม่มีใครที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เพราะรัฐบาลจะใช้วิธีการโอนเงินให้ “วัด” ไปบริหารจัดการเอง “ตามจำนวนพระ” ที่มี ตามเนื้อหาในข่าวคือ “ให้วัดบริหารจัดการเงินรูปละ 60 บาทต่อวัน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่ายารักษาโรค และการบริหารจัดการภายในวัด”
@ จึงมีคำถาม “เบา ๆ” ว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ให้การช่วยเหลือเยียวยาเป็น “รายบุคคล” เช่นเดียวกับกรณีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบประเภทอื่น ๆ เพราะหากพิจารณาถึงรูปแบบการบริหารจัดการภายในวัดแต่ละวัด จะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน บางวัดมีการจัดการเป็นภาพรวม เช่นมีโรงครัวรวมเพื่อจัดถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรทั้งเช้าและเพลเป็นประจำ บางวัดจัดการแยกออกเป็นคณะย่อยภายในวัดและมีการบริหารจัดการกันภายในเฉพาะคณะ ในขณะที่บางวัดมีการบริหารจัดการแบบตามอัธยาศัย เช่น พระภิกษุสามเณรแต่ละรูปบิณฑบาตฉันกันเอง จ่ายค่าน้ำค่าไฟกันเอง
@ จึงเป็นประเด็นว่า การให้การบริหารจัดการเงินเยียวยาผลกระทบแบบให้ “วัด” ไปจัดการกันเอง อาจไม่ถึงตัว “ผู้ได้รับผลกระทบ” อย่างครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของการช่วยเหลือเยียวยา
@ ครั้นจะใช้วิธีการบริการจัดการโดยการส่งตรงไปที่พระสงฆ์ “ผู้ได้รับผลกระทบ” เป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับกรณีการเยียวยากลุ่มอื่น ๆ ก็มีปัญหาอีกว่า “ฐานข้อมูลบุคคล” ของพระสงฆ์ ณ เวลานี้ยังไม่เป็นปัจจุบัน จากที่ได้ร่วมงานผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี พ.ศ.2555 กระทั่งถึงการผลักดันและประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” เมื่อปลายปี 2560 ปัญหาเรื่อง “ฐานข้อมูลบุคคล” ของพระสงฆ์ก็ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ที่ชัดเจนสืบเนื่องจากปัญหาดังกล่าว คือ ปัญหาเรื่องการเข้าถึง “สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ” ของพระสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้พระสงฆ์จำนวนไม่น้อยถูกเลือกปฏิบัติเหตุเพราะปัญหาระบบ “ฐานข้อมูลบุคคล” ที่แสดงสถานะของพระสงฆ์ ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
@ มิพักจะกล่าวการเชื่อมโยง “ฐานข้อมูลบุคคล” ของพระสงฆ์ ที่สามารถเชื่อมโยงกับกรมกิจการผู้สูงอายุ หรือกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอื่นใด เพื่อการเข้าถึงสวัสดิการที่พระสงฆ์ในฐานะ “พลเมือง” แห่งรัฐนี้จะพึงมีพึงได้ภายใต้กฎหมายเกี่ยวข้องกับ “สวัสดิการแห่งรัฐ” ทั้งหลาย
@ ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปอีกนานสักเท่าไหร่ ระบบ “ฐานข้อมูลบุคคล” ของพระสงฆ์จึงจะมีความเป็น “ปัจจุบัน” และสามารถ “เชื่อมโยง” กับระบบ “ฐานข้อมูลบุคคล” ของ “กรมการปกครอง” กระทรวงมหาดไทย ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้สามมารถเชื่อมโยงได้จะหมดแล้ว จะเหลือก็เพียงฐานข้อมูลของพระสงฆ์ เท่านั้นเอง จริง ๆ
>>>>> “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” คงไม่ได้มีหน้าที่ทำเรื่องนี้ มั้ง ????????????? <<<<<
@ เพราะหลายปีผ่านมาแล้ว ความก้าวหน้าในเรื่อง “ฐานข้อมูลพระสงฆ์” ที่นำมาเสนอในการประชุมแต่ละครั้ง ก็ยังคงหยุดอยู่ที่ “ฐานข้อมูลพระสังฆาธิการ” จำนวนประมาณ 30,000 รูปเท่านั้น อีกราว 200, กว่ารูป ยังคงมีสภาพอยู่ใน “อากาศ” เท่านั้นเอง ส่วนพระสงฆ์ที่มีฐานข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบอื่นได้ ก็ล้วนมาจากการขวนขวายด้วยตนเอง และความพยายามของพระสังฆาธิการที่เห็นปัญหาเรื่องนี้ในระดับพื้นที่เสียเป็นส่วนใหญ่
@ “เอาไงต่อดี” ในเรื่อง “ฐานข้อมูลพระสงฆ์” ?????? คงต้องฝากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีอำนาจวาสนา ช่วยทำให้เป็นจริงด้วยเร็ววันด้วยเถิด !!!!!!!
Leave a Reply