“มจร” ปลื้ม ผลประเมินคุณภาพการศึกษาได้ “ระดับดีมาก”

วันที่ 21 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.บังอร  เสรีรัตน์ ประธานกรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา พัดเกตุ กรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา จักรไชย กรรมการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม มูลเมือง กรรมการ และรองศาสตราจารย์ ดร.ธัชชนันท์ อิศรเดช กรรมการและเลขานุการ นำเสนอข้อมูลผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2565 มีพระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้บริหาร เข้าร่วมฟังผลการประเมิน ณ ห้องประชุม 401 อาคารสำนักงานอธิการบดี ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

พระมหาชำนาญ มหาชาโน รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ เผยว่า การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา 2565 คณะกรรมการตรวจประเมินได้ดำเนินการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม พ.ศ.2566 ตามกระบวนการในระบบประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยใช้ตัวบ่งชี้และเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 13 ตัวบ่งชี้ และตัวบ่งชี้เพิ่มเติมของมหาวิทยาลัยตามมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2561 จำนวน 7 ตัวบ่งชี้  ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 การผลิตบัณฑิต องค์ประกอบที่ 2 การวิจัย องค์ประกอบที่ 3 การบริการวิชาการ องค์ประกอบที่ 4 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และ องค์ประกอบที่ 5 การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 20 ตัวบ่งชี้

“ปัจจุบันส่วนงานจัดการศึกษาของมหาจุฬาฯ ใช้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ EdPEx “Education Criteria for Performance Excellence” จำนวน 12 ส่วนงาน  คณะกรรมการ กล่าวถึงจุดเด่นของมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยมีจุดแข็งเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยด้านพุทธศาสนา สามารถทำวิจัยด้านพุทธศาสนาที่เป็นที่สนใจในวงวิชาการได้ในระดับโลก และมีการจัดประชุมทางวิชาการระดับชาติและนานาชาติอย่างสม่ำเสมอทุกปี ซึ่งผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในครั้งนี้ อยู่ในระดับ “ดีมาก” ได้คะแนน 4.52 “

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2430  เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุ สามเณรและคฤหัสถ์  ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2540  ได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ปีการศึกษา 2565  มหาวิทยาลัยจัดการศึกษา 5 คณะ 11 วิทยาเขต 30 วิทยาลัย 1 โครงการขยายห้องเรียน และ 1๑ หน่วยวิทยบริการ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง  มีจำนวนทั้งหมด 293 หลักสูตร โดยจำแนกเป็น ปริญญาตรี 170 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร ปริญญาโท 78 หลักสูตร ปริญญาเอก 43 หลักสูตร มีอาจารย์ทั้งหมด  1,351 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาโท 493 รูป/คน ปริญญาเอก 805 รูป/คน  และมีตำแหน่งทางวิชาการ จำนวน 473 รูป/คน จำแนกเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ 348 รูป/คน  รองศาสตราจารย์  117  รูป/คน และศาสตราจารย์ 8 รูป/คน ผลิตผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ 1,276  เรื่อง นิสิตทั้งสิ้น  19,704  รูป/คน จำแนกเป็น ปริญญาตรี 14,246 รูป/คน ปริญญาโท  3,427  รูป/คน  ปริญญาเอก 2,031 รูป/คน ในจำนวนนิสิตทั้งสิ้นมีนิสิตชาวต่างประเทศ   1,383 รูป/คน จาก 28  ประเทศ นิสิตสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2565  ทั้งสิ้น 6,189 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาตรี  2,920 รูป/คน ปริญญาโท  2,877 รูป/คน และปริญญาเอก 392 รูป/คน..

Leave a Reply