อธิการบดี มจร ไฟเขียว “เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน”

            เมื่อวานนี้ ( 1 สิงหาคม 63 ) ณ หอประชุมวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ พระราชปริยัติกวี   อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานเปิดปฐมนิเทศปฐมธรรมพร้อมให้โอวาทแก่ นิสิตปริญญาโทรุ่น 8 และปริญญาเอกรุ่น 5 หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

           พระราชปริยัติกวี  ให้โอวาทในการปฐมนิเทศ ตอนหนึ่งว่า เป็นที่น่ายินดีที่หลักสูตรสันติศึกษาได้จัดการเรียนการสอนที่สามารถตอบโจทย์สังคมและพระพุทธศาสนา มีการบูรณาการพระพุทธศาสนาเพื่อการนำไปพัฒนาสังคมและประเทศชาติ การเป็นวิศวกรสันติภาพจะต้องใช้โยนิโสมนสิการในการวิเคราะห์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อันไม่เป็นปกติสุขของสังคมว่า ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร โดยใช้โยนิโสมนสิการใคร่ครวญอย่างแยบคาย ซึ่งใช้ศาสตร์สมัยใหม่และศาสตร์ทางพระพุทธศาสนามาบูรณาการ

            ” ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยังไม่สำเร็จ เพราะดูสาเหตุไม่ครบถ้วน มองผ่านมิติองค์ประกอบไม่ครบถ้วน หรือ การมีอคติของผู้วิเคราะห์ความขัดแย้งเอง จึงต้องศึกษาจิต เจตสิก รูป ขันธ์ 5 ธาตุ 6พร้อมศึกษาหลักธรรมที่จะทำให้เราเป็นวิศวกรสันติภาพ ด้วยการมีเมตตาที่สูงส่ง มีอุเบกขาที่กล้าแกร่ง มีจิตอาสาไม่ท้อถอย 

              มหาจุฬา ฯ  ต้องวางรากฐานสร้างสันติภาพ ด้วยการออกไปสร้างเครือข่ายกับองค์กรภาคีต่าง ๆ จะได้มีเครือข่ายมีเครื่องมือที่หลากหลายในการสร้างสันติภาพ สิ่งสำคัญมหาจุฬาฯ จะต้องยกระดับเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน เป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยคนกลาง มหาจุฬา ฯ ซึ่งเป็นสถานที่มีความเป็นสัปปายะ มีความเหมาะสม มหาจุฬา ฯ จะต้องเป็นศูนย์กลางของการสร้างความสามัคคีของสังคม หวังว่าจะเห็นมหาจุฬาเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน แสดงให้เห็นว่ามหาจุฬาฯต้องมีบทบาทของการป้องกัน แก้ไข เยียวยา และสร้างสันติภาพต่อไป..”   พระราชปริยัติกวี กล่าวเน้นย้ำก่อนจบปฐมนิเทศ

              หลักสูตรสันติศึกษา เป็นหลักสูตรเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้ร่วมร่วมมือพัฒนาหลักสูตร “สันติศึกษา” ขึ้นมา เพื่อร่วมเสริมสร้างและพัฒนาสันติภาพภายในบุคคลต่างๆ ให้สามารถสัมผัสพลังสันติภาพที่ซ่อนตัวอยู่ภายในใจของแต่ละคนเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ว่า “ไม่มีความสุขอื่นใดที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าความสงบสุข” การเข้าใจความจริงดังกล่าว จะทำให้แต่ละคนเห็นอกเห็นใจกัน พร้อมที่จะแบ่งปันความสุข และความทุกข์โดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา และเมื่อเกิดความขัดแย้ง และความรุนแรงเกี่ยวกับผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ ค่านิยม และโครงสร้างขึ้นมาครั้งใด กลุ่มคนต่างๆ จะสามารถมองความขัดแย้งในเชิงบวก โดยการร่วมสร้างและพัฒนาทางเลือกในการประยุกต์ใช้เครื่องมือจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงโดยสันติวิธีได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดรับกับสถานการณ์และความเป็นไปของโลกและชีวิตภายใต้แนวคิด โลกทั้งผอง คือ พี่น้องกัน

              ปัจจุบันหลักสูตรสันติศึกษามี พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร

*****************

Leave a Reply