นักวิชาการไทย-อินเดีย หนุนใช้พุทธวิธี นำพุทธธรรมค้ำจุนสังคมโลกวิถีใหม่อยู่อย่างพอเพียง

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565 พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ผศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า การจัดประชุมออนไลน์ (Virtue webinar) เรื่อง พุทธวิธีแก้ปัญหาการศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 (A Buddhist solution for education in the 21st Century)

มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเวทีให้นักวิชาการด้านการศึกษาได้มาแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนและสนับสนุนแนวคิดด้านการบูรณาการพุทธวิธีมาใช้กับการพัฒนาผลการเรียนรู้ของพลเมืองโลก โดยมีนักวิชาการจากไทยและอินเดียร่วมประชุม เช่น พระมหาวิชาญ สุวิชาโน,ดร. ประธานสงฆ์ศูนย์ปฏิบัติธรรม สติภาวนาภิรตาราม จังหวัดสุรินทร์ , ดร.ลำพอง กลมกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ Dr. Vikas Singh,Assistant Professor & Head Department of Sanskrit Marwari College Lalit Narayan Mithila University,India และ Asst.Prof.Dr.Sandeep Gaikwad, Dr. Babasaheb Ambedkar Marathwada University ,India เป็นต้น

“ปัญหาการศึกษาของโลกปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตลอดถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต้องปรับตัวในการทำงาน เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นเครืองมือสำคัญในการพัฒนาพลเมืองโลก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการจัดการศึกษาทุกระดับชั้นของโลก การจัดการศึกษาหรือพัฒนาการเรียนรู้ตามแนวพุทธจึงสำคัญและจำเป็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบันเป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้บรรยายเรื่อ พุทธวิธีแก้ปัญหาเพื่อศตวรรษที่ 21 (A Buddhist Solution for the Twenty-first Century) เดือน สิงหาคม 2536 ตอนหนึ่งว่า “มรดกสำหรับศตวรรษที่ 21 สันติสุข หรือความทุกข์และปัญหา..โลกพัฒนากว้างไกล ทำไมมนุษย์ไม่พบสันติสุข..”จากข้อความสั่นๆ นำมาสู่การประชุมสัมมนาในวันนี้ว่า จัดการศึกษาแบบใดถึงจะสร้างพลเมืองโลกให้พบสันติสุข” พระปลัดสรวิชญ์ กล่าว

พระมหาวิชาญ กล่าวว่า การจัดการศึกษาตามหลักไตรสิกขา เป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม สามารถพัฒนามนุษย์ไปพบสันติสุขได้ การศึกษา เรียนรู้ ปฏิบัติและทบทวนผลการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง,

Asst.Prof.Dr. Vikas Singh กล่าวว่า จุดสำคัญของการศึกษาทางพุทธ คือ การสร้างพลเมืองให้มี ความเมตตา กรุณาต่อ เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือ ภาษา,

ดร. Asst.Prof.Dr.Sandeep Gaikwad กล่าวว่า “การดำรงชีวิตของมนุษย์ปัจจุบัน ยึดติดอยู่กับปัจจัยภายนอกมากกว่าจิตใจ เงิน ไม่ใช่ ชีวิตทั่งหมดของมนุษย์ หากแต่ มีความจำเป็นต้องการใช้ชีวิต หากเรามีการศึกษามีปัญญา เราก็สามารถหาเงิน หรือหาทรัพย์ได้ ควรสอนเรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน คือ

1. ขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ 2. การรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่าง ๆ 3.คบคนดี ไม่คบคนชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา 4. อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้”

นาย Punamchandra Bhosale .กล่าวว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเรา คือ ความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หลักคำสอนที่สำคัญคือ การมีความเมตตา กรุณาต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ควรฝึกพลมืองของโลกให้มีลักษณะแบบนี้

พระ Bhikkhu Deepratan กล่าวว่า บุญ เป็นชื่อของความสุข การที่มนุษย์มีจิตใจเมตตา ปรารถนาช่วยเหลือหรือบริจาคสิ่งของให้ผู้อื่นเพื่อให้คลายความทุกข์ได้ เป็นจิตของพระโพธิสัตย์ การจัดการศึกษาเชิงพุทธควรสร้างพลเมืองที่มีจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตาอยากช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์และบำเพ็ญบารมีบารมี 10 ประการ ได้แก่ การบำเพ็ญเพียรด้วยให้ทาน การตั้งมั่นในศีล การถือบวชหรือการตัดอารมณ์ทางกาม การตั้งจิตให้พร้อมด้วยปัญญา ใช้ปัญญาในการคิดแก้ปัญหาทั้งปวง การมีความเพียรในทุกขณะ การมีขันติ คือ ความอดทน อดกลั้นต่อกิเลสที่มารุมเร้า การมีสัจจะ คือ ความตั้งใจจริง การทำจริง และการพูดคำสัตย์ การตั้งใจมั่นให้แน่วแน่ ไม่เปลี่ยนแปลงการการบำเพ็ญเพียรทั้งปวง การมีความเมตตาต่อผู้อื่น และสรรพสัตว์ทั้งปวง และ การวางเฉยทั้งกาย วาจา และใจ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

การสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับความร่วมมือจากนักปฏิบัติการทางการศึกษาได้มาร่วม แสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพุทธและกระบวนการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมืองโลกให้เกิดผลการเรียนรู้ด้วยวิธีฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ, เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (physical development) ฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน (moral development) ฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น : (emotional development) และฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา (intellectual development)

สำหรับการจัดสัมมนาครั้งต่อไป ทางหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จักได้เชิญนักการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วม Show Share และ cheer ในประเด็นสำคัญทางด้านการศึกษาและพระพุทธศาสนาต่อไป ท่านสามารถติดตามรับชมกิจกรรมย้อนหลังได้ทางช่อง YouTube https://www.youtube.com/channel/UCYiqVBOw5L0aFw8OR4-3cfg/videos และ เพจ CBTTV ONLINE https://www.facebook.com/CBTMCUTVONLINE ได้ตลอดเวลา

Leave a Reply