ปลัด มท. เยี่ยมชมและให้กำลังใจผู้ประกอบการผ้าไทย -สินค้า OTOP ในงาน “Crafts Bangkok 2024”

วันนี้ (28 ส.ค. 67) เวลา 15:00 น. ที่โถงนิทรรศการ 98-99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเยี่ยมชมและให้กำลังใจผู้ประกอบการผ้าไทย ผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้า OTOP ในงาน “Crafts Bangkok 2024” จัดโดย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายไพโรจน์ โสภาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมเยี่ยมชม

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะ ร่วมพบปะพูดคุยให้กำลังใจผู้ประกอบการบูธต่าง ๆ ที่นำสินค้ามาจัดแสดงและจัดจำหน่าย ซึ่งมีสินค้ามากมายหลายประเภท ทั้งงานหัตถศิลป์หัตถกรรม ผ้าไทย ถ้วยชามเซรามิค เครื่องประดับ อาทิ ร้าน Kram de (ครามเด้อ) อุดรธานี ร้าน INGDIGO สกลนคร ร้าน HOMHUK สกลนคร ฝ้ายเปลือกไม้ แม่แจ่ม เชียงใหม่ ญเนศไทยดีไซน์ แพร่ DUDEE4ME เชียงใหม่ Derndin House ปัตตานี Mann Craft สกลนคร ผาสาทแก้ว มหาสารคาม คำปุน อุบลราชธานี ลำพูนไหมไทย อุทัยธานี หัตถกรรม ผ้าด้นมืออู่ทอง สุพรรณบุรี ซิ่นไหมของแม่ ศรีสะเกษ กลุ่มหัตคุ้มสุขโข ขอนแก่น ลำพูนไหมไทย ลำพูน CKP เครื่องเงิน เชียงใหม่ สิปป์ เปลือกไข่วิจิตรศิลป์ สมุทรปราการ วิเศษศิลป์ พระนครศรีอยุธยา Benjametha Ceramic ปัตตานี West tree art studio กาญจนบุรี สาธุ – Satu เชียงใหม่ Ninechaidee เชียงใหม่ และอิมปานี ราชบุรี

ในการเยี่ยมชมงานครั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวให้กำลังใจผู้ประกอบการในการน้อมนำพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “Sustainable Fashion” ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตชิ้นงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการใช้วัสดุและการสีที่มาจากธรรมชาติ ควบคู่การปลูกพืชให้สีธรรมชาติทดแทน และขณะเดียวกันยังได้ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของชิ้นงานโดยติดเครื่องหมาย “Sustainable Fashion” ซึ่งเป็นเครื่องหมายพระราชทานแสดงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์อันเป็นพระวิสัยทัศน์และพระปรีชาชาญของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเสริมสร้างคุณค่าของชิ้นงานให้กับผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจในการผลิตชิ้นงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นพลเมืองที่ดีโดยการดูแลรักษาโลกใบเดียว สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs)

“หากเราจะกล่าวถึงงาน Crafts หรืองานฝีมือของคนไทยนั้น จะทำให้เรานึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “…ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทย มีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใดคนไทยมีความละเอียดอ่อน และไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขาได้โอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้…” ซึ่งงานในวันนี้ทำให้พวกเราได้ร่วมกันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงเป็นหลักชัยในการเสริมสร้างการพัฒนางานฝีมือของคนไทย ส่งผลให้พรสวรรค์ที่มีอยู่ในสายเลือดคนไทยทุกคน ได้รับการรังสรรค์จนกลายเป็นชิ้นงานที่มีความสวยสดงดงาม มีความคิดสร้างสรรค์ อันหลากหลาย และยังสะท้อนถึงการน้อมนำพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” อีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า การร่วมเยี่ยมชมผลงานในงาน Crafts Bangkok 2024 ครั้งนี้ ได้พบเห็นความหลากหลายของชิ้นงานที่มีคุณค่า ทั้งในมิติเรื่องราว และด้านเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งน่าเสียดายว่างานในครั้งนี้จัดวันนี้เป็นวันสุดท้าย แต่ก็ยังมีกิจกรรมที่พี่น้องผู้ประกอบการยังสามารถนำผลงานไปอวดโฉม ไปนำเสนอให้กับผู้บริโภคได้เลือกซื้อเลือกหาในงานมหกรรมสินค้า OTOP ทั้งงานระดับชาติ ที่ 1 ปีจะมี 3 กิจกรรมใหญ่ ได้แก่ 1) งาน OTOP Midyear 2) งาน OTOP ศิลปาชีพประทีปไทย และ 3) งาน OTOP City และงานระดับภูมิภาคที่กรมการพัฒนาชุมชน จะจัดสัญจรไปยังภาคต่าง ๆ รวมถึงงานประจำปีที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแต่ละจังหวัด จะได้รับการหนุนเสริมโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มีการจัดจำหน่ายสินค้า OTOP ตลอดทั้งปี และการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตนจึงได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการจากทุกพื้นที่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก OTOP เพื่อนำสินค้าเข้าสู่ตลาดสินค้า OTOP ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับสินค้าให้ได้การรับรอง เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด กระจายและขยายพื้นที่จำหน่ายอย่างกว้างขวาง และยังเป็นการเสริมสร้างการรับรู้ให้กับสังคมโดยทั่วไป ยังผลให้เกิดการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ หนุนเสริมช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์สู่นานาชาติ เกิดการหมุนเวียนรายได้มาสู่ประเทศไทย นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

สำหรับงาน Crafts Bangkok 2024 จัดโดย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ในครั้งนี้ กิจกรรมแบ่งออกเป็น 9 โชน ประกอบด้วย 1. ส่วนจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 2. ส่วนจัดแสดงผลงานของนักสร้างสรรค์ งานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ 3. ส่วนจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของ สศท. 4. ส่วนจัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรม 5. ส่วนจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ ได้แก่ โครงการกำลังใจ โครงการเซรามิกส์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ 6. ส่วนจำหน่ายผลิตภัณฑ์รองผู้ประกอบการงานหัตถกรรมกว่า 400 คูหา 7. กิจกรรม Workshop โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมทายาทช่างศิลปหัตถกรรม หรือ สมาชิกผู้ประกอบการ สศท. หรือนักสร้างสรรค์งานคราฟต์ 8. กิจกรรมการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) โดยผู้ซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ 9. กิจกรรมส่งเสริมการขาย อาทิ การจำหน่ายสินค้าผ่าน Live on social media โปรโมชั่นพิเศษร่วมกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน และกิจกรรมเสวนาพูดคุยในหลากหลายมุมมองเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรม เพื่อเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์และแนวคิดระหว่างกัน รวมถึงกิจกรรมร่วมสนุกแจกของรางวัลแลกรับของรางวัลหลากหลาย

Leave a Reply