การทำพาสปอร์ต (passport) พระเณรไทย ที่ยังไปไม่ถึง 4.0

         วันนี้จะพาไปดูข้อมูลพระภิกษุสามเณรที่มีความประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง

       สำหรับพระภิกษุสามเณร ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศนั้น เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ดงขมิ้นว่า ระเบียบขั้นตอนในการขออนุญาตเพื่อทำหนังสือพาสปอร์ต มันช่างมากมายหลายขั้นตอนเหลือเกิน ซึ่งความยากลำบากที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับกรมการกงศุลผู้ทำหนังสือ พาสปอร์ต passport แต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นความลำบากที่มาจากคนในของเรากันเองทั้งนั้น ที่กำหนดกฏระเบียบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำหรือไม่ให้ทำเอาไว้

ดังจะเห็นได้จาก การทำพาสปอร์ตของพระเณรไทยในแต่ละครั้ง เมื่อว่ากันโดยพื้นฐานทั่วไป ทุกรูปต้องใช้เวลาในการยื่นขอคำอนุญาตไม่ต่ำกว่า 15 วัน นี้คือเร็วที่สุดในกรณีโชคดีผ่านทุกด่าน ถ้าโชคไม่ดีก็ต้องใช้เวลาในการยื่นขออนุญาตมากกว่าหนึ่งเดือนหรือสองเดือน ถึงกับเคยมีคนสัปยอกเรื่องนี้ไว้ว่า หากมีงานนิมนต์ด่วนจากต่างประเทศเข้ามา แล้วเผอิญคนถูกนิมนต์ไม่ได้ทำพาสปอร์ตไว้ก่อน เป็นอันหมดสิทธิ์รับ

passportonk
ถามว่า ขั้นตอนการขออนุญาตทำ พาสปอร์ต (passport) นั้นยากเย็นและมากขั้นตอนแค่ไหนไปดูกันเลยครับ

    1. พระเณรที่ต้องการทำหนังสือ พาสปอร์ต (passport) ต้องเดินทางไปซื้อ ใบยื่นคำร้อง ที่ สำนักงาน ศตภ.หรือที่โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือร้านที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายที่กรุงเทพเท่านั้น จะมาดาวน์โหลดแล้วปริ้นเขียนแบบเอกสารอย่างอื่นไม่ได้นะขอรับ ต้องเดินทางไปซื้อที่กรุงเทพเท่านั้น เว้นไว้แต่บางจังหวัดที่ เลขาจังหวัดท่านอนุเคราะห์ซื้อไปสำรองไว้ให้สำหรับพระเณรในเขตของท่าน ซึ่งก็มีไม่กี่จังหวัดที่ทำแบบนี้ นี้แค่ขั้นตอนแรก ก็ต้องเดินทางไปกรุงเทพเสียแล้ว
    2. เมื่อได้ใบยื่นคำร้อง ศตภ. มา ท่านก็ต้องกรอกรายละเอียดตามที่ ศตภ.กำหนดรายละเอียดไว้ในเอกสารยื่นคำร้อง พร้อมแนบเอกสารประกอบให้ครบ อันนี้ สำคัญมาก ขาดหายไปอันเดียวเอกสารของท่านทั้งหมดจะมีค่าเท่ากับศูนย์ทันที

pass1

    1. เมื่อทุกอย่างครบ ก็ต้องนำไปขอความเมตตาจากหลวงพ่อเจ้าอาวาสตามสังกัดในหนังสือสุทธิขอย้ำว่า เจ้าอาวาสตามสังกัดที่ระบุในหนังสุทธิของแต่ละท่านไม่ใช่เจ้าอาวาสในวัดที่ท่านอาศัยอยู่นะขอรับ……ให้เจ้าอาวาสตามสังกัดในหนังสือสุทธิได้เซ็นอนุญาตเป็นด่านแรก ด่านนี้ มักจะสร้างความลำบากและปัญหาให้แก่พระภิกษุสามเณรที่ตัวเองอาศัยอยู่วัดวัดหนึ่ง แต่มีสังกัดในหนังสือสุทธิอยู่อีกวัดหนึ่งมาก เพราะเจ้าอาวาสที่ต้องเซ็นเขากำกับเอาตามสังกัดในหนังสือสุทธิ เพื่อนแอดมินบางรูปสังกัดอยู่เชียงราย แต่มาเรียนอยู่กรุงเทพ นี้ก็ต้องถ่อกันกลับไปให้วัดที่เชียงรายที่เป็นต้นสังกัดเซ็น
    2. เมื่อได้ลายเซ็นเจ้าอาวาสแล้ว ก็ไปยื่นต่อให้เจ้าคณะตำบลเซ็น
    3. เมื่อได้ลายเซ็นเจ้าคณะตำบลแล้ว ก็ไปยื่นต่อให้เจ้าคณะอำเภอเซ็น
    4. เมื่อได้ลายเซ็นเจ้าคณะอำเภอแล้ว ก็ไปยื่นต่อให้เจ้าคณะจังหวัดเซ็น

pass2

  1. เมื่อได้ลายเซ็นเจ้าคณะจังหวัดแล้ว ก็ไปยื่นต่อให้เจ้าคณะภาคเซ็น
  2. เมื่อได้ลายเซ็นเจ้าคณะภาคแล้ว ก็ไปยื่นต่อให้สำนักงาน ศตภ. (ศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร) เพื่อให้คณะกรรมการ ศตภ.ท่านได้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานพร้อมลงมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ถ้าไม่อนุมัติ เจ้าของเอกสารต้องเดินเรื่องใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ซื้อเอกสาร รวบเอกสาร และเซ็นมาใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนแรก พราะเอกสารเดิมท่านไม่เคยให้
  3. กรณี ผ่านความเห็นคณะกรรมการ ศตภ. มาแล้ว ทาง ศตภ. ก็จะยื่นไม้ต่อให้กับที่ประชุมมหาเถรสสมาคมเพื่อลงนาม
  4. เมื่อ มส.มีมติ ลงนามตามที่คณะกรรมการ ศตภ.เสนอไป สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็จักทำหนังสือส่งไปที่กรมการกงสุล เพื่อเป็นการบอกให้รู้ว่า พระภิกษุสามเณรที่มีรายชื่อตามประกาศ ได้รับอนุญาตจาก มส.ให้สามารถทำพาสปอร์ตได้ (ใช้ระยะเวลาเกือบ 3 วัน)
48386054_361986381027694_3387638511074017280_n

เห็นมั้ยละครับว่า กว่าพระเณรจะได้พาสปอร์ตมานั้น มันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน การขอลายเซ็นจากพระชั้นปกครองในแต่ละระดับนั้น ก็ใช่ว่า ไปขอวันไหนก็จะได้วันนั้น บางครั้งไปแล้วไม่เจอท่านก็มี ท่านไปต่างจังหวัดก็มี ท่านอยู่แต่ไม่สะดวกเซ็นในวันนั้นก็มี หรือท่านขอพิจารณาเอกสารหลักสารก่อนที่จะเซ็น โดยนัดมาเอาวันหลังก็มี ท่านนัดวันมาเอาแล้วท่านเกิดมีงานด่วนไม่อยู่วัดก็มี ฉะนั้น เวลาจึงยืดออกไปเรื่อยๆตามแต่ผู้เซ็นจะเซ็นช้าหรือเร็ว (เราคนมาขอลายเซ็นแม้จะอยากได้เร็วแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะเร่งได้ตามใจปรารถนา เพราะเรามาขอความเมตตา เมื่อท่านผู้เซ็นขอพิจารณาแม้จะช้าไปสองสามวันหรือมากกว่านั้นเราก็ต้องรอ)

pass3และเมื่อได้เอกสารทั้งหมดพร้อมลายเซ็นจากเจ้าคณะภาคแล้ว การส่งต่อไปให้ ศตภ.นั้น ส่งวันไหนก็ได้ แต่ทาง คณะกรรมการจะกลั่นกรองและพิจารณาเอกสาร พร้อมมีมติว่า เอกสารที่ส่งไปผ่านหรือไม่ผ่านในวันที่ 1 กับวันที่ 15 ของทุกเดือนเท่านั้น เช่นส่งเอกสารไปที่ ศตภ. วันที่ 2 ก็ต้องรอไปจนถึงวันที่ 15 จึงจะรู้ผล ถ้ามีเหตุให้เลื่อนประชุม ก็ต้องรอไปอีก และเมื่อ ศตภ.ประกาศผลว่า ผ่านแล้วก็ต้องรออีก 3 วันเพื่อให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีหนังสือไปที่กรมการกงศุล
….แต่ถ้าเกิดกรณ๊ที่ ศตภ.บอกว่า ไม่ผ่าน ก็ต้องยื่นเอกสารใหม่ทั้งหมด ตามขั้นตอนเดิมตั้งแต่แรก ไม่มีคืนของเก่าที่ส่งไปใดใดทั้งสิ้น เพราะทาง ศตภ.ต้องเก็บไว้เป็นเอกสารหลักฐาน ใครโดนพิจารณาว่า เอกสารไม่ผ่านนี้ มีเข่าทรุด  ขอ ขอบคุณภาพ /ข้อมูลขอบคุณภาพ /ข้อมูลเลยละจ้ะ

จึงสรุปได้ว่า การได้มาซึ่งพาสปอร์ตของพระเณรนั้นความยากอยู่ตรงที่การขอยื่นคำร้องขออนุญาตจาก ศตภ. เมื่อ ศตภ.อนุญาตแล้วก็ไม่ยากหรอกครับ เพราะกรมการกงสุลเขาทำให้พาสปอร์ตได้เร็วสุด 1 วัน ช้าสุดก็ 3 หรือ 7 วันตามกำลังปัจจัยในกระเป๋า

เมื่อได้พาสปอร์ตมาแล้ว จึงค่อยไปทำวีซ่าต่อ ฉะนั้น พระเณรเราหากมีงานด่วนจากต่างประเทศแล้วไม่มีพาสปอร์ตอยู่ในมือก่อนอยู่แล้ว รับรองได้ว่า หมดสิทธิ์ไปแน่นอน

จึงมาชวนทุกท่าน คิดต่อไปว่า ถึงเวลาที่คณะสงฆ์เราจะถ่ายโอนอำนาจการอนุญาตให้พระเณรทำพาสปอร์ตไปให้ราชการเขารับผิดชอบอนุมัติได้เองเหมือนคนทั่วไปได้รึยัง จะปรับวิธีทำพาสปอร์ตของพระเณรให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นได้แล้วหรือยัง หรือถ้าจะลดขั้นตอน จะลดขั้นตอนใดได้บ้างเพราะการเดินทางไปกลับๆในระหว่างขอลายเซ็นนั้น ค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลยแพงกว่าค่าพาสปอร์ตเสียอีก แอดมินจึงมาชวนคิดชวนเม้นต์ครับ จะได้ไป 4.0 กับเขาเสียที หรือใครมีข้อเสนอดีดี ลองคอมเม้นต์มานะครับ

 

///////////////////////////////

 

ขอบคุณภาพ /ข้อมูล :http://www.monknews.net/

ท่านที่ต้องการทำพาสปอร์ต Passport สามารถอ่านรายละอียดได้เว็บไซต์ของ ศตภ. : http://www.sortorpor.com/index.asp

ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บ : http://www.nationmultimedia.com/detail/national/30344069

Leave a Reply