วันที่ 9 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา ห้องประชุมพุทธปัญญา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มจร เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพัฒนาและฝึกอบรม รวมถึงนักออกแบบหลักสูตรระยะสั้น เช่น ดร.สุรวงศ์ วัฒนกุล อาจารย์สาโรจน์ พึ่งไทย อาจารย์สราวุฒิ พันธุชงค์ เป็นต้น มาร่วมระดมสมอง เพื่อหารูปแบบการฝึกอบรม และหลักสูตรการฝึกอบรมที่เหมาะสม ทันสมัย และโดนใจคนยุคดิจิทัล
การที่วิทยาลัยฯ ได้ปรับแผน 12 (2560-2564) หลังจากใช้มาได้ครึ่งทาง โดยได้นำประเด็นการจัดหลักสูตรพัฒนาและฝึกอบรมระยะสั้นเข้าไปใส่ในแผนด้วยนั้น เพราะสังคมยุคดิจิทัลมีพฤติกรรมการแสวงหาความรู้ที่เปลี่ยนไป คนยุคดิจิทัลมีนิสัยง่าย เร็ว ไว แปลกใหม่ ท้าทาย ได้ลงมือทำ การจัดหลักสูตรระยะสั้นจึงควรตอบโจทย์พฤติกรรมดังกล่าว เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้งานได้อย่างเหมาะสมและสอดรับกับความต้องการ
ผู้มีความเชี่ยวชาญได้ให้ข้อสังเกตว่า ถ้าวิทยาลัยฯ จะกระโดดลงไปเล่นในตลาดนี้ จากการทำหน้าเป็นเพียงวิทยากรไปสู่การจัดทำศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมนั้น คำถามคือ สังคมทราบไหมว่า IBSC คือใคร ใครคือกลุ่มเป้าหมาย (Target group) ที่วิทยาลัยต้องการจะมุ่งเน้น จุดเน้นหรือจุดแข็งของวิทยาลัยทั้งที่เป็นองค์ความรู้เพื่อนำมาจัดทำเป็นหลักสูตร และตัววิทยากรอยู่ตรงไหน อะไรคือความแตกต่างที่คนอื่นทำไม่ได่ แต่วิทยาลัยสามารถทำได้
พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า ตามแผนนั้น วิทยาลัยจะเร่งจัดวางองค์ประกอบของการทำงานที่เป็นระบบและกลไกการบริหาร การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อให้บริการแก่สังคมทั้งในระดับชาติและนานาขาชาติ ในขณะเดียวกัน วิทยาลัยยังคงดำเนินการภารกิจหลักที่เป็นการจัดการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การจัดหลักสูตรทั้งหมดของวิทยาลัยจะเป็นไปเพื่อการตอบวิสัยทัศน์ที่ว่า “ศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสตร์นานาชาติ”
Leave a Reply