เปิดที่มา “ประเพณีก่อเจดีย์ทราย” จากความเชื่อสู่ประเพณีคู่สงกรานต์ 2566

วันที่ 15 เมษายน 66  ในช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบนี้บรรดาวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากมีกิจกรรมทำบุญ ใส่บาตร แล้ว กิจกรรมอีกประการหนึ่งที่กลายเป็นกิจกรรมที่นิยมการอย่างแพร่หลาย ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยอย่างเดียวเท่านั้น บรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาหลายประเทศก็นิยมทำกันนั่นคือ “การก่อพระเจดีย์ทราย” 

การก่อพระเจดีย์ทรายเป็น ประเพณีดั้งเดิมของไทย สืบสานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นพร้อมกับวันสงกรานต์ โดยมีจุดเริ่มต้นเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ปัจจุบันประเพณีก่อเจดีย์ทรายไม่เพียงแต่จัดขึ้นเพื่อทำบุญใหญ่ แต่นิยมจัดขึ้นโดยเน้นเพื่อการเฉลิมฉลอง เพิ่มสีสันให้ช่วงเทศกาลวันสงกรานต์แทน

ประเพณีก่อเจดีย์ทรายคืออะไรก่อเจดีย์ทราย คือ การก่อเจดีย์ทรายเป็นรูปทรงต่างๆ ในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ หรือในพื้นที่จะก่อเจดีย์ทรายบริเวณวัด เพื่อให้สะดวกต่อการขนไปไว้บริเวณต่างๆ โดยการก่อเจดีย์ทรายเกิดขึ้นจากความเชื่อ ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเกิดเป็นประเพณี ซึ่งปัจจุบันก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ประวัติเริ่มต้น

ตามประวัติเดิม ประเพณีก่อเจดีย์ทราย เริ่มจากความเชื่อในทางศาสนาพุทธ โดยเชื่อว่า เมื่อมีโอกาสได้ไปทำบุญ เข้าวัด ในระหว่างเดินทางกลับ จะมีเศษดิน หิน ทราย กรวด ติดเท้ากลับออกไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่อยู่ในพื้นที่วัด ถือเป็นสมบัติของพระศาสนา ดังนั้น การที่นำเศษดิน หิน ทราย กลับไป ถือว่าผิดศีลข้อ 2 ฐานลักทรัพย์

ในทุกๆ ปี จึงมีการจัดกิจกรรมประเพณีก่อเจดีย์ทรายในช่วงสงกรานต์ เมื่อหลังจากก่อเสร็จแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมงานจะช่วยกันขนทรายไปยังบริเวณวัด เตรียมสำหรับใช้บูรณปฏิสังขรณ์สิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณวัด ถือเป็นการสะสมบุญกุศลอีกรูปแบบหนึ่ง

ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีก่อเจดีย์ทราย 2566
นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนาในข้างต้น ยังพบว่า มีตำนานความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีก่อเจดีย์ทราย สงกรานต์จากคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถี ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าและเผอิญเห็นหาดทรายมีสีขาวบริสุทธิ์ จึงเกิดความศรัทธา ก่อทรายเป็นเจดีย์ทราย 84,000 กอง ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ถวาย โดยเชื่อว่าเป็นบุญใหญ่ จึงถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคไหน
ประเพณีก่อเจดีย์ทรายพบได้ในทุกภาคทั่วประเทศไทย เพียงแต่จะมีรูปแบบประเพณีที่แตกต่างกัน ดังนี้

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคกลาง

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคกลาง จะใช้ชื่อเรียกเดิมคือ “ประเพณีก่อเจดีย์ทราย” เน้นเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมพื้นบ้านอื่นร่วมด้วย เช่น ขบวนแห่วันสงกรานต์ การรำวง การประกวดนางสงกรานต์ รวมถึงการแข่งขันประกวดก่อเจดีย์ทราย

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคเหนือ

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย สงกรานต์ ทางภาคเหนือ เรียกว่า “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” นิยมขนทรายเข้าวัดในช่วงบ่าย จุดเด่นของประเพณีภาคเหนือ จะนิยมใช้ตุงมาประดับตกแต่ง และจะมีการบูชารอยพระพุทธบาทด้วยเจดีย์ทราย

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคอีสาน

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคอีสาน เดิมทีเรียกว่า “ประเพณีบุญตบประทาย” นอกจากการขนทรายและก่อเจดีย์ ยังมีการแห่พระพุทธรูป ทำบุญตักบาตร และสรงน้ำพระร่วมด้วย

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคตะวันตก

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคตะวันตก สืบทอดต่อกันมาเป็นระยะเวลาหลายปี ประเพณีจะเริ่มจากการขนทรายไปยังบริเวณวัด ก่อเจดีย์ทราย มีขบวนผ้าป่า และมีการถวายสำรับกับข้าว อาหารหลากหลายชนิดที่บริเวณวัด

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคตะวันออก

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคตะวันออก ถือเป็นประเพณีที่สำคัญ เรียกว่า “ปีใหม่ไทย” ของชาวเล โดยนิยมจัดกิจกรรมก่อเจดีย์ทรายบริเวณริมทะเล เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในบางพื้นที่จะมีการขุดทรายตามแหล่งน้ำ เพื่อนำไปก่อเจดีย์ทราย เรียกว่า “ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล” แต่ในระยะเวลาต่อมา ประเพณีดังกล่าวจางหายตามกาลเวลา จึงเหลือเพียง “วันไหล”

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคใต้

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคใต้ นอกจากจะก่อเจดีย์ทราย ยังมีการจุดเปรียงเพิ่มสีสันและความสวยงาม พร้อมทั้งมีพิธีแห่นางกระดานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ร่วมด้วย

ประเพณีก่อเจดีย์ทรายวันไหนบ้าง
ประเพณีก่อเจดีย์ทรายมีกำหนดเวลาจัดที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ดังนี้

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคกลาง จัดพร้อมกับวันสงกรานต์
ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคเหนือ จัดช่วงวันที่ 1 หรือ 2 ของวันสงกรานต์
ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคอีสาน จัดพร้อมกับวันสงกรานต์
ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคตะวันตก จัดหลังจากเทศกาลสงกรานต์ 1-2 วัน
ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคตะวันออก จัดหลังจากเทศกาลสงกรานต์ 5-6 วัน
ประเพณีก่อเจดีย์ทราย ภาคใต้ จัดพร้อมกับวันสงกรานต์

ก่อเจดีย์ทราย ใช้ทรายอะไร
การก่อเจดีย์ทรายไม่มีกำหนดตายตัวว่า จะต้องใช้ทรายประเภทใด แต่ตามประเพณีความเชื่อท้องถิ่นในบางพื้นที่ จะมีการใช้ทรายจากแหล่งน้ำต่างๆ นอกจากจะได้ทำบุญใหญ่ ยังเป็นการช่วยทำความสะอาดแหล่งน้ำสาธารณะ ให้น้ำไหลผ่านได้อย่างสะดวก

ประเพณีการก่อเจดีย์ทรายเริ่มจางหายตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ดังนั้น ในบางพื้นที่จึงมีการจัดกิจกรรมประกวดการแข่งขันก่อเจดีย์ทราย สงกรานต์ เป็นประจำทุกปี เพื่อดำรงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม ส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเฉลิมฉลอง เพิ่มสีสันในช่วงวันสงกรานต์.

ขอบคุณ :: ไทยรัฐ

Leave a Reply