ศาลจังหวัดทุ่งสง เมืองคอน พิพากษาจำคุก 6 จำเลย 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท ปิดคดีอิทธิพลทำลายทรัพย์สิน-ปิดวัด-โรงเรียน ขับไล่เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช รักษาการเจ้าอาวาสวัดดัง ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 6 จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 3 ปี คุมประพฤติ 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเข้าไปกระทำการรบกวนโจทก์ รวมทั้งวัด โรงเรียน และชุมชนอีก
วันที่ 30 ต.ค. 66 จากกรณีกลุ่มอิทธิพลก่อเหตุรื้อกำแพงรั้ววัด ปิดทางเข้า-ออกวัด และโรงเรียน ข่มขู่คุกคามขับไล่พระราชปริยัติเวที เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช รักษาการเจ้าอาวาสวัดอินทาราม หมู่ 3 ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ทำให้พระภิกษุ และชาวบ้านรวมทั้งเด็กนักเรียนหลายร้อยคนเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่สามารถนำรถหรือพยานพาหนะทุกชนิดเข้าไปภายในวัดและโรงเรียนได้ ทางคณะสงฆ์และผู้บริหารโรงเรียน ได้เดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ทางพระราชปริยัติเวที ได้แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ก่อเหตุจำนวน 6 คน เมื่อเดือน ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ตามที่เสอนข่าวไปแล้วนั้น
พระราชปฏิยัติเวที หรือ เจ้าคุณเจือ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในขณะนั้นอาตมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช คนกลุ่มนี้ ตัดต้นไม้ ทุบทำลายกำแพงวัด และนำเสาปูนมาปักกั้นพื้นที่ภายในวัดเป็นของตัวเองโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง เป็นความผิดทางอาญาทั้งบุกรุก และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ พยานหลักฐานที่ชัดเจนมากๆ จนอาตมาพร้อมศูนย์ดำรงธรรมอำเภอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงไปประชุมแก้ปัญหาและสามารถตกลงกันได้ มีการทำบันทึกและทุกฝ่ายรวมทั้งตัวแทนคนกลุ่มนี้ ลงลายมือชื่อไว้อย่างเป็นทางการ โดยทางคณะสงฆ์ก็ไม่ติดใจเอาความ แต่ผ่านมาเกือบ 2 ปี เมื่อเปลี่ยนเจ้าคณะจังหวัด เปลี่ยนนายอำเภอ และเปลี่ยน ผกก.ในพื้นที่ คนกลุ่มเดิมกลุ่มนี้ ก็กลับมาก่อเหตุสร้างความเดือดร้อนให้กับวัด โรงเรียนและสังคมส่วนรวมอีกครั้ง การกระทำลักษณะนี้ มันเป็นความผิดที่ตำรวจสามารถจัดการได้ แต่ตำรวจมีข้ออ้างกลัวเรื่องราวบานปลาย กรณีแบบนี้หากไม่ยึดข้อกฎหมาย ให้คนในสังคมอยู่ภายใต้กฎหมาย ปล่อยให้คนบางกลุ่มอยู่เหนือกฎหมายเช่นนี้ สังคมจะอยู่กันอย่างปกติสุขได้อย่างไร คนกลุ่มนี้ก่อเหตุขนาดปิดการเข้าออกวัดและโรงเรียน แต่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกลับไม่กล้าแตะต้อง มันเป็นการปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เขาจะอ้างว่า วัดทำโน้นทำนี่ที่พวกเขาไม่เห็นด้วยและใช้อำนาจเถื่อนทำในลักษณะนี้ได้อย่างไร หากอาตมาหรือพระทำผิดวินัยสงฆ์ ก็เป็นเรื่องที่คณะสงฆ์มีกระบวนการในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่มามีพฤติกรรมกระทำกันถึงขนาดนี้ มันไม่ถูกต้อง
พระราชปริยัติเวที กล่าวอีกว่า อาตมาอยากให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม บ้านเมืองมีขื่อมีแป และขอให้ไปรื้อเอกสารหลักฐานที่มีการร่วมประชุมแก้ปัญหาในวันอังคารที่ 7 พ.ค. 64 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ศปก.สภ.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเอกสารหลักฐานชัดเจนมาก ซึ่งอาตมาใช้หลักเมตตาธรรมในการแก้ปัญหาจนยุติลงได้ แต่หากคนกลุ่มนี้คืนชีพ กลับมาก่อเหตุซ้ำเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา คดีเก่าก็ยังไม่หมดอายุความ คดีใหม่ก็เกิดขึ้นอีก ตำรวจจึงต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย และต่อมาพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนสั่งฟ้องถึงอัยการศาลจังหวัดทุ่งสง มีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดทุ่งสงเช่นกัน โดยในการไต่สวนจำเลยทั้ง 6 คน ให้รับสารภาพตามฟ้องโจทก์
ล่าสุดศาลพิพากษาลงโทษความผิด ฐานเหยียดหยามศาสนา จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท จำเลยทั้ง 6 รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญากำหนด 3 ปี คุมประพฤติ 3 ปี กำหนดเงื่อนไขห้ามเข้าไปกระทำการรบกวนโจทก์ รวมทั้งวัด โรงเรียน และชุมชนอีก
ที่มา : เดลินิวส์
Leave a Reply