มท. มุ่งมั่นเดินหน้าปลุกค่านิยมความรักชาติ สร้างผู้นำจิตอาสา หลอมรวมพลังความรู้รักสามัคคี สู่การ Change for Good 

วันนี้ (2 ก.พ. 67) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบวุฒิบัตรและกล่าวโอวาทให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการศึกษาอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 4 โดยได้รับเกียรติจากพลตรี ณัฐเดช จันทรางศุ รองแม่ทัพน้อย ที่ 1 เลขานุการศูนย์อำนวยการจิตอาสา ภาค 1 นายกองเอก ธารณา คชเสนี นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ ดร.ลักษิกา เจริญศรี ร่วมมอบวุฒิบัตร โอกาสนี้ นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี และผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจากจังหวัด 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และสมุทรสงคราม จำนวน 83 คน ร่วมรับฟัง

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จในการดำเนินโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น หลักสูตรครูผู้สอนประวัติศาสตร์ชาติไทย รุ่นที่ 4 โดยการจัดการฝึกอบรมได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ คือ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มีจิตอาสา จิตสาธารณะ มีค่านิยมของการเป็นผู้มีจิตสำนึกรัก หวงแหน มีความจงรักภักดี พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงเป็นโอกาสอันดีที่เราได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมอบรมฯ ทุกท่าน และหวังว่าท่านจะนำความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการทรงงานและการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปปรับใช้ให้เป็นวิถีในการดำเนินชีวิต เสียสละ เอื้อเฟื้อแบ่งปันแก่ผู้อื่น เป็นพลังสำคัญในการจัดการกับปัญหาของชุมชน ตลอดจนนำประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ไปต่อยอด ขยายผล เพื่อการพัฒนาตามบริบทของพื้นที่ในจังหวัด และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

“ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมโครงการศึกษาอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น นอกจากความรู้ที่ได้รับจากการเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว ประโยชน์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มิตรภาพระหว่างเพื่อน ที่จะช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนการทำงานและชีวิตของท่านตลอดไป จึงขอขอบคุณคณะครูผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ที่มีส่วนสนับสนุนให้การฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และสำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกประการ และขอให้ท่านมีกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา เพื่อที่จะร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป” รองปลัด มท. กล่าว

นางศิโรรัตน์ ชินอักษร ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หลักสูตรครูผู้สอนประวัติศาสตร์ชาติไทย รุ่นที่ 4 โดยมีการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 85 คน ผู้มีอายุสูงสุด คือ 71 ปี และอายุน้อยที่สุด คือ 24 ปี โดยมีผู้ผ่านการอบรมในครั้งนี้ จำนวน 83 คน โดยเป็นการบรรยายให้ความรู้ทางวิชาการจากคณะครูผู้ทรงคุณวุฒิ โดยได้ใช้วิธีการบรรยายผ่านรูปแบบสร้อยสังวาลย์แห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเป็นมาของชนชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทย และพระราชประวัติของบูรพมหากษัตริย์ไทย รวมถึงความเสียสละของแต่ละพระองค์ที่มีต่อประเทศชาติตั้งแต่กรุงสุโขทัยมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี ร้อยเรียงมาจนถึงพระราชประวัติ พระบุญญาธิการ พระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

“การอบรมในครั้งนี้ยังมีหัวข้อพิเศษ คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 และการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวผ่านพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง และวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยหลังจากที่ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ในเนื้อหาประวัติศาสตร์ชาติไทยจากครูผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีการฝึกทักษะในหัวข้อของแต่ละอัญมณี โดยมีผู้ช่วยครูสอบวัดมาตรฐานเป็นผู้ประเมินผลการเรียน การถ่ายทอด การสื่อสาร ผ่านการนำเสนอของผู้เข้ารับการอบรม เพื่อไปเป็นครู ก เล่าและร้อยเรียงประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อผ่านการทดสอบตามมาตรฐานแล้ว จึงได้มีการมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม” นางศิโรรัตน์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางธนวรรณ เชษฐ์สุวรรณ ข้าราชการครูบำนาญ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 4 กล่าวว่า รู้สึกประทับใจวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้ประสบพบเจอโดยตรงด้วยตัวเองของท่านวิทยากร สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและให้ความรู้กับผู้เข้ารับการอบรมได้อย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยทราบจากในตำราต่าง ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งความรู้เหล่านี้ตนคิดว่าควรเข้าไปอยู่ในเนื้อหาตำราเรียน ที่จะทำให้คนไทยได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสถาบันสำคัญของชาติ ทำให้เราได้ตระหนักในคุณงามความดีของบรรพบุรุษ ได้สำนึกพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทุกพระองค์ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาดินแดนแผ่นดินไทย ให้ลูกหลานของเราได้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากทุกคนได้ศึกษาเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ชาติไทย จะก่อให้เกิดความรักชาติ รู้รักสามัคคีของคนในสังคม นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ในด้านภาษา บทกลอน จากคุณครูภาษาไทยแห่งชาติ สามารถสรุปเนื้อหาให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เข้าใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเนื้อหาต่าง ๆ ที่นำมาถ่ายทอดให้เราได้รับฟังนั้น คือ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา แต่เป็นประวัติศาสตร์จริงที่เกิดขึ้น ทำให้เราเกิดความเข้าใจ ก่อให้เกิดความรักชาติ หวงแหน และปกป้องสถาบันหลักของขาติให้อยู่คู่กับประเทศไทย

Leave a Reply