“ปลัดมท.”รับรางวัล”สำเภา – นาวาทอง”ปี65 ปลื้มหลังทุ่มเทขับเคลื่อนแก้จนตามแนวพอเพียง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้ารับรางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ “สำเภา – นาวาทอง” ประจำปี 2565 ของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมเดินหน้ามุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน

วันที่ 14 ธันวาคม 2565 เวลา 11:00 น. ที่หอประชุม ชั้น 7 อาคาร 23 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้ารับโล่รางวัล “สำเภา – นาวาทอง” ประจำปี 2565 ประเภทหน่วยงานระดับกระทรวง จากศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการสนับสนุนการลงทุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ระดับกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการหอการค้าไทย คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภาคธุรกิจ และภาคสื่อสารมวลชน ร่วมในงาน โดยส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัลประเภทหน่วยงานระดับกรม 2 หน่วยงาน คือ กรมที่ดิน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปลดล็อค กฎหมาย กฎระเบียบ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศได้อย่างไร ?” โดยมีใจความสำคัญโดยสรุปว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการเดินหน้าปฏิรูปปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นพระราชบัญญัติจนลงมาถึงพระราชกฤษฎีการวมไปถึงกฎกระทรวง ระเบียบ คำสั่ง ประกาศต่าง ๆ โดยมุ่งปฏิรูป (Reform) และเสริมสร้างทัศนคติ การรับรู้ และความเข้าใจของผู้บริหารภาครัฐทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ รวมถึงข้าราชการระดับผู้ปฏิบัติงาน ให้เห็นความสำคัญของการปฏิรูประเบียบ ข้อปฏิบัติเพื่อเป็นเครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) ยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นฟุ่มเฟือย 2) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้ทันสมัย 3) เพิ่มเติมกฎระเบียบที่เข้ากับบริบทของสังคมสมัยใหม่ เพื่อหนุนเสริมศักยภาพการแข่งขัน (Competition) ของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งในด้านการหนุนเสริมการแข่งขันจำเป็นต้องจัดสภาพบรรยากาศต่าง ๆ ให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน ภาษี และการบริหารจัดการอื่น ๆ ซึ่งต้องอาศัยกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดโดยกลไกของรัฐทั้งสิ้น โดยในขณะนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนงานภาครัฐไปแล้วกว่า 1,000 กระบวนงาน และนำเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีหัวใจสำคัญ คือ การติดต่อกับส่วนราชการเพื่อขึ้นทะเบียน จดทะเบียน ลงทะเบียน การขออนุญาต ขออนุมัติ หรือมีกิจการงานที่ต้องติดต่อกับกระทรวง ทบวง กรม จังหวัด อำเภอ เขต เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา ประชาชนสามารถไปติดต่อด้วยตนเอง หรือ “ไม่ไปติดต่อด้วยตัวเอง” โดยใช้วิธีการติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยไม่ต้องไปแสดงตนด้วยตนเอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายได้บัญญัติ เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่าย และลดปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ ทุกอย่างสามารถทำผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการออกกฎหมายฉบับรองเพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับดังกล่าวภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศใช้ โดยมีข้อยกเว้น 5 ประการที่ยังจำเป็นต้องเดินทางไปด้วยตนเอง คือ 1) การจดทะเบียนสมรส 2) การจดทะเบียนหย่า 3) การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม 4) การทำบัตรประจำตัวประชาชน และ 5) การทำหนังสือเดินทาง รวมไปถึงได้มีการประกาศใช้ กฎหมายพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ ศาล จะต้องประกาศกำหนดระยะเวลาว่าถ้าประชาชนมาติดต่อกับหน่วยงานท่านในเรื่องนี้จะใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องบอกให้ได้ว่าภายในเวลาที่กำหนด ทำอะไรไปถึงไหน ใช้เวลาอีกเท่าไหร่ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น “รัฐต้องจัดให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงกฎหมายได้โดยสะดวก”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเราชาวมหาดไทย ในการทุ่มเทขับเคลื่อนการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “ประชาชนมีรากฐานการดำรงชีวิตและพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและสมดุลตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยกลไกของกระทรวงมหาดไทยที่ครอบคลุมทุกระดับทั่วประเทศ ทั้งระดับจังหวัดโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ระดับอำเภอโดยท่านนายอำเภอ ผู้นำท้องที่ คือ ท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งนายกเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในกำกับของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาภูมิภาค พัฒนาเมือง ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน การบูรณาการการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การยกระดับคุณภาพการให้บริการประชาชน การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงานขององค์กร การสร้างความโปร่งใสในการบริหารงาน และเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ผ่านกลไก “คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ. ซึ่งได้กำชับให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้เข้าประชุมร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านกลไกบริษัทประชารัฐรักสามัคคี และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่ในการจัดทำแผนงาน/โครงการของจังหวัด กลุ่มจังหวัด ผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) และคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (กบก.)

“นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนด้านการอำนวยความสะดวกประชาชนให้มีความชัดเจนเป็นไปตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อลดภาระของพี่น้องประชาชน ทั้งด้านระยะเวลาการรับบริการ และภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อติดต่อราชการ โดยถ่ายทอดวิธีปฏิบัติและซักซ้อมแนวทางขั้นตอนไปยังผู้ปฏิบัติเป็นประจำต่อเนื่อง ทั้งการประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล และการซักซ้อมผ่านคณะทำงานชุดต่าง ๆ ทั้งระดับกระทรวง ระดับกรม ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ด้วยการประสานการปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนครอบคลุมทั้ง 3 ระดับ 5 กลไกและ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ การมีส่วนร่วมใน 3 ระดับ คือ ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่/ชุมชน โดยมีกลไกเชื่อมประสาน 5 กลไกคือ 1) การประสานงานภาคีเครือข่าย 2) การบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ 3) การติดตามและประเมินผล 4) การจัดการองค์ความรู้ และ 5) การสื่อสารต่อสังคม ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน โดยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านการขับเคลื่อนอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วยการสร้าง “ทีมจังหวัด” “ทีมอำเภอ” “ทีมตำบล” และ “ทีมหมู่บ้าน” ด้วยการรวมพลังของภาคีเครือข่ายที่มีจิตอาสาในพื้นที่ มุ่งขับเคลื่อนเสริมสร้างการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดมรรคเกิดผล ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้สังคมไทยหลุดพ้นจากกับดักด้านการบริหารจัดการพื้นที่ในอดีต ที่เรามักจะยึดติดกับข้าราชการที่ไปบริหารพื้นที่ เช่น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หรือท่านนายอำเภอ ที่เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นเกษียณอายุราชการ หรือย้ายไปดำรงตำแหน่งพื้นที่อื่น ก็ทำให้นโยบายดี ๆ ต้องหายไป โดย “ทีมงาน” เหล่านี้ จะเป็นพลังสำคัญในการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและเกิดการเสริมสร้างพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสนั่น อังอุบลกุล กล่าวว่า ในนามของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายหอการค้าทั่วประเทศ ขอแสดงความยินดีกับ 34 หน่วยงานภาครัฐที่ได้รับ “รางวัลสำเภา-นาวาทอง” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งในการปลดล็อคที่ได้ทำกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการลดภาระค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านมา เราได้ประสบความสำเร็จ คือ หอการค้าไทยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานภาครัฐ ผลักดันแก้กฎหมายกฎระเบียบต่าง ๆ จนปลดล็อคไปแล้ว จำนวนหลายกระบวนงาน ซึ่งจะสามารถเพิ่มโอกาสในการที่จะดึงดูดชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย อันเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยในอนาคตหากเราสามารถปลดล็อคกระบวนงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มขึ้น ในปีต่อ ๆ ไป แม้ว่าเศรษฐกิจของโลกจะชะลอตัวลงแต่ประเทศไทยเราก็จะมีศักยภาพในการส่งออกที่เติบโตได้

นายสุรงค์ บูลกุล กล่าวว่า ที่ผ่านมา อุปสรรคและกฎระเบียบของภาครัฐที่เกี่ยวข้องในกระบวนงานสนับสนุนการทำงานของภาคธุรกิจเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการขอใบอนุญาต ใบรับรองต่าง ๆ มีขั้นตอนที่มาก ใช้ระยะเวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูง และเป็นภาระกับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป การแก้ไขกฎระเบียบและอุปสรรคให้ผ่อนคลายมากขึ้น การปลดล็อคข้อจำกัดการบริหารในระดับพื้นที่ จึงเป็นภารกิจที่รัฐต้องเร่งแก้ไขเพื่อความสามารถในการเข้าถึงบริการอย่างง่ายขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปประเทศ ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ภาครัฐจึงได้มีการแก้ไขและปรับปรุงบริการอย่างต่อเนื่องและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเสนอความคิดเห็นในการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัย ภาคธุรกิจและประชาชนจึงเกิดความพึงพอใจในการให้บริการที่สูงขึ้น ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่งผลให้เกิดการยกระดับศักยภาพของประเทศไทย อันสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของหน่วยงานภาครัฐในการสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนและดำเนินธุรกิจอย่างดี นับเป็นนิมิตรหมายอย่างดียิ่งที่ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการของประเทศไทย

“จากความก้าวหน้าและความตระหนักถึงความมุ่งมั่นการทำงานของภาครัฐ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงได้มอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานภาครัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ คือ “รางวัลสำเภา-นาวาทอง” อันหมายความว่า สำเภา คือ เรือค้าจีน นาวา คือ น้ำทะเลที่สนับสนุนการค้า เปรียบเสมือนหอการค้าที่มีหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ โดยใช้เกณฑ์การประเมินจากภาคธุรกิจและการลงพื้นที่สัมภาษณ์ข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ด้วยความร่วมมือจากภาคธุรกิจทั่วประเทศในฐานะผู้ร่วมดำเนินการและเสนอชื่อภาครัฐตามเกณฑ์กำหนด โดยแบ่งเป็น 1) หน่วยงานระดับกระทรวง 7 หน่วยงาน 2) หน่วยงานระดับกรม 19 หน่วยงาน และ 3) รางวัลหน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนงานดำเนินงาน 8 หน่วยงาน” นายสุรงค์ฯ กล่าว

Leave a Reply