วันที่ 23 ธันวาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นางภราไดย สุวรรณรัฐ ประธานชมรมรวมพลังรักแผ่นดิน อัญเชิญผ้าไตรถวายแด่ พระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาสามเณรและอุบาสิกาแก้ว 500 รูป/คน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ณ เมืองตังงือรัง ประเทศอินโดนีเซีย
โครงการบรรพชาสามเณร ”Pabbajja Sammanera Sementara“ นี้ ได้สะท้อนถึงพลังแห่งความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ มีกรมการศาสนาพุทธอินโดนีเซีย และภาคเอกชน ได้แก่ โรงเรียนบูดี้ (SMA Perguruan Buddhi) มหาวิทยาลัยบูดี้ (Universitas Buddhi Dharma) สมาคมบุนเต็กเปียว (Boen Tek Bio Tangerang Religious and Social Association) สมาคมพุทธมหานิกายอินโดนีเซีย (MBMI) และสหภาพพระธรรมทูตไทยในอินโดนีเซีย-แอฟริกา เป็นผู้ร่วมจัดโครงการ
พระครูภาวนาสรกิจ เจ้าอาวาสวัดพุทธชวากลาง ผู้อำนวยการฝ่ายจัดโครงการ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 245 ปี ที่ชาวอินโดนีเซียได้รับผ้าไตรพระราชทาน เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเมตตาแผ่พระบารมีไพศาล มายังชาวพุทธในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ชาวพุทธในเมืองตังงือรัง ซาบซึ้งและปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งการจัดโครงการครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำศาสนาและชุมชนชาวพุทธจากฝ่ายประเทศไทย โดยการนำของพระพรหมสิทธิ และ พระเทพปฏิภาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ข้าราชการ นักธุรกิจ ฝ่ายอินโดนีเซียประกอบด้วย ดร.สุปรียาดี อธิบดีกรมการศาสนาพุทธ (Dirjen Bimas Buddha : Bpk. Drs. Supriyadi), ดร.นูร์ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตน (Pj Wali Kota Tangerang : Bpk. Nurdin) และฝ่ายประเทศญี่ปุ่น มีท่านโคะเอ็ตสึ ชิโมะยะมะ (Ven. Koetsu Shimoyama) เจ้าอาวาสวัดไดชูจิ (Daichuji) จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วม ภายหลังเสร็จพิธี ท่านโคะเอ็ตสึ ได้กล่าวขอบคุณกับพระพรหมสิทธิ ที่ชวนให้มาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสำคัญอันยิ่งใหญ่ด้วยเสียงสั่นเครือ และชื่นชมบทบาทของคณะสงฆ์ไทยที่เป็นผู้นำสร้างกิจกรรมที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ โดยตนเองตั้งใจมาศึกษารูปแบบแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมอนุโมทนาในครั้งนี้ด้วย
โครงการบรรพชาสามเณรและอุบาสิกาแก้ว 500 รูป/คน ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมทางศาสนา แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ที่ร่วมมือกันส่งเสริมพระพุทธศาสนาในระดับโลก การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายสะท้อนถึงศักยภาพของการใช้ศาสนาเป็นสะพานแห่งความเข้าใจ และการเชื่อมโยงวัฒนธรรมเพื่อสร้างสันติสุขร่วมกัน เป็นการตอกย้ำบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกที่พร้อมขยายความร่วมมือและความเข้าใจในระดับสากลอย่างยั่งยืน
Leave a Reply