‘IBSCมจร’พร้อมโอบอุ้มนิสิตใหม่ สู่การค้นพบตัวเองและออกไปรับใช้ชาวโลก

วันที่ 18 ส.ค.2562 วิทยาลัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “New semester New Hope” ในโอกาสเปิดเทอมใหม่ภาคการศึกษา 1/2562 ของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ที่ อาคารพระพรหมบัณฑิตาคาร IBSC พร้อมทั้งให้โอวาทต่อการศึกษาเล่าเรียน

พระราชปริยัติกวี กล่าวว่า มจร ได้ออกแบบและสร้าง IBSC ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งรองรับการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ เพื่อเปิดพื้นที่พุทธภูมิศึกษาศาสตร์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับวัตถุนิยม และบริโภคนิยม

“ในอดีตนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาระดับปริญญาโท และเอก ในระดับนานาชาติ จะกระจุดตัวอยู่ที่อินเดียเป็นด้านหลัก จะเห็นว่าผู้บริหารส่วนใหญ่ของ มจร จะจบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอินเดีย” อธิการบดี มจร กล่าวและว่า

มจร ได้พัฒนา IBSC ขึ้นมา เพื่อออกแบบการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาให้สมสมัย และทันต่อความต้องการของโลก ที่กำลังเปลี่ยนไป จุดเด่น คือ อาจารย์ และผู้บริหารมีความหลาก และเอื้อต่อการพัฒนา Mindset ของนิสิตจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ขอให้ความมั่นใจกับนิสิตใหม่กว่า 110 รูป/คน ที่ตัดสินใจมาเรียนที่ IBSC ว่า สถานศึกษาแห่งนี้ จะสามารถให้แรงบันดาล ความรู้ และวิถีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อเข้าถึงความสุขภายใน และกลับออกไปรับใช้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในสังคมโลกต่อไป

ต่อมาเวลา 13.00 น. พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ประธานสภาสากลวิสาขโลกและสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นประธานในการเปิดห้อง IMind: Intelligent Mind ห้องเรียนออนไลน์ ของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC) มจร และปาฐกถาพิเศษ เรื่องพระพุทธศาสนากับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามแนวความคิดในการเปิดห้องเรียนออนไลน์ภายใน มจร ผู้ที่มีแนวความคิดและผลักดันให้เกิดขึ้นคนแรกๆ คือ ศ.ดร.สมภาร พรมทา ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา มจร โดยได้เปิดเผยความคิดผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2561 ที่ผ่านมาความว่า “เนื่องจากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษบางแห่งได้เปิดสอนปริญญาโททางพุทธศาสนาออนไลน์มาหลายปีแล้ว จึงเกิดความคิดว่า มจร น่าจะทำได้ สมมติเปิดปริญญาโทสาขาปรัชญาออนไลน์ เรียนเป็นสำรับ 8 วิชา รวม 24 หน่วยกิต เรียนสองปี เทอมละสองวิชา จบแล้วก็เขียนวิทยานิพนธ์อีกหนึ่งปี จำนวน 12 หน่วยกิต สามปีก็จบ วิชาที่เรียนมีดังนี้ 1. อภิปรัชญา 2. ญาณวิทยา 3. จริยศาสตร์ 4. พุทธปรัชญา 5. ปรัชญาการเมืองและสังคม 6. นิติปรัชญา 7. ปรัชญาวิทยาศาสตร์ 8. ปรัชญาศาสนา

“เพื่อแยกหลักสูตรนี้ออกจากหลักสูตรปกติ คนสอนจะคือผม สอนทุกวิชา เทอมละสองวิชา สอนผ่านสื่อคือหนังสือและเทปเสียง คนสอนกับคนเรียนพบกันออนไลน์ มอบงานและซักถามกันทางนั้น การเรียนเน้นให้ผู้เรียนคุ้นเคยการอ่านงานต้นฉบับในภาษาอังกฤษ รับสักรุ่นละ 5 คน (ปีละรุ่น) หากมีคนสมัครเกิน จะมีการสอบ ผมสอบเอง” ศ.ดร.สมภาร ระบุและว่า

นี้เป็นเพียงความคิด จึงฝากให้ผู้บริหาร มจร คิดต่อด้วยว่ามีทางเป็นไปได้หรือไม่ รุ่นแรกๆ ตนอยากปั้นเอง ต่อไปคนเหล่านี้จะมาเป็นกำลังของ มจร และที่อื่น ได้คนมาแทนแล้วผมจะค่อยๆถอยออกไปดู ปริญญาเอกจะสร้างไม่ยากหากปั้นปริญญาโทมาดี”

ส่งผลให้ปัจจุบันนี้ทาง มจร มีการเปิดการเรียนการสอนออนไลน์เท่าทันโลกดิจิทัลโดยเริ่มไปก่อนหน้านี้ อย่างเช่นพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร บรรยายพิเศษ “วิชา ปรัชญาเบื้องต้น (Introduction to Philosophy)” ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2562 เป็นต้น

Leave a Reply